สรุปเหตุการณ์สำคัญโลกไม่ลืมในปี 2565
ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้น เมื่อย้อนกลับไปมองกว่า 350 วันที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ทางการเมืองที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง
เมื่อมองย้อนกลับไปตลอดช่วง ปี 2565 นับว่ามี เหตุการณ์สำคัญ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะทางด้าน การเมืองระหว่างประเทศ ภาวะสงคราม ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งทางตรง-ทางอ้อม การผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน การเดินขบวนประท้วง และการปรับเปลี่ยนรัฐบาล
เรามาทบทวนกันว่า เหตุการณ์เปลี่ยนโลก และอีกหลาย เหตุการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือนในปี 2565 มีอะไรกันบ้าง
“ปูติน” ประกาศทัพรัสเซียบุกยูเครน จุดชนวนวิกฤตอาหาร-พลังงาน :
การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครน คือเหตุการณ์ร้ายแรงที่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกมาจนถึงขณะนี้ โดยกินเวลายาวนานมากว่า 300 วันแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัสเซียได้เริ่มเปิดฉากบุกโจมตียูเครน โดยระบุว่า นี่คือ “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ไม่ใช่ “สงคราม” โดยรัสเซียได้ส่งกองทัพภาคพื้นดินรุกคืบเข้าใกล้กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ทั้งยังระดมยิงขีปนาวุธและระเบิดในหลายพื้นที่ จนทำให้ประชาชนยูเครนบาดเจ็บและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกนับล้านคนอพยพหนีออกนอกประเทศทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ และการเดินเท้าข้ามชายแดน
รัสเซียอ้างเหตุการบุกยูเครน ก็เพื่อปกป้องความมั่นคงของตนเองเนื่องจากการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโต หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของยูเครน ทำให้กองกำลังของนาโตมีช่องทางขยับเข้าประชิดพรมแดนของรัสเซียได้มากขึ้น อีกทั้งรัสเซียยังอ้างปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนยูเครนเชื้อสายรัสเซียที่อาศัยอยู่ในเขตแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนด้วย
ทั้งนี้ ภาวะสงครามทำให้หลายพื้นที่ของยูเครนถูกระดมโจมตีอย่างหนัก และขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าขณะที่ฤดูหนาวย่างเข้ามาแล้ว
นานาประเทศตะวันตกและเอเชียต่างออกมาประณามการกระทำของรัสเซีย พร้อมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินทุนช่วยเหลือให้กับยูเครน และที่สำคัญคือมีการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมรอบด้านและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา โดยหวังที่จะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนักเพื่อบีบให้กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกไป หรืออย่างน้อยก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจา ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นไม่หยุด จนกระทบปากท้องและค่าครองชีพของประชาชนทุกหย่อมหญ้า อีกทั้งการรบยังทำให้ท่าเรือเพื่อการส่งออกสินค้าอาหารและธัญพืชรวมทั้งน้ำมันเพื่อการปรุงอาหารของยูเครนถูกปิดกั้น ดันให้เกิดวิกฤตด้านอาหารด้วย
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต อังกฤษผลัดแผ่นดิน :
วันที่ 8 ก.ย.2565 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตแล้ว ขณะทรงมีพระชนมายุ 96 พรรษา และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษ (อ่านเพิ่มเติม: กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่)
การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อให้เกิดการถกเถียงถึงอนาคตสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวคิดความเท่าเทียม และความหลากหลายกำลังเบ่งบาน ตลอดจนอุปสรรคและบททดสอบเบื้องหน้าต่าง ๆ ที่พระองค์จะต้องทรงเตรียมตัวรับมือนับจากนี้ไป
เหตุการณ์ดังกล่าวยังก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องการเป็น "สาธารณรัฐ" มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชาชน 15 ราชอาณาจักรเครือจักรภพที่ยังคงนับถือกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขรัฐ หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับแผนการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบสาธารณรัฐ
การถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสาธารณรัฐเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งบนเกาะอังกฤษเอง หลายฝ่ายถึงขนาดมองว่า แม้ชาวอังกฤษจะรักสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่การที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งทรงได้รับความนิยมน้อยกว่าได้ขึ้นครองราชย์นั้น อาจบ่งชี้ว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกำลังใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว
การเมืองอังกฤษ มีนายกรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียคนแรกในประวัติศาสตร์
การเมืองอังกฤษสู้ชีวิต แต่ชีวิตก็สู้กลับ เพราะนอกจากจะต้องสูญเสียพระราชินีผู้เป็นที่รักแล้ว ปัญหาการเมืองก็ปั่นป่วนจนมีนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนภายในปีเดียว
ย้อนกลับไปในเดือนก.ค. 2565 มรสุมการเมืองของอังกฤษก่อเค้าเมื่อนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศลาออกหลังเผชิญมรสุมข่าวฉาว ต่อมาภายในพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ได้เลือกนางลิซ ทรัสส์ มาดำรงตำแหน่งต่อและเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทว่าดำรงตำแหน่งได้ 40 กว่าวัน นางทรัสส์ก็ต้องลาออกอีก จนมาได้นายริชี ซูแน็ค อดีตรัฐมนตรีคลัง ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ
ทั้งนี้ ในช่วงที่นางลิซ ทรัสส์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะสั้นๆนั้น เธอได้ประกาศแผนปรับลดภาษีครั้งใหญ่ ทว่าสถานการณ์กลับย่ำแย่ลงหลังจากนั้น เพราะนโยบายดังกล่าวทำให้ตลาดปั่นป่วน และแม้จะพยายามแก้ไขสถานการณ์แล้ว แต่เธอก็ต้องยอมแพ้และลาออกจากตำแหน่งไป โดยนายริชี ซูแน็ค อดีตรัฐมนตรีคลังได้ใช้โอกาสนี้ประกาศลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แข่งขันกับนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเพนนี มอร์ดอนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ แต่นายจอห์นสันและนางมอร์ดอนท์ประกาศถอนตัวจากการชิงตำแหน่งในวินาทีสุดท้าย ส่งผลให้ประตูสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเปิดต้อนรับนายซูแน็คอย่างเหลือเชื่อ
"สี จิ้นผิง"ผงาดครองอำนาจต่อเป็นสมัยที่สาม :
หลังเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16-22 ต.ค.2565 ถัดมา 1 วัน (อาทิตย์ที่ 23 ต.ค.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนวัย 69 ปี ก็เปิดตัวคณะกรรมการกลางประจำกรมการเมือง หรือ Politburo Standing Committee ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่ต่อสาธารณชน พร้อมรับการมอบตำแหน่งประธานาธิบดีจีนและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ
นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองจีน ในฐานะเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดต่อจากท่านผู้นำเหมา เจ๋อตุง
ในวันรับตำแหน่ง ปธน.สี จิ้นผิง ได้กล่าวขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์ที่ให้ความไว้วางใจต่อเขา พร้อมสัญญาว่าจะทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนจีน และเขาจะผลักดันการสร้างให้จีนเป็นสังคมนิยมสมัยใหม่ และเป็นมหาอำนาจของโลกในหลากหลายด้าน รวมทั้งด้านนวัตกรรม-เทคโนโลยี และด้านกลาโหม
นอกจากนี้ ในเดือนพ.ย. 2565 เขายังได้เดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ที่กรุงเทพฯ มีการสานสัมพันธ์ทวิภาคีกันหลากหลายด้าน (อ่านเพิ่มเติม: ทวิภาคีไทย-จีน : ย้ำความสัมพันธ์ "สี จิ้นผิง" เล็งเชื่อมยุทธศาสตร์ร่วมกัน)
"แนนซี เพโลซี" เยือนไต้หวัน จุดชนวนจีนซ้อมรบล้อมเกาะไต้หวันนานนับเดือน :
วันที่ 2 ส.ค. 2565 นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญทางการเมืองของสหรัฐมากเป็นอันดันสามรองจากประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ได้นำคณะ เดินทางเยือนไต้หวัน ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐ-ไต้หวัน ทวีความร้อนแรงระดับปรอทแทบแตก เพราะถ้าหากเป็นนักการเมืองประเทศอื่นเดินทางเยือนไต้หวันก็คงฟังดูเป็นเรื่องการทูตธรรมดา แต่เมื่อเป็นการเดินทางของบุคคลที่ทรงอิทธิพลมาก ๆ จากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ เพื่อเยือนดินแดนที่มหาอำนาจอันดับสองของโลกอย่างจีนเตือนไว้หลายครั้งหลายคราวแล้วว่าห้ามมาเด็ดขาด ความเคลื่อนไหวนี้จึงถูกเพ่งเล็งแบบเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่า นี่คือการกระตุกหนวดพญามังกรจีนอย่างแน่แท้
การเยือนไต้หวันของนางเปโลซี สร้างความเดือดดาลให้กับจีน ซึ่งมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน การเยือนไต้หวันโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของจีน ถือว่าเป็นการละเมิดนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบที่จีนยึดมั่นตลอดมา งานนี้ทำให้จีนประกาศมาตรการตอบโต้ และจีนก็ทำจริงด้วยการซ้อมรบอาวุธจริงปิดล้อมไต้หวันทั้งทางน่านฟ้าและน่านน้ำเป็นเวลานานนับเดือน อีกทั้งในแง่จิตวิทยา ทริปนี้กลายเป็นที่จับตาจากคนทั่วโลกเพราะหวั่นซ้ำรอยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้
คลื่นมหาประชาชนลุกฮือยึดทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา :
เศรษฐกิจติดลบถึงขั้นวิกฤติ ทำให้ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ เงินคงคลังไม่เหลือซื้อสินค้านำเข้าที่จำเป็นรวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง และยารักษาโรค เกิดภาวะขาดแคลนทุกหย่อมหญ้า บานปลายเป็นปัญหาการเมืองที่ถึงจุดระเบิดกลายเป็นการประท้วงใหญ่ที่เลยเถิดไปถึงขั้นเกิดการบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีและเผาบ้านพักนายกรัฐมนตรี
เศรษฐกิจศรีลังกาอยู่ในขั้นวิกฤติมาตั้งแต่ปี 2564 แต่สถานการณ์ได้รุนแรงขึ้นในปีนี้เมื่อประชาชนเริ่มประท้วงเมื่อเดือนเม.ย. เพื่อเรียกร้องให้นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมองว่าเขาบริหารประเทศผิดพลาดจนทำให้วิกฤติรุนแรงเช่นนี้ ต่อมาในเดือนก.ค. ผู้ประท้วงได้บุกบ้านของประธานาธิบดี จนทำให้เขาต้องหนีออกนอกประเทศและประกาศลาออกในที่สุด
แม้เมื่อมีการสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่ โดยนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ได้รับการลงคะแนนในรัฐสภาให้ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทนนายราชปักษะ แต่ก็ไม่อาจสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนที่ต่างหมดหวังกับบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาล โดยหลายคนมองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มการเมืองเดียวกัน และกำลังเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรง ขณะที่เศรษฐกิจศรีลังกาได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างจีน รวมทั้งเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ก็ต้องแลกมาด้วยแผนปฏิรูปเศรษฐกิจที่ศรีลังกาต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาถูกถอดเป็นบทเรียนในหลากหลายมิติ เพื่อให้นานาประเทศรวมทั้งไทย ได้ศึกษาและหลีกเลี่ยงที่จะต้องเดินตามรอย
G20 และ APEC เวทีใหญ่รวมผู้นำโลกที่เกิดขึ้นในอาเซียน
เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ได้รับบทเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญ 2 รายการในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ
* การประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. และ
* การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือ เอเปค (APEC) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. โดยการประชุมระดับผู้นำเอเปคจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. ถือเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
หลายฝ่ายคาดหวังให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ได้ใช้เวทีเหล่านี้ในการพบปะพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การประชุมเหล่านี้ซึ่งเดิมทีจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นเวทีการเมืองของประเทศมหาอำนาจไปโดยปริยาย ทั้งนี้ ทั่วโลกต่างจับตาการพบกันระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อเดือนม.ค. 2564 หลังจากที่ทั้งคู่เคยพูดคุยผ่านวิดีโอและโทรศัพท์มาแล้ว 5 ครั้ง โดยผู้นำทั้งสองได้พบกันหนึ่งวันก่อนที่การประชุม G20 จะเปิดฉากขึ้นในระหว่างการประชุมนาน 3 ชั่วโมง ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
จากนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม G20 ที่บาหลี ปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ก็ได้เดินทางมาร่วมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทย ส่วนปธน.ไบเดนมอบหมายให้นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มาร่วมการประชุมแทน ขณะที่ปธน.ปูตินไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปคเช่นกัน โดยมอบหมายให้นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เข้าร่วมการประชุมแทน
ด้วยเหตุนี้ แสงสปอตไลต์จึงสาดส่องมาที่ปธน.สี จิ้นผิง อย่างเต็มที่ (อ่านเพิ่มเติม : สี จิ้นผิง : คำต่อคำ "สุนทรพจน์" ที่ไม่ได้กล่าวบนเวที APEC CEO Summit ) นักวิเคราะห์มองว่าผู้นำสหรัฐคิดผิดที่ปล่อยให้จุดสนใจไปอยู่ที่ผู้นำจีนเพียงคนเดียว แถมยังทำให้เกิดความรู้สึกว่าสหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่ากับจีน เพราะปธน.ไบเดนเลือกที่จะบินกลับไปร่วมงานแต่งงานของหลานสาวที่ทำเนียบขาวแทนที่จะเข้าร่วมการประชุมเอเปค แม้ว่าเขาจะเข้าร่วมการประชุม G20 ที่บาหลีแล้วก็ตาม แต่นักวิเคราะห์มองว่า การประชุมเอเปคมีความเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มากกว่า และการที่สหรัฐซึ่งเป็นประเทศห่างไกลทำตัวห่างเหินแบบนี้ ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้จีนที่อยู่ใกล้กว่าขยายอิทธิพลในภูมิภาคได้ง่ายขึ้น
เหล่านี้เป็นเหตุการณ์สำคัญๆที่สร้างผลกระทบกับเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศในปี 2565 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เห็นได้ชัดว่าบางเหตุการณ์ เช่นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีชาติตะวันตกเป็นผู้สนับสนุนยูเครน น่าจะยืดเยื้อเข้าสู่ปีหน้า (2566) ชาวโลกได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ในเร็ววัน เพราะเท่าที่เป็นอยู่นี้โลกก็หวาดหวั่นกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยมากเพียงพอแล้ว
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 ธันวาคม 2565