Polycrisis ความเสี่ยงใหญ่โลก แล้วเราพร้อมรับมือแค่ไหน?
เราจะรับมือกับ Polycrisis ได้อย่างไร? หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจคือ ไทยต้องเตรียมตัวและปรับสมดุลเศรษฐกิจ ระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่นโยบายการเงินเองต้องส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI)
เข้าใจว่าหลายคนคงเริ่มเบาใจกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยเฉพาะหลังจากจีนเปิดประเทศ เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เศรษฐกิจภาคบริการที่แห้งเหี่ยวมานานเริ่มกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง
ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็เริ่มคลายกังวลกับภาวะถดถอย (Recession) ลงไปบ้าง หรือถ้าจะเกิดก็คงเป็นเพียง Mild Recession หรือภาวะถดถอยแบบอ่อนๆ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายตัวออกมาแข็งแกร่งเกินคาด และตอนนี้ตลาดเองก็เริ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจำเป็นต้องขยับดอกเบี้ยขึ้นไปมากกว่า 5% เพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
แม้จะเริ่มเบาใจกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ควรวางใจไปทั้งหมด เพราะบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ชัดว่า ‘วิกฤติ’ มักจะมาในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง มาในแบบที่ทุกคนไม่ทันตั้งตัว วิกฤติโควิดที่สะเทือนเศรษฐกิจทั้งโลกน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนสุด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวปาฐกถาพิเศษไว้อย่างน่าสนใจมาก ในหัวข้อ "Start Today เศรษฐกิจไทย..สตาร์ตอย่างไรให้ก้าวนำโลก" ซึ่งจัดโดย Post Today และ Nation TV
ดร.ศุภชัย บอกว่า ช่วง 20 กว่าปีมานี้ โลกเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงิน 1997 หรือ The Great Recession 2009 ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ นำไปสู่วิกฤติซับไพร์มที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ตลอดจนปัญหา Y2K รวมไปถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกล่มสลาย
วิกฤติเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ยากเกินคาดเดา ไม่มีใครทำนายได้อย่างแม่นยำ ยิ่งช่วงหลังวิกฤติเกิดขึ้นบ่อยมาก เกือบจะทุก 2-3 ปี ทำให้ทุกคนคิดว่าในปี 2023 เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับการ ‘ล่มสลาย’ เพราะเงินเฟ้อยังไม่ได้ลดลง ความขัดแย้งของสงครามยังมีอยู่ และดูรุนแรงขึ้น ปัญหาการเมืองภูมิศาสตร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ดูเลวร้ายลงทุกที ไหนจะปัญหาสังคมและปัญหาสุขภาพอีก ทุกคนจึงใช้คำว่า Polycrisis หรือวิกฤติที่หลากหลาย
คำถาม คือ เราจะรับมือกับ Polycrisis ได้อย่างไร การตั้งคำถามของ ดร.ศุภชัย น่าจะเป็นการเตือนสติที่ดีให้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงนักธุรกิจที่อาจต้องมี emergency plan หรือแผนสำรองฉุกเฉินเผื่อเอาไว้
ดร.ศุภชัย บอกว่า ในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ล่าสุดก็พูดถึงเรื่อง Polycrisis ค่อนข้างมาก ซึ่งการรับมือควรต้องมี Resilience ที่ดีพอ กล่าวคือ เราต้องยืดหยุ่นปรับตัวได้ตลอด ล้มแล้วต้องรีบลุกขึ้นมาต่อสู้
กลับมาที่ประเทศไทย การรับมือกับ Polycrisis ซึ่งไม่รู้ว่าสารพัดวิกฤติที่ว่านี้จะระเบิดออกมาอีกเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวและปรับตัว คือ การปรับสมดุลเศรษฐกิจระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่นโยบายการเงินเองต้องส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI) ซึ่งเวลานี้สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีของไทยน้อยมาก แค่ 15% ต่างจากอดีตซึ่งเคยสูง 30-35%
ยิ่งไทยกำลังเผชิญกับภาวะสังคมสูงวัย คนอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนถึง 20% แล้ว ตอนนี้วัยแรงงาน 1 คน ต้องแบกภาระถึง 70 คน เราจึงต้องเร่งสปีดเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องถามตัวเองดังๆ ว่า เศรษฐกิจไทยมี Resilience มากน้อยแค่ไหน พร้อมรับมือกับภาวะ Polycrisis หรือไม่ อย่าลืมว่าทุกวิกฤติมักจะมาในแบบที่เราไม่ทันตั้งตัวเสมอ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566