ไทยจะกลับไปมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนได้ไหม?
ก่อนโลกจะเผชิญกับโควิด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีเกือบ 40 ล้านคนเคยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยถึง 1.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของ GDP
เมื่อปัจจุบันพรมแดนที่เคยปิดกลับมาเปิดอย่างเต็มรูปแบบ ไทยจึงหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน จะกลับมาพลุกพล่านอีกครั้ง
แต่ว่าบริบททางเศรษฐกิจ เทรนด์การท่องเที่ยว และความรู้สึกที่นักท่องเที่ยวจีนมีต่อไทยต่างออกไปจากในอดีต
นักท่องเที่ยวจีนสำคัญอย่างไรสำหรับไทย และไทยจะแก้เกมอย่างไรเมื่อกำลังถูกมองว่าเป็น ‘ดินแดนอันตราย’
‘การท่องเที่ยว’ ความหวังเศรษฐกิจไทย
ในช่วงเวลาที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่น ทั้งภาคการลงทุน การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศของไทย ยังคงชะลอตัว ภาคการท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย
ในปี 2019 จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวขาออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวมากที่สุด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักท่องเที่ยวจีนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะหากเร่งเปิดกว้างการเดินทางท่องเที่ยวแบบหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ได้สำเร็จ
ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยทั้งหมด 17.8 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีน 2.2 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งยังคงห่างไกลจากตัวเลข 11 ล้านคนเมื่อปี 2019
รัฐบาลพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ ‘วีซ่าฟรี’ ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ไปจนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 และคาดการณ์ว่าวีซ่าฟรีจะดึงดูดให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเป็น 4.01-4.4 ล้านคนภายในปีนี้
มาตรการวีซ่าฟรีส่อแววว่าจะไปได้สวย เมื่อ CTrip เว็บไซต์ให้บริการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของจีน รายงานว่า ช่วง Golden Week หรือวันหยุดยาวเทศกาลไหว้พระจันทร์ ต่อเนื่องด้วยวันชาติจีน ที่หยุดต่อเนื่องติดต่อกันถึง 8 วัน (29 กันยายน – 6 ตุลาคม) ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน และส่งผลให้ยอดจองโรงแรมในไทยเพิ่มขึ้นถึง 6,220% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
Golden Week ของจีนจึงถือเป็น Golden Week ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยเหมือนกัน ก่อนเหตุการณ์สลดที่สยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม จะพลิกช่วงเวลาแห่งความสุขของนักท่องเที่ยวจีนให้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความหวาดกลัว โกรธ และตั้งคำถามอย่างหนักต่อความปลอดภัยในประเทศไทย
โลกโซเชียลจีนคิดอย่างไรกับไทย :
ทันทีที่มีข่าวรายงานออกมาว่าเกิดเหตุสลดที่สยามพารากอน พร้อมกับคลิปวิดีโอที่ผู้คนในห้างสรรพสินค้าต่างตื่นตระหนกและหลบหนีไปทุกทิศทุกทาง แฮชแท็ก #พารากอน ก็ขึ้นเทรนด์ X (Twitter) อย่างรวดเร็ว ขณะที่จีนซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 1 รายจากเหตุสลดที่เกิดขึ้น ก็ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดไม่แพ้ชาวไทย
ชาวเน็ตจีนจำนวนไม่น้อยบอกว่า “จะไม่มาประเทศที่มีปืนถูกกฎหมายอีกต่อไป” บางคนก็เป็นคนในเหตุการณ์และเล่าวินาทีที่เกิดเหตุไว้บน Weibo ว่า “มาครั้งแรกและจะไม่มาอีก”
บางความคิดเห็นก็ตั้งคำถามว่า ทำไมคนไทยครอบครองปืนได้ง่ายดาย หรือคนไทยสามารถพกพาปืนไปในที่สาธารณะได้ด้วยหรือ?
ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำเพจเฟซบุ๊กอ้ายจง และเป็นหนึ่งในทีมงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ที่คอยเฝ้าติดตามกระแสบนโซเชียลมีเดียของจีน ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า กระบวนทัศน์การรับรู้บนโลกโซเชียลของจีนนั้นมีหลายระดับ โดยแต่ละแพลตฟอร์มสามารถสะท้อนได้ว่าการรับรู้ในหมู่คนจีนนั้นกว้างในระดับไหน
Weibo หรือที่ถูกเรียกว่าเฟซบุ๊กของจีนนั้น เป็นแพลตฟอร์มที่คนจีนใช้ติดตามข่าวสาร อะไรที่เป็น Breaking News หรือเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจในขณะนั้นจะถูกพูดถึงใน Weibo และถ้าหากข่าวนั้นขึ้นเทรนด์ใน Weibo แสดงว่าเริ่มเข้าไปอยู่ในความสนใจของคนจีนแล้ว
เมื่อขึ้นเทรนด์ที่ Weibo สิ่งที่จะเกิดขึ้นลำดับถัดมาคือ การส่งต่อข่าวสารให้เพื่อนหรือครอบครัวผ่านทาง WeChat แพลตฟอร์มสำหรับส่งข้อความหากันของคนจีน เหมือนกับที่คนไทยใช้ LINE ไว้สำหรับติดต่อสื่อสารกัน
ถ้าเรื่องนั้นเป็นกระแสทั้ง Weibo และ WeChat จนกระทั่งเป็นกระแสใน Douyin หรือ TikTok ของจีนด้วย จะเท่ากับว่าเรื่องนั้นเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มากในจีนแล้ว
เนื่องจากการจะขึ้นเทรนด์บน Top 50 ที่แนะนำบน Douyin ได้จะต้องมียอดการค้นหาเกินระดับ 1 ล้านครั้งไปแล้ว ซึ่งช่วงวันแรกที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงสยามพารากอน มียอดค้นหาแบบเรียลไทม์บน Douyin เกือบ 10 ล้านครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่สยามพารากอนเป็นกระแสบน Xiaohongshu แพลตฟอร์มที่มีลักษณะคล้ายกับ Instagram ด้วย นั่นหมายความว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นที่รับรู้ในระดับกว้างมากๆ และเริ่มมีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวแล้ว เนื่องจากปกติแล้ว Xiaohongshu เป็นพื้นที่ที่คนจีนจะเอาไว้แชร์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรือรีวิวเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
“พอคนที่สนใจเกี่ยวกับไทยเห็นว่ากระแสมาถึง Xiaohongshu บ้างแล้ว เขาก็รู้สึกว่าหรือมันเป็นเรื่องจริง หรือมันไม่ปลอดภัยจริงๆ นะ มันเริ่มส่งผลต่อการตัดสินใจจริงๆ แล้ว”
อาจารย์ภากรเสริมว่า เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องที่สยามพารากอนได้รับการพูดถึงบนโลกโซเชียลจีนประมาณ 1 สัปดาห์ และต้องชื่นชมที่ทางรัฐบาลตอบสนองต่อสถานการณ์ได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเยียวยานักท่องเที่ยว หรือการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นว่าจะคุมเข้มเรื่องการครอบครองอาวุธปืน ทั้งหมดนี้ต่างมีการพูดถึงบนโลกโซเชียลของจีนทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อีก 1 สัปดาห์ถัดมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง 29.47% หรือหายไปประมาณ 31,379 คน โดยคำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสัปดาห์ที่ 5 ของเดือนกันยายนที่เดินทางเข้ามา 106,472 คน ลบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมที่มี 75,093 คน
ประเทศไทยยังปลอดภัยอยู่หรือไม่ :
หากยังจำกันได้ในช่วงปี 2012 ความสำเร็จของภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand ที่ถ่ายทำในจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก ได้กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนแห่มาเที่ยวที่เชียงใหม่กันอย่างล้นหลาม ตั๋วเครื่องบินและโรงแรม 5 ดาวในเชียงใหม่ช่วงเวลานั้นถูกจองเต็มจนเกือบหมด
แต่ว่าถ้าตัดภาพมาที่ปี 2023 ภาพยนตร์จีนที่ขึ้นแท่นทำเงินสูงที่สุดในปีนี้อย่าง No More Bets (2023) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกนักท่องเที่ยวจีนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ไปเป็นเหยื่อร่วมขบวนการ ซึ่งได้สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชมชาวจีน จนบางคนไม่กล้ามาเที่ยวในละแวกนี้ รวมถึงไม่กล้ามาประเทศไทยด้วย
คำถามว่า ประเทศไทยปลอดภัยหรือไม่เริ่มส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ชาวจีน เมื่อมีทั้งข่าวอุ้มฆ่านักศึกษาสาวชาวจีน ตามติดมาด้วยเหตุการณ์ชาวจีนหลายรายถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีประเด็นทฤษฎีสมคบคิดว่า ไทยเป็นดินแดนอันตรายเสี่ยงถูกขโมยไตถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดียของจีน โดยบอกว่าแก๊งขโมยไตนี้ย้ายมาจากกัมพูชาและเมียนมา มีแหล่งบันเทิงใจกลางกรุงเทพฯ เป็นฉากบังหน้าสำหรับล่อลวงสาวๆ ให้ไปขายตัว หรือว่าส่งไปให้แก๊งขโมยไต
ทางด้านอาจารย์ภากรเสริมว่า ผู้คนอาจมองว่าเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอนเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น แต่ถ้าหากทบทวนเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู, เหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ไปจนถึงเหตุลอบวางระเบิดที่แยกราชประสงค์ ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นการตอกย้ำความหวาดกลัวที่อยู่ในใจนักท่องเที่ยวให้กลายเป็นภาพจำว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัยเด่นชัดขึ้น หรือแม้กระทั่งคนไทยเองก็อาจรู้สึกเช่นกันว่าประเทศตัวเองไม่ปลอดภัย
ดังนั้นมากกว่าเร่งกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวกลับมา สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำคือ หันมาแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศตัวเองเสียก่อน เพราะถ้าหากนักท่องเที่ยวกลับมาแต่ยังมีปัญหาอยู่ ก็ยิ่งเป็นการขยี้ปมไปเรื่อยๆ
“เสียงบนโลกโซเชียลจีนที่ผมอยากสะท้อนถึงผู้มีอำนาจในเมืองไทยมันมีหลายคอมเมนต์มากที่บอกว่าถึงไม่มีฟรีวีซ่าก็ไป ถ้ารู้สึกว่าไทยปลอดภัย เพราะไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เขาชอบมากๆ อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด แต่มันมีความกังวลเรื่องของความปลอดภัยมาหลายรอบมากๆ แล้ว ดังนั้นเป็นใครก็ต้องกังวล”
นี่คือสถานการณ์ที่ต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง ในวันช่วงก่อนเกิดโควิด ไทยยังคงเป็นแดนสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวจีน แต่วันนี้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนกำลังมองว่าไทยเป็นดินแดนอันตราย
และไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยเท่านั้น นักท่องเที่ยวจีนยังวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่าค่าครองชีพในไทยแพงกระฉูด โดยมีคลิปนักท่องเที่ยวจีนเดินสำรวจราคาข้าวของและบริการในตลาดกลางคืนที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับโปรยข้อความว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศไทยเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว พุ่งเป้าหลอกต้มตุ๋นนักท่องเที่ยวจีน ค่าครองชีพกำลังจะแซงหน้ายุโรปและอเมริกาแล้ว อย่าไปเลย”
เศรษฐกิจจีนไม่เหมือนเดิม :
ไม่เพียงแค่ความกังวลเรื่องความปลอดภัยที่ส่งผลถึงการท่องเที่ยวไทย แต่ภาวะเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันก็ยังต่างออกไปจากช่วงก่อนเกิดโควิด
ช่วงระหว่างปี 2016-2019 เศรษฐกิจจีนเติบโตอยู่ที่ 6-7% ต่อปี แม้จะลดลงมาจากตัวเลขที่เคยทำได้ถึง 10% ต่อปี แต่ก็ยังสูงพอในระดับที่ทำให้มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก
ตรงข้ามกับวันนี้ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง ปี 2022 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 3% เท่านั้น ทั้งยังมีเรื่องอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และล่าสุดภาคอสังหาริมทรัพย์ก็กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า
ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนมีสัดส่วนสูงถึง 15-30% ของเศรษฐกิจจีนโดยรวม ดังนั้นหากภาคอสังหาของจีนยังไม่ฟื้นก็จะส่งผลกระทบไปยังหลายอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทาน และกระทบต่อตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกันความมั่งคั่งของประชากรจีนจำนวนมากก็อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อความรู้สึกและความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวจีนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยหรือว่าลดการบริโภคลง
ถึงอย่างนั้นการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวได้ เนื่องจากชาวจีนหันมาเที่ยวในประเทศตัวเองมากขึ้น
ตามข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนพบว่า ในช่วง Golden Week ที่ผ่านมา มีการท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่า 826 ล้านการเดินทาง หรือเพิ่มขึ้น 71.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และทำรายได้มากกว่า 7,534 ล้านหยวน
โดยโรงแรมในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำในประเทศ เช่น ซานย่า เมืองพักตากอากาศที่ได้ชื่อว่าเป็นฮาวายแห่งเมืองจีน มีอัตราการเข้าพักสูงขึ้นกว่า 5% ขณะที่ Revenue Per Available Room (RevPAR) หรือว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักที่มีทั้งหมดตามแต่ละช่วงเวลา ซึ่งคือมาตรวัดที่นิยมใช้วัดประสิทธิภาพทางการเงินของธุรกิจโรงแรม ก็สูงเกือบ 54% แม้แต่ในเซี่ยงไฮ้อัตราการเข้าพักและ RevPAR ในเดือนสิงหาคมก็สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับไทยหรือประเทศไหนที่หวังพึ่งนักท่องเที่ยวจีนให้ไปกอบกู้เศรษฐกิจ
โอกาสใหม่ของการท่องเที่ยว :
เวลาเปลี่ยน พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนจีนก็เปลี่ยนไปเช่นกัน รายงานของ McKinsey ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนต้องการทำมากกว่าการช้อปปิ้งหรือการเที่ยวชมสถานที่ แต่เต็มใจจะจ่ายเงินให้กับการท่องเที่ยวที่มุ่งให้ความบันเทิงหรือมอบประสบการณ์ที่คุ้มค่า
อาจารย์ภากรเห็นตรงกันว่า เทรนด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนต่างออกไปจากช่วงก่อนโควิดตรงที่พวกเขาให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติ และให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบ Experience Service มากขึ้น โดยจะชั่งน้ำหนักว่าการท่องเที่ยวแต่ละครั้งมอบประสบการณ์ใหม่ใดบ้าง และคุ้มค่าคุ้มราคากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่
ถ้าดูดัชนี PMI หรือดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ จะพบว่า ช่วงที่ผ่านมาภาคการผลิตของจีนหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตรงข้ามภาคการบริการที่มีการขยายตัวเรื่อยๆ ในแง่หนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นว่าคนจีนเริ่มให้ความสำคัญกับการบริการมากยิ่งขึ้น
ช่วงที่ผ่านมาทางด้านหน่วยงานท้องถิ่นของจีนเองก็มีการพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ ร้านหนังสือ และพิพิธภัณฑ์ ให้กลายเป็น Experience Service หรือ Experience Tourism เพื่อให้คนจีนเที่ยวใกล้บ้านตัวเองได้
ส่วนคนที่มีรายได้สูงและมีกำลังมากพอจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศก็อยากไปประเทศที่ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เราจึงได้เห็นนักท่องเที่ยวจีนไปยุโรปหรือประเทศใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น
เพื่อก้าวให้ทันเทรนด์การท่องเที่ยวของจีนที่เปลี่ยนไปนั้น อาจารย์ภากรเสนอว่า ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้ผลักดันเมืองรองได้ เพราะตั้งแต่ก่อนโควิดมีคนจีนเริ่มมาท่องเที่ยวเมืองรองของไทยจากกระแสละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส บ้างแล้ว แต่การผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรองนั้นไทยจะต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้การแสวงหาตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวจีน ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เพิ่มขึ้น
นักท่องเที่ยวอินเดียอาจเป็นหนึ่งในคำตอบของนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ จากการที่อินเดียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และคาดว่าประชากรที่มีรายได้ปานกลางจะเติบโตเฉลี่ยถึง 7.4% ต่อปี ที่น่าสนใจก็คือ 90% ของนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นการเดินทางในรูปแบบครอบครัวใหญ่ หรือจะเป็นตลาดตะวันออกกลาง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงและมีระยะเวลาในการพำนักนานถึง 11-16 วัน โดยช่วงวันที่ 1 มกราคม – 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียมาเที่ยวไทยมากกว่า 75,652 คน
ล่าสุด ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำการบ้านเพื่อพิจารณาว่าจะยกเว้นวีซ่าให้ชาวจีนเป็นการถาวรในระยะต่อไป พร้อมทั้งมีแผนจะยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวไต้หวันและอินเดียด้วย รวมถึงมีแผนอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้าไทยผ่านด่านทางบกทางด่านพรมแดนสะเดา จังหวัดสงขลา ไม่ต้องกรอกเอกสารใบ ตม.6 หรือเอกสารที่ใช้กรอกเวลาเข้า-ออกประเทศไทย เป็นกรณีพิเศษ
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังอนุมัติขยายเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจาก 30 วัน เป็น 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567 เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาท่องเที่ยวและพำนักอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น
การท่องเที่ยวไทยในวันนี้ไม่เพียงแค่วิ่งไล่ตามตัวเลข 40 ล้านคนที่เคยทำได้ในอดีต แต่ไทยยังต้องสู้กับประเทศอื่นๆ ที่ต่างก็งัดมาตรการเด็ดมาดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามที่กำลังดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการท่องเที่ยวไทยไป
ท่ามกลางการแข่งขันที่กำลังดุเดือดนี้ นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญว่า ไทยเราจะทำอย่างไรเพื่อรักษาตำแหน่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเอาไว้
ที่มา the standard
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566