มหากาพย์สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับ 3 มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (EP2)
333 วัน มหากาพย์สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับ 3 มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญครอบคลุมรอบด้านและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วง333วัน ว่า การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 333 วันแล้ว นับจากวันที่ 24 ก.พ. 65 ที่รัสเซียเริ่มเข้าไปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนด้วยชนวนเหตุจากกรณีพิพาทเรื่องดินแดน
จนนำไปสู่การคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาประเทศ ซึ่งผลจากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกมาจนถึงขณะนี้ และยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงพัฒนาการความขัดแย้งที่สำคัญตลอดช่วงระยะเวลา 333 วัน
โดยประเทศ พันธมิตรชาติตะวันตกซึ่งนำโดย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่ม G7 ได้ร่วมกันประกาศใช้ 3 มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมรอบด้านและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา โดยหวังที่จะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนัก เพื่อกดดันให้รัสเซียยุติการสู้รบ หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจา
(1)การคว่ำบาตรด้านการเงิน การธนาคาร การลงทุน อาทิ การตัดธนาคารของรัสเซียออกจากระบบการชำระเงิน SWIFT การอายัดเงินสำรองของธนาคารกลางและสถาบันการเงินของรัสเซีย การห้ามลงทุนเพิ่มในรัสเซีย
(2)การคว่ำบาตรด้านพลังงาน อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดาสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียทั้งหมด, EU ระงับการนำเข้าถ่านหิน ระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียทางทะเล และจะห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันจากรัสเซียตั้งแต่เดือน ก.พ. 66, EU G7 และออสเตรเลียใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าจากรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
(3)การคว่ำบาตรด้านการค้าสินค้าและบริการ อาทิ จำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการทหารของรัสเซีย เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีขั้นสูง อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ทองคําและผลิตภัณฑ์ทองคำ ห้ามนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากรัสเซีย และระงับการให้บริการขนส่งสินค้าแก่รัสเซียทางด้านรัสเซียก็ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ด้วยการประกาศรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรซึ่งเป็นประเทศที่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียจำนวน 48 ประเทศ
เพื่อกำหนดมาตรการเฉพาะ อาทิ การห้ามส่งออกสินค้ามากกว่า 200 ประเภท เช่น ด้านโทรคมนาคม การแพทย์ ยานพาหนะ การเกษตร และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ การห้ามธนาคารรัสเซียทำธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้นหรือการโอนหุ้น การกำหนดให้บริษัทรัสเซียจ่ายหนี้ต่างประเทศด้วยสกุลเงินรูเบิล ห้ามขายหุ้นในธนาคารและธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อรัสเซียตลอดจนการห้ามส่งออกน้ำมันให้ประเทศที่ร่วมมาตรการจำกัดเพดานน้ำมันรัสเซีย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 23 มกราคม 2566