สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์: แรงขับเคลื่อนต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย
สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ในโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเรากำลังจะเข้าสู่ยุคสมัยที่สินค้าต่าง ๆ จะมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบมากขึ้น ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า รถ หุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ โถสุขภัณฑ์ จนถึง เบาะที่นอน
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เกิดพัฒนาการหลายอย่าง อย่างแรก เราสามารถพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิตให้เกิดขึ้นภายในประเทศจนเกือบครบวงจร ยกเว้นเพียง อุตสาหกรรมต้นน้ำเซมิคอนดักเตอร์ หรือการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) เท่านั้น อย่างที่สอง ไทยผลักดันตนเองให้กลายเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญของโลก (ลำดับที่ 13 ของโลก) อย่างที่สาม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดผู้ประกอบการภายในประเทศ (คนไทยและต่างชาติ) เกือบ 630 รายและสร้างการจ้างงานเกือบ 350,000 คน และสุดท้าย ผู้ประกอบการได้สะสมประสบการณ์การทำวิจัยและพัฒนา (R&D) มาโดยตลอด
งานศึกษาของศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำรวจสัดส่วนงบประมาณ R&D ในผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำ R&D เกือบทั้งหมด และมีสัดส่วนของงบประมาณ R&D คิดเป็นร้อยละ 6.6 และร้อยละ 4.4 ของยอดขายสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ
โดย R&D ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในรูปแบบการพัฒนากระบวนการผลิต (Process Development) และกระบวนการทดสอบ (Testing Development) ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามในการปรับตัวต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทคนไทย กำลังเผชิญกับการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ ดังเช่น กระแสการเกิดสินค้าอัจฉริยะในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ บีบให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทั้งพัฒนาสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์และนำสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้พัฒนาสินค้าอัจฉริยะต่าง ๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งนัยสำคัญ คือ สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์จึงกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในไทย
ที่ผ่านมา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยส่วนใหญ่จะถูกผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก (เกือบร้อยละ 95 เป็นการผลิตเพื่อส่งออก) ถึงแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีการประกอบสินค้าสำเร็จรูปที่ต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อยู่ก็ตาม ยกตัวอย่าง ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศ และรถยนต์รายสำคัญของโลก แต่ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในสินค้าส่งออกข้างต้นอยู่ดี แม้ว่าในความเป็นจริง เราจะสามารถผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้ก็ตาม
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก บริษัทข้ามชาติมีบทบาทการตัดสินใจในการเลือกใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของตนเอง และไม่กล้าเสี่ยงต่อการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตรายใหม่มากนัก และอีกประการ มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก แต่ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ผลิตเพื่อขายภายในประเทศ ดังนั้น ด้วยปัจจัยดังกล่าว ห่วงโซ่อุปทานการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ขึ้นเลย
ปัจจุบัน ความไม่เชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานการผลิตข้างต้นกลายเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเมื่อไม่เกิดความเชื่อมโยงเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้แรงจูงใจต่อการพัฒนาสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอัจฉริยะลดลงได้ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อาจเกิดความลังเลในการลงทุนเพื่อพัฒนาและวิจัยสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ได้เมื่อผู้ผลิตไม่สามารถหาตลาดลูกค้ารองรับได้ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้การยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรมของชิ้นส่วนสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอัจฉริยะจะเกิดขึ้นได้ยากและล่าช้าตามไปด้วย
หากย้อนมาดูนโยบายการพัฒนาในไทย อุตสาหกรรมสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ถูกกำหนดให้เป็นเสาหลักต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ชิ้นส่วนสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่นโยบายดังกล่าวยังขาดการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานการผลิตระหว่างกัน เรื่องดังกล่าวจึงเป็นตัวต่อทางนโยบายที่หายไป (missing link) และยังไปลดทอนแรงขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย
สุดท้ายแล้ว ไทยควรสร้างความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กับสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เร็วที่สุด เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และผลักดันการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม และปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในปัจจุบันก็เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการผลักดันผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศให้เข้าไปเชื่อมห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับบรรษัทข้ามชาติในไทย เพราะบรรษัทข้ามชาติก็ต้องการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่ลดความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเช่นเดียวกัน
ผศ.ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล
ศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566