วิเคราะห์ อิสราเอล-ฮามาส สงครามไหนจะขยายวง
ความรุนแรงในฉนวนกาซาและอิสราเอล เริ่มมาได้จวนจะครบเดือนแล้ว นับจาก 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งรัฐยิวเป็นต้นมา
แม้จะไม่ถึงขั้นเสี่ยงที่รัฐอาจล่มสลายได้เหมือนเมื่อเคยเกิดสงครามกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แต่ความน่าสะพรึงกลัวและห้าวหาญเหี้ยมโหดของกลุ่มติดอาวุธที่กล้าทะลวงรั้ว บุกเข้าไปสังหารและจับกุมประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายสัญชาตินั้น เป็นเรื่องสยองขวัญที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
การตอบโต้ด้วยความหนักหน่วงของกองทัพอิสราเอล ไม่รู้ว่าจะกำจัดผู้ก่อการร้ายได้เท่าไร แต่ที่แน่ๆ คือก่อให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมอย่างมหาศาล ชาติอิสลามประกาศประณามอิสราเอลในเรื่องนี้ บางชาติแสดงโวหารแย้มถึงการใช้กำลังโดยจะไม่ยอมอยู่เฉย ขณะที่ชาติตะวันตกสนับสนุนอิสราเอลให้กวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายอย่างเต็มที่
สงครามจะขยายวงออกไปตามที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงกันกระนั้นหรือ ไม่หรอกค่ะ
นาทีนี้ไม่เหมือนวันที่อิสราเอลเสี่ยงต่อการสิ้นชาติเหมือนสงครามหกวัน (ระหว่างวันที่ 5 ถึง 10 มิ.ย.2510) ที่ 7 ชาติอาหรับ (นำโดย อียิปต์ ซีเรีย และจอร์แดน) กรีธาทัพกว่าครึ่งล้านเข้ารบกับอิสราเอล
หรือสงคราม Yom Kippur ปี 2516 ที่อียิปต์กับซีเรียเป็นแกนหลัก นำนักรบจากหลายชาติจำนวนมากกว่าเดิมเสียอีกเข้าตีอิสราเอล
วันนี้โอกาสเกิดสงครามใหญ่ขนาดนั้นในตะวันออกกลาง ถ้าจะมีก็ไม่ใช่ที่อิสราเอล ไม่มีกองทัพของชาติใดเสี่ยงลงมาทำสงครามตามแบบกับอิสราเอลอีกแล้ว มีแต่การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายให้ก่อกวนทิศโน้นทิศนี้ของรัฐยิวบ้าง ซึ่งการกระทำแบบนี้ไม่ทำให้สงครามขยายวงอย่างแน่นอน กลุ่มก่อการร้ายไม่สามารถรุมกินโต๊ะอิสราเอลได้
การรุกด้วยวิธีเซอร์ไพรส์ของฮามาสสิ้นสุดลงไปด้วยความสำเร็จบางประการ แต่ไม่ถึงขั้นปลุกให้ชาติอาหรับยืนอยู่บนพื้นฐานความจริงได้ว่า ไม่ควรทำสงครามกับอิสราเอลอีกแล้ว
ก่อนหน้าที่กลุ่มฮามาสจะเปิดยุทธการฆ่าตัวตายเมื่อ 7 ต.ค.2566 ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับอยู่ในระดับที่ถือว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ หลายชาติเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตขั้นเกือบปกติกับอิสราเอลแล้ว ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียแย้มว่าอาจจะเปิดภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ต้องยกความชอบให้กับสหรัฐ ยุคประธานาธิบดี Donald Trump ที่จับเข่าคุยกับชาติเหล่านี้ให้เข้าใจบริบทของโลกยุคปัจจุบันว่าเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะล้มรัฐยิว มีแต่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างไรให้ทรงประโยชน์แก่ตนเองที่สุด รัฐอาหรับหลายชาติซื้อไอเดียนี้
แต่การบุกของฮามาสที่ไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับมาจากประเทศเหล่านั้น ทำลายโอกาสของสันติภาพถาวรยิว-อาหรับอย่างสิ้นเชิง ถึงเวลานี้ไม่มีชาติไหนกล้าถูกมองไม่ดีจากเพื่อนร่วมศาสนาว่าจะไปจับมือกับอิสราเอลอีกแล้ว แต่จะถึงขั้นทำสงครามกับอิสราเอลนั้นก็ไม่อีกเหมือนกัน
ซาอุดีอาระเบีย ภายใต้มกุฎราชกุมารหนุ่ม ปรับเปลี่ยนนโยบายทั้งในและนอกประเทศหลายอย่างให้สอดคล้องกับบริบทของสากลโลกมากขึ้น วางแนวทางให้ประเทศรุดหน้า ทันสมัย และมีส่วนร่วมกับสังคมโลกมากกว่าในอดีต ทำให้ประเทศได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก
ชาติมหาเศรษฐีน้ำมันชาตินี้จะไม่ส่งกำลังไปรบใน “ดินแดนคานาอัน” อีกแล้ว ยิ่งมีศึกติดพันกับกลุ่ม Houti ของเยเมนแล้วยังเอาชนะไม่ได้ กองทัพซาอุฯ คงไม่ไปรบที่ไหนอีกในช่วงนี้ พันธมิตรอ่าวอื่นๆ ก็คงไม่ไปเช่นกัน
อียิปต์และจอร์แดนเคยเสียดินแดนให้อิสราเอล แต่ก็ไม่คิดจะที่เอาคืนอีกแล้วด้วยเหตุผลหลายประการ จอร์แดนนั้นต้องพึ่งพาน้ำจากอิสราเอล ขณะที่อียิปต์มีรายได้จากท่อก๊าซเข้าสู่อิสราเอลมหาศาล
แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองชาติไม่สนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรง ก็เพราะกลุ่มหัวรุนแรงอาจโค่นล้มระบอบการปกครองของตนด้วย ก่อนหน้าเหตุการณ์จะเกิดขึ้น อียิปต์ก็ใช้กำลังพลจำนวนมากปิดกั้นไม่ให้ผู้อพยพจากกาซาเข้ามายังดินแดนของตนที่ติดกัน ขณะที่จอร์แดนกังวลต่อผู้อพยพปาเลสไตน์จำนวนมากที่มีอยู่ในดินแดนของตน
ซีเรียอาจดูเหมือนมีศักยภาพมากที่สุด แต่การที่เพิ่งฟื้นจากสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ อีกทั้งอิสราเอลยังยึดที่ราบสูง Golan เอาไว้ไม่ปล่อยมือ จึงยากที่จะเห็นทหารซีเรียเคลื่อนพลเข้ามารบอีก
เลบานอนที่ประกอบด้วยสัดส่วนชาวคริสต์ถึง 40% ก็น่าที่จะมีแต่กลุ่ม Hezbollah เท่านั้นที่กล้าที่จะยิงจรวดก่อกวนพรมแดนทางตอนเหนือของอิสราเอล
อิหร่านที่ดูเหมือนใช้วาทะรุนแรงกว่าใครคงได้แต่สนับสนุนกลุ่มต่อต้านอิสราเอลด้วยวาจาเป็นหลัก หลังจากอิสราเอลเปิดยุทธการเต็มรูปแบบ อาวุธจากอิหร่านมายังกลุ่มเหล่านั้นน่าจะถูกปิดกั้นมากขึ้น แม้แต่การยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอลจากอิหร่านเองก็ยากแล้ว เพราะเกรงจะโดนสวนกลับจากกองทัพอิสราเอลโดยตรง อีกทั้งเรือของสหรัฐเต็มภูมิภาค
ส่วนตุรกีจะมุ่งเน้นเคลื่อนไหวทางการทูต ไม่ใช้กำลัง
ดังนั้น จึงมีแต่กลุ่มก่อการร้ายภายในกาซา เวสต์แบงก์และทางใต้ของเลบานอนเท่านั้นที่จะเล่นศึก สงครามในภูมิภาคจึงไม่มีทางขยายวง
แต่ที่ขยายวงแน่ กลับเป็นความจงเกลียดจงชังที่ชาวมุสลิมทั่วโลกมีต่อชาวยิวและชาติที่สนับสนุนอิสราเอล ชิ่งไปถึงความรู้สึก Islamophobia ของชนเชื้อสายหรือศาสนาอื่นที่มีต่อชาวมุสลิมที่ก็จะกระจายไปทั่วโลกเหมือนกัน
ทุกชาติต้องช่วยกันยับยั้งกระแสทั้งสอง เพราะมันเป็นอันตรายที่แท้จริงต่อปัจเจกชนทุกคนบนโลกใบนี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566