เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (6)
เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (6) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3851
เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (6)
สวัสดีปีใหม่ ขอให้ปี 2023 นี้เป็นปี “กระต่ายทอง” ของท่านผู้อ่านนะครับ ผมชวนคุยบทความเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร” ของจีนกันมาข้ามปีเลย และเพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปเจาะลึกกันต่อเลยดีกว่า โดยผมขอต้อนรับปีใหม่ด้วยประเด็น “นวัตกรรม” ทางการเกษตรของจีนกันครับ ...
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนับว่าขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างนวัตกรรมเบอร์ต้นๆ ของโลก เราเห็นดัชนีนวัตกรรมของจีนมีอันดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวทีโลก นวัตกรรมดังกล่าวครอบคลุมถึงด้านเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน
ประการสำคัญ การมุ่งสู่ “นวัตกรรม” บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ การผลิต และการตลาดต้องอาศัยความเข้มข้นในการวิจัยและพัฒนา
บางคนเปรียบเทียบ “เมล็ดพันธุ์” ว่าเป็นเสมือน “ชิป” ของวงการอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของ “เมล็ดพันธุ์” ต่อความก้าวหน้าด้านการเกษตร
ด้วยนโยบาย “ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร” ของรัฐบาลจีน กอปรกับขนาดตลาดเมล็ดพันธุ์พืชของจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ถึง 120,000 ล้านหยวนต่อปี และมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต
เราจึงเห็นหน่วยงานภาครัฐของจีน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของจีน โดยกำหนดนโยบายส่งเสริมนวัตกรรม เพิ่มระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในจีนก็ต่างให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์อย่างจริงจัง จากข้อมูลของสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งชาติจีน (China National Seed Association) พบว่า จีนมีธุรกิจเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตอยู่ราว 7,000 ราย
ธุรกิจเหล่านี้ทุ่มทุนในสัดส่วน 5-20% ของรายได้จากการขายต่อปีเพื่อการวิจัยและพัฒนา ส่งผลให้กิจการเมล็ดพันธุ์ชั้นนำของจีน สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่องในแต่ละปี
ในแต่ละปี จีนคิดค้นเมล็ดพันธุ์ผสมใหม่ๆ ได้มากกว่า 1,000 ชนิด โดยหลายสิบชนิดจะถูกคัดสรรและนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ที่เหมาะสมกับความชื่นชอบด้านการตลาด สภาพภูมิอากาศ และสภาพปัจจัยแวดล้อมด้านการเกษตร ทำให้จีนสามารถเพิ่มระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวพันธุ์ผสม แตงโม แตงกวา เมลอน ฟักทอง ทานตะวัน บร็อคโคลี และพริก ทั้งนี้ ประมาณว่า เกษตรกรรมจีนใช้เมล็ดพันธุ์พืชของจีนเองคิดเป็นกว่า 95% ของพื้นที่การเพาะปลูกโดยรวมของจีนในปัจจุบัน
สัญญาณที่ดีอีกประการหนึ่งก็คือ การขยายงานวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในหลากหลายประเทศ ที่มีภูมิอากาศและสภาพปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน อาทิ บราซิล สหรัฐฯ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และ เซียร์ราลีโอน
อย่างไรก็ดี บางคนอาจนึกถึงการนำเข้าถั่วเหลือง และ ข้าวโพด จำนวนมหาศาลในแต่ละปีของจีน ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร จีนจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของจีน ทำให้หลายฝ่ายมองไปถึงการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ถั่วเหลือง และข้าวโพด
ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามยกเครื่องกฎหมายกำกับควบคุม GMO มาอย่างต่อเนื่อง โดยปลดล็อกเปิดทางให้ GMO ที่พัฒนาโดยกิจการต่างชาติ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพด เรปซีด ฝ้าย และชูการ์บีท สามารถนำเข้าสู่จีนได้
แต่ดูเหมือนว่า จนถึงปัจจุบัน ยังมีเพียง ฝ้าย และ มะละกอ ที่ตัดต่อพันธุกรรมเท่านั้นที่ถูกนำไปเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ในจีน
นอกจากนี้ จีนยังได้สร้างเวทีในการนำเสนอนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ผ่านหลายช่องทางที่กระจายอยู่ทั่วจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งชาติจีน (China Seed Congress) และฟอรั่มซิลิคอนวัลเลย์แห่งหนานฟาน (Nanfan Agricultural Silicon Valley Forum)
กิจกรรมนี้ระดมนักวิทยาศาสตร์และผู้แทนธุรกิจด้านการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรชั้นนำของจีนกว่า 2,000 คน ไปหารือเพื่อต่อสู้กับความท้าทาย และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2022 การประชุมจัดขึ้นที่ซานญ่า เมืองตากอากาศทางตอนใต้ของมณฑลไห่หนาน ให้ ความสำคัญกับการเผชิญกับวิกฤติด้านอาหาร และแนวโน้มราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของจีนต่างให้ความเห็นว่า วิกฤติโควิด-19 สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงสุดขั้ว ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และ ยูเครน และอื่นๆ ส่งกระทบต่อระบบโลจิสติกส์โลก ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของจีนต้องเพิ่มระมัดระวัง
“สภาพปัจจัยแวดล้อมภายนอกกำลังชามข้าวจากมือของเราไป ... บริษัทเมล็ดพันธุ์ และสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ควรใส่ใจกับการพัฒนาและวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดิน”
งานแสดงสินค้าเมล็ดพันธุ์ก็เป็นอีกเวทีหนึ่ง ที่จีนพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการซื้อขายและประชาสัมพันธ์เมล็ดพันธุ์ของจีนและเทศขึ้นเป็นเฉพาะ อาทิ งานแสดงสินค้า China Grain & Oil ที่กรุงปักกิ่ง Tianjin International Seed Expo ณ นครเทียนจิน และ China International Seed Trade Exhibition ที่นครเซี่ยงไฮ้
นอกจากนี้ ในงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่อย่าง China International Import Expo และ Canton Fair ณ เซี่ยงไฮ้และกวางโจว ตามลำดับ ก็อาจมีพื้นที่พิเศษสำหรับเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งงานแสดงสินค้าเฉพาะทางที่เจาะลึก เช่น งาน “International Flower Expo of China” ที่เน้นดอกไม้ ก็ถูกจัดขึ้น ณ นครคุนหมิง
ใครไปเยี่ยมชมงานก็จะได้พบเห็นสวนพืช ผัก ผลไม้ และ ดอกไม้นานาพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ มีผลดก และ รสชาติดี อาทิ แตงโมขนาดยักษ์ที่มีน้ำหนักลูกละ 40 กิโลกรัม และแอปเปิ้ลขนาดสองมือโอบที่หวานกรอบราวชุบน้ำผึ้ง
สำหรับคนที่ชอบรับประทานอาหารเผ็ด ก็สามารถซื้อพริกคุณภาพดีที่มีมากกว่า 30 ชนิด กลับไปขึ้นเมนูเพื่อเสริฟลูกค้าที่ร้านอาหารของตนเอง หรือ ปรุงอาหารที่บ้านได้ ผลิตภาพที่ดีทำให้รายได้ของเกษตรกรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ภายใต้ความสำเร็จในการเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว จีนยังมีการบ้านข้อใหญ่รออยู่อีกมาก ธุรกิจในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของจีนยังคงมีขนาดเล็ก และขาดความโดดเด่น รวมทั้งมีสัดส่วนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับของกิจการชั้นนำของโลก
นั่นหมายความว่า จีนยังต้องทุ่มเททรัพยากรและใส่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการพัฒนาและวิจัยเมล็ดพันธุ์ในระยะยาว
คราวหน้าเราจะไปคุยกันต่อว่า จีนมีนวัตกรรมด้านการเกษตรอะไร อย่างไรอีกบ้างครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 8 มกราคม 2566