สาเหตุที่นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจจีนน่ากลัวที่สุดในรอบ 25 ปี
ยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สำหรับการส่งออกของจีนในเดือนตุลาคม โดยศุลกากรจีนเปิดเผยข้อมูลว่า สำหรับเดือนตุลาคมส่งออกของจีนลดลง 6.4% หรือมากกว่าเดือนกันยายน ซึ่งลดลง 6.2% ทำให้การเกินดุลการค้าลดลงมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน หรือเกินดุลต่ำที่สุดในรอบ 17 เดือน
ส่งออกจีนอ่อนแอลง นับจากธนาคารกลางสหรัฐและยุโรป รวมทั้งเอเชียขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อเมื่อปีที่แล้ว ผลของมันทำให้การค้าของจีนกับญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศอาเซียน ถดถอยลง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมการนำเข้าของจีนขยายตัวอย่างคาดไม่ถึง ที่ระดับ 3% นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรก หลังจากปรับลงติดต่อกัน 11 เดือน และดีกว่าเดือนกันยายน ซึ่งร่วงลง 6.2% อย่างมาก สาเหตุหลักมาจากการนำเข้าถั่วเหลือง น้ำมันดิบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง อย่างเช่น ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่ข้อมูลออกมาในลักษณะขัดแย้งกันเอง โดยส่งออกลดลงแต่นำเข้าเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าความต้องการในประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะการนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าการดิ่งลงของส่งออก ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นใจของตลาด เพราะที่ผ่านมาตลาดคาดหวังว่าส่งออกจะฟื้นตัว อีกทั้งบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง ไม่สม่ำเสมอ
จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด แห่งแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ชี้ว่าส่งออกจีนอาจลดลงอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนจะถึงจุดต่ำสุดในกลางปี 2024 เพราะเมื่อดูจากคำสั่งซื้อของต่างประเทศบ่งบอกว่า ความต้องการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะถดถอยอ่อน ๆ หรือไม่ก็จีดีพีเติบโตต่ำในระยะสั้น ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าต่างประเทศลดลง
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สำหรับนักลงทุนแล้ว จีนไม่เคยน่ากลัวเท่านี้มาก่อนในรอบ 25 ปี เพราะแม้จีนจะพยายามหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่มากมาย แต่ยังต้องดิ้นรนเพื่อดึงดูดบริษัทต่างชาติและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ตามรายงานของทางการจีนระบุว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ เอฟดีไอลดลงเกือบ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับจากมีการเริ่มเก็บข้อมูลในปี 1998 ย้ำให้เห็นว่า จีนไม่สามารถหยุดยั้งการไหลออกของเงินทุน อันน่าจะหมายถึงว่าบริษัทต่างชาติกำลังนำเงินออก แทนที่จะนำเงินกลับไปลงทุนซ้ำในจีน
นอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตัวมันเองแล้ว ตัวเร่งที่ทำให้เงินลงทุนไหลออก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งนักลงทุนและบริษัทต่างชาติระแวงรัฐบาลจีนมากขึ้น ทั้งในเรื่องที่อาจจะถูกบุกตรวจค้นหรือควบคุมตัว
โดยบริษัทล่าสุดที่ถอนตัวออกจากจีน คือ “แวนการ์ด กรุ๊ป” บริษัทบริหารจัดการการลงทุนของสหรัฐ ส่วน “แบล็กร็อก” ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ก็มีแผนจะปิดสำนักงานที่เซี่ยงไฮ้ หลังเดือนธันวาคม 2023 นี้ โดยขายหุ้นให้กับแอนต์กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในจีน
คาร์โล ดีแอนเดรีย รองประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน ได้วิพากษ์วิจารณ์การจัดงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน ว่าเป็นแค่การ “โชว์” เฉย ๆ เพราะตอนนี้ธุรกิจยุโรปเริ่มมองเห็นความจริง ดังนั้นหากต้องการฟื้นความมั่นใจของนักลงทุน จีนก็จำเป็นต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม
“จุดประสงค์เริ่มแรกของ CIIE ตั้งใจว่าจะเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างและปฏิรูปของจีน แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าส่วนใหญ่ จนถึงตอนนี้เป็นแค่ภาพลวงตา ความพยายามของรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลลัพธ์เลย”
ในเดือนกันยายน รัฐบาลจีนยอมผ่อนคลายการควบคุมเงินทุนในสองเมือง คือปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ อนุญาตให้ต่างชาตินำเงินเข้าหรือออกจากจีนได้อย่างเสรี
พร้อมกันนั้นบรรดาบริษัทตะวันตกชั้นนำ เช่น เจพีมอร์แกน เทสลา เอชเอสบีซี ได้เข้าพบผู้ว่าการธนาคารกลางจีน เพื่อขอให้เปิดอุตสาหกรรมการเงินมากขึ้นให้กับต่างชาติ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า บรรดานักลงทุนระดับโลกยังคงระแวงจีน
เนื่องจากมีการตรวจสอบบริษัทตะวันตกมากขึ้น
ผลการสำรวจของหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนกันยายน พบว่ามีบริษัทเพียง 52% มีมุมมองบวกต่อแนวโน้มธุรกิจของตนในระยะ 5 ปีข้างหน้า ต่ำที่สุดนับจากปี 1999 ขณะที่ปี 2022 อยู่ที่ 55% และปี 2021 อยู่ที่ 78%
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566