บิ๊กอีเวนต์-เจ้าสัวจีนโลก เวทีทองปลุกการค้า-ลงทุน
ไทยกับจีน มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสืบทอดมาช้านานเป็นพันปี แม้บางช่วงเวลาด้วยสถานการณ์ของโลก ทำให้ความใกล้ชิด ห่างหายกันไปบ้างก็ตาม แต่ก็มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518
นับตั้งแต่นั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกมิติ
ในช่วงการระบาดของโควิด สองประเทศร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาด รวมถึงผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ดังที่ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย เคยกล่าวไว้ว่า เป็นการเขียนบทนิยามใหม่ให้กับความสัมพันธ์ของจีน-ไทย ที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน เสมือนลงเรือลำเดียวกัน
ล่าสุด เมื่อสถานการณ์โควิดระบาดคลี่คลาย รัฐบาลจีนจัดการปัญหาการแพร่ลามสำเร็จ
ได้กลับมาเปิดประเทศสู่สังคมโลกอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา
การเปิดประเทศของจีน มีความหมายต่อทั้งโลก ซึ่งแน่นอนรวมถึงประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแน่นแฟ้น
ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญและเป็นกลไกหนึ่งในการผลักดันไทยกับจีนในทุกมิติ ที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ การค้า การลงทุน ระบุว่า การประกาศเปิดประเทศของรัฐบาลจีน หลังจากดำเนินนโยบายซีโร่โควิด มานานกว่า 3 ปี เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไปยังตลาดจีน และทำให้ปี 2566 ตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง รวมถึงดีต่อภาคท่องเที่ยว ภาคการค้า และการลงทุนในระยะจากนี้
ขณะนี้มีสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง ตั้งแต่การมาเยือนไทยของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และเข้าร่วมประชุมความร่วมมือเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 หรือประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน
เพื่อเป็นการสานต่อในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และความสัมพันธ์ไทย-จีน จะใช้โอกาสนี้ เป็นเจ้าภาพการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน โดยการเป็นเจ้าภาพปีนี้ ใช้หัวข้อ ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน ซึ่งเบื้องต้นมีนักธุรกิจจีนทั่วโลก แสดงความจำนงมาร่วมงานไม่น้อยกว่า 3,000 ราย เฉพาะนักธุรกิจจากจีนจะมาถึง 1,500 ราย จากทั่วโลกอีกกว่า 1,000 ราย ญี่ปุ่นกว่า 100 ราย ยังไม่รวมในไทยอีกจำนวนมาก โดยใช้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดงาน และเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน
ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นอีกระดับว่า การประชุมจะสร้างความคึกคักในหมู่นักธุรกิจจีนทั่วโลกทั้งที่อยู่ในไทยและต่างประเทศ เข้ามาสอบถามและแสดงจำนงจะเข้าร่วม หลังจากช่วงตรุษจีนในปลายเดือนมกราคม หอการค้าฯจะออกหนังสือเชิญสมาคมต่างๆ ในจีนและทั่วโลก เฉพาะในประเทศจีนจะเชิญทั้ง 22 มณฑล แต่ละมณฑลมีนักลงทุนสนใจเข้างาน 20-30 คน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ไม่รวมกับนักลงทุนชาวจีนทั่วไปในทุกอุตสาหกรรม อีก 1,500 คน ชาวจีนที่ลงทุนในประเทศอื่นอีกประเทศละ 50-100 คน รวมผู้ติดตามหรือพาครอบครัวมาด้วย อาจมีจำนวนถึง 4,000-5,000 คน คาดว่าช่วง 3 วันจะมีเงินสะพัดอยู่หลักพันล้านบาท
ขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายละเอียดและกำหนดธีมการจัดประชุม จะแถลงข่าวต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เบื้องต้นองค์ประกอบของการประชุมแยกเป็น 3 วัน คือ วันแรก 24 มิถุนายน เป็นงานเลี้ยงต้อนรับชาวจีนจากทั่วโลกที่มาร่วมงาน มีการจัดเมนูของไทยและจีนขึ้นโต๊ะ โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง เมนูที่รู้จักกันทั่วโลก
วันที่ 25 มิถุนายน เป็นวันเปิดงานอย่างเป็นทางการ จะมีผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชน ขึ้นกล่าวปาฐกถาและบรรยายพิเศษถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน อาทิ ได้รับเกียรติจากผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กล่าวเปิดงาน และโดยเฉพาะการบรรยายพิเศษจากซีอีโอระดับประเทศเชื้อสายไทย-จีน อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ และนายเจริญ สิริวัฒนภักดี อีกทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้เข้าประชุม อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สมาคมการค้าต่างๆ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีการจัดสัมมนากลุ่มย่อยในประเด็นการค้า การลงทุน และอื่นๆ
ส่วนวันที่ 26 มิถุนายน เป็นกิจกรรมพิเศษเพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้ผ่อนคลาย เช่น จัดตีกอล์ฟ ชมวัดวาอารามสำคัญ และพาชมสถานที่ต่างๆ หรือแหล่งลงทุนตามที่นักลงทุนจีนต้องการเข้าชม
ที่มาที่ไปประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก คุณณรงค์ศักดิ์ขยายความว่า เดิมก่อนโควิดระบาดจะจัดประชุมทุก 2 ปี สมาชิกในแต่ละประเทศเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ส่วนประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 1 ครั้ง โดยแนวคิดการจัดงานครั้งนี้ต้องการเร่งการฟื้นฟูทุกมิติ ตั้งใจให้นักธุรกิจชาวจีนโลกรู้จักประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งต่อยอดการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง ตั้งแต่สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ครั้งนั้นหอการค้าไทย-จีนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันไทยกับจีนในทุกมิติ ส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อสานต่อในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า หลังจีนและทั่วโลกผ่อนคลายการเดินทางและจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติแล้ว
หลังจีนประกาศเปิดประเทศ นักธุรกิจจีนเริ่มติดต่อผ่านหอการค้าฯเพื่อมาเจรจาลงทุน เช่น บริษัทผลิตรถอีวี 2-3 ราย ความตั้งใจเราอยากให้รัฐวิสาหกิจจีนมาลงทุนในไทยอย่างน้อย 2 ราย หากได้จริงจะเกิดมูลค่าการลงทุนเป็นแสนล้านบาท เชื่อว่าจากปัจจัยความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ไทยจะเป็นประเทศฐานการผลิตของจีนที่สำคัญประเทศหนึ่ง
ประธานหอการค้าไทย-จีนกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเปิดประเทศของจีนไม่ใช่แค่ผลดีต่อเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มเดินหน้าอีกครั้ง แต่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย จีนมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อันดับสองของโลก เป็นรองเพียงจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หอการค้าไทย-จีนพร้อมให้ความร่วมมือ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจอย่างเต็มที่ และมีตัวช่วยจากโครงการรถไฟความเร็วสูงของจีน-ลาว ที่ทางการไทยพยายามเข้าไปเชื่อมต่อ
เป็นจังหวะเวลาพอดีคือรถไฟไทยมีไปถึงเมืองจีน แต่เราทำทางคู่ และเริ่มมีทางคู่ขนาน จึงทำให้ความเร็ววิ่งได้ถึง 100 กม.ต่อชั่วโมง ถ้าขนส่งก็ได้ 70-80 กม.ต่อชั่วโมง ครึ่งหนึ่งของความเร็วสูงของรถไฟจีน-ลาว และคิดว่าในอนาคตคิดว่าคงมีรถไฟความเร็วสูงมา ไทยจะได้อานิสงส์มากพอสมควร นักท่องเที่ยวจีนจะมาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และจากชาติอื่นๆ อย่างเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือพม่า มาผ่านประเทศไทย เที่ยวในภาคอีสานของประเทศไทย แล้วค่อยไปเที่ยวลาวแล้วต่อไปจีน ที่สำคัญคาดว่าปีนี้ชาวจีนจะเดินทางมาไทย 7-10 ล้านคน ถือเป็นส่วนสำคัญผลักดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย คุณณรงค์ศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งนี้ จึงถือเป็นอีเวนต์สำคัญต่อยอดธุรกิจ-ลงทุนไทย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 มกราคม 2566