ชี้ทิศทางประเทศไทย : ทำไมเราต้องจับตามองอินโดนีเซียให้ดี
เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ผมได้เขียนถึงโอกาสในอดีตที่ประเทศไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ และผมได้มีการกล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่เรียกได้ว่าแซงหน้าเราไปเรียบร้อยแล้ว มาครั้งนี้เลยอยากลงรายละเอียดกับประเทศนี้อีกสักครั้งเพราะรู้สึกว่าในช่วงเวลาที่รัฐบาลของนายวิโดโด บริหารประเทศนั้นๆ มีหลายๆ อย่างที่น่าสนใจศึกษาทีเดียว โดยในครั้งนี้ผมจะยกกรณีศึกษาของการที่เขาใช้ “จุดแข็ง” ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกัน ก็มอง “จุดอ่อน” เป็นความท้าทายที่ก้าวข้ามได้ดี
ต้องเรียกได้ว่าเป็นการซุ่มเงียบของอินโดฯ โดยนักวิเคราะห์ต่างชาติบางคนแซะว่าคงเป็นเพราะ “ไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคมของอินโดฯในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” เลยอยู่นอกสายตานักลงทุนและมหาอำนาจมาตลอดช่วงการปกครองของนายวิโดโดตั้งแต่ปี 2014 แต่กลายเป็นว่า 2-3 ปีนี้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์สู่รถไฟฟ้าและตลาดที่เติบโตอย่างมากของบรรดา
แอพพ์ต่างๆ ที่เข้าถึงผู้ใช้หลักร้อยล้านคนภายในประเทศ
เรามาพูดถึงการใช้ “จุดแข็ง” ของเขาอย่างชาญฉลาดกันก่อน เรื่องการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์ไปสู่รถไฟฟ้าส่งให้อินโดนีเซียได้เปรียบหลายๆ ประเทศในการดึงดูดเงินลงทุนและการก้าวไปสู่การเป็นชาติที่ทรงพลังทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะอินโดฯมีแหล่งแร่นิกเกิลที่ใช้ทำแบตเตอรี่มากเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลเขากลับไม่ได้คิดจะเป็นเหมือนประเทศในตะวันออกกลางที่ยินดีส่งออกน้ำมันดิบไปแปรรูปที่อื่น แต่กลับห้ามส่งออกแร่ทุกชนิด รวมทั้งนิกเกิล และสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศเขาเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ นอกเหนือจากแร่นิกเกิลแล้ว แร่อีกตัวที่อินโดฯ มีเยอะคือ Bauxite ที่นำมาผลิตอะลูมิเนียม ซึ่งก็ใช้หลักการเดียวกันคือให้ต่างชาติมาลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปที่นี่ ซึ่งกลายเป็นว่าทั้งโรงงานจีนก็เข้ามา โรงงานเกาหลีอย่าง LG และฮุนไดก็ตัดสินใจเข้ามาสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่นี่
เมื่อภาพของการเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่เริ่มชัด นายวิโดโดถึงกล้าที่จะชวน Tesla มาลงทุน นอกจากนี้แล้วเมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม นอกจากจะมีการลงทุนจากต่างชาติแล้ว ยังเกิดการร่วมทุนระหว่าง Gojek สตาร์ตอัพรายใหญ่ของเขากับบริษัทไต้หวันตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอีกด้วย ก็ถือเป็นการปักหมุดว่าผู้ประกอบการของอินโดฯเองก็แทรกตัวเข้าไปอยู่ในธุรกิจรถไฟฟ้าได้ เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆ
ในด้านจุดอ่อนของเขา จริงอยู่ที่อินโดฯมีจำนวนประชากรกว่า 260 ล้านคน ถือว่าเยอะมาก แต่ประชากรเขากระจายตัวอยู่ตามเกาะต่างๆ กว่า 6,000 เกาะ ซึ่งถือว่าเป็นสภาพสังคมและภูมิศาสตร์ที่ท้าทายของธุรกิจและการค้าขายในเชิงโลจิสติกส์ แต่กลายเป็นว่านี่คือความท้าทายที่ช่วยเร่งให้เขาปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามวิถีของโลกดิจิทัล โดยเร่งให้เกิดระบบนิเวศทางด้านสตาร์ตอัพที่แข็งแกร่ง แนวทางที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือความพยายามของธุรกิจสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ผลิตสินค้าและผู้ซื้อที่เกิดจากพ่อค้าคนกลาง อันเกิดจากภูมิประเทศของเขาอันจะทำให้กำไรสูงขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าก็ไม่ถูกมาร์กอัพราคาสูงเกินไป
อีกทั้งยังได้การสนับสนุนจากภาครัฐ กรุงจาการ์ตากลายเป็นแหล่งบ่มเพราะธุรกิจใหม่ๆ ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ธุรกิจสตาร์ตอัพกลายเป็นที่สนใจของนักลงทุน บรรดากองทุนต่างๆ สามารถระดมทุนได้หลายหมื่นล้านเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจยุคใหม่ และเมื่อประกอบกับที่สัดส่วนของประชากรของประเทศนี้ที่กว่า 26% มีอายุต่ำกว่า 15 ปี (ซึ่งถือว่าเยอะมากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้) ทำให้การตอบรับโลกดิจิทัลและธุรกิจสตาร์ตอัพเป็นไปอย่างดี
อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ผมว่ารัฐบาลของนายวิโดโดทำได้ดีในการปรับกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศเขา ยกตัวอย่างเช่น การปรับลดธุรกิจและอุตสาหกรรม “ต้องห้าม” ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาประกอบการ จากเดิมที่มีถึง 391 ธุรกิจจะถูกลดลงเหลือไม่ถึงร้อย การปรับกระบวนการขอใบอนุญาตให้สั้นและเร็วขึ้นผ่านระบบการยื่นออนไลน์
ผมพูดเสมอกับคนในองค์กรผมว่า ถ้าเราอยากจะพัฒนาตัวเอง เราต้องมองคนที่เขาทำได้ดีกว่าเรา ต้องเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่า แต่อย่างแรกเลยเราต้องทำใจยอมรับให้ได้ เวลาเปรียบเทียบก็ไม่ต้องเปรียบกับบริษัทหรือองค์กรระดับโลกหรอกครับ ดูเอาใกล้ๆ ตัวที่เขาทำได้ดีก็พอ ก็ไม่แน่ใจว่าในระดับประเทศ เราเอาวิธีคิดแบบนี้มาใช้ได้ไหม บางทีการที่เราจะกลับไปเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย อาจจะต้องเริ่มจากการศึกษาประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ นี้ก่อนก็ได้ เพียงแค่ว่าเราเห็นและวิเคราะห์เห็นขาดใช่ไหมว่าเพื่อนบ้านเราเขาคิดลึกและแยบยลในเชิงกลยุทธ์แค่ไหน (ผู้เขียน เศรษฐา ทวีสิน)
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 ธันวาคม 2565