สัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป ยุคการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์
สหภาพยุโรป พยายามเชื่อมโยงความร่วมมืออาเซียน โดยใช้โครงการ "ประตูสู่โลก" (Global Gateway) ที่มีเม็ดเงินสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา 3.2 แสนล้านดอลลาร์ ท่ามกลางการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างชาติตะวันตกกับจีนที่เข้มข้น และชัดเจนยิ่งขึ้น
ปัจจุบันความร่วมมือสหภาพยุโรป - อาเซียน มุ่งเน้นความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคง ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งดูเหมือนเป็นประเด็นยอดนิยมที่พบในกลุ่มความร่วมมือพหุภาคีทั่วไป
หากแต่โครงการประตูสู่โลก ถูกมองว่า อียูพยายามเป็นพันธมิตรแหล่งเงินลงทุนที่เป็นทางเลือก ในการจัดหาข้อเสนอแข่งขันกับโครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก
ฉากหลังการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป - อาเซียน สมัยพิเศษที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อสัปดาห์ก่อน อียูหวังอยากให้อาเซียนร่วมประณามรัสเซียอย่างรุนแรง หลังรัฐบาลมอสโกสั่งปฏิบัติการทหารรุกรานยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 จนถึงตอนนี้ย่างเข้าเดือนที่สิบแล้ว
เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนทางการเมืองอย่างยิ่งกับสมาชิกอาเซียน เพราะมีความเห็นและท่าทีต่อสงครามยูเครนที่หลากหลายกันออกไป ขณะที่ปัจจุบันอาเซียนมีความสำคัญ ในฐานะตั้งอยู่ใจกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิก แบ่งเป็นขั้วจีนกับรัสเซีย ขั้วสหรัฐ และชาติตะวันตก
วิธีที่เข้าถึงความเห็นที่แตกต่างระหว่างสมาชิกอาเซียนต่อกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนนั้น แหล่งข่าวใกล้ชิดสหภาพยุโรปมองว่า ต้องพูดคุยกับอาเซียนมากขึ้นและใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ทุกๆ ประเทศต้องเคารพ “กฎหมายระหว่างประเทศ”
หลายประเทศในยุโรปต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นในหน้าหนาวปีนี้ หลังจากที่รัสเซียตอบโต้การคว่ำบาตรของอียู ด้วยการระงับการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับบางประเทศ ทำให้คนยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยง “ความมั่นคงทางพลังงาน”
ถึงอย่างไร สายสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปยังดำเนินต่อไป แม้จะมีท่าทีที่แตกต่างกันเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะการที่สหภาพยุโรปทำการค้ากับอาเซียนมากขึ้น ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่ออียูเอง
สหภาพยุโรปและอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ระหว่างกันและกันเป็นอันดับสาม รองจากจีนและสหรัฐ โดยมีมูลค่าการค้าสินค้าและบริการระหว่างกันมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2565
ปีนี้ ไม่เพียงแต่ครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตอาเซียน-สหภาพยุโรป แต่ยังเป็นปีแรกที่เปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งให้บทเรียนกับอียูและทั่วโลกว่า ต้องกระจายแหล่งผลิตและการลงทุนให้ความหลากหลาย เพราะมีผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกันสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็สอนให้ต้องมองหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ ไว้ เพราะถ้าความสัมพันธ์กับการค้า และการเมืองไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมเกิดปัญหาได้ทุกเมื่อ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 ธันวาคม 2565