"ซีอีโอ" แชร์ประสบการณ์ ทุกขั้นตอนธุรกิจต้องคิดถึงความยั่งยืน
ผู้บริหารระดับสูงจากธุรกิจชั้นระดับโลกที่หันหัวเรือสู่ "ความยั่งยืน" ได้มาเล่าประสบการณ์การปรับองค์กรสู่ความท้าทายใหม่ ในเวที GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S : คน GEN ใหม่ หัวใจยั่งยืน
ในส่วนเวที CEO Panel : How sustainability catalyze collective actions in addressing global Challenge
จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เนื้อหาบนเวทีมีเรื่องราวที่น่าสนใจนำมาสรุปให้แล้ว
มิเกล แมนทัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Allnex Holding GmbH หรือ allnex บริษัทผู้ผลิต Coating Resins ธุรกิจสารเคลือบที่บุกเบิกนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า การที่บริษัทจะไปสู่เป้าหมาย Net Zero นั้นจะต้องมีการวางแผนไว้อย่างชัดเจน โดยมีกรอบการดำเนินงานที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ดังนี้
1. ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
2. การใช้ทรัพยากรที่มีความยั่งยืน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ 4. มีการบริหารให้วัตถุดิบหมุนเวียน โดยบริษัทมีส่วนแบ่งการขาย เรซิ่น (Resin) ผลิตภัณฑ์เคลือบพื้นผิวเป็น 10% ของโลก ใช้งานกับ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้ บริษัทมีหลักการทำงานที่ว่าด้วยความพยายามที่จะทำงานร่วมกับหลายองค์กรเพื่อจะให้ผลิตภัณฑ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบพื้นฐานที่มาจากพืช รวมถึงวัสดุรีไซเคิลจากขวดพลาสติก และวัสดุอื่นๆ ที่รีไซเคิลได้
"อย่างเรซิ่น 1 กิโลกรัม ปล่อยคาร์บอน 5 กิโลกรัมคาร์บอน จึงต้องจับมือซับพลายต่างๆ ในการร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนด้วย รวมถึงสร้างวิธีที่ดีที่สุด และสร้างมาตรฐาน เพื่อทำงานร่วมกัน และไปสู่เป้าหมายเดียวกัน"
โดยปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จว่าด้วยความยั่งยืน ประกอบด้วย 1.ปัจจัยภายในบริษัท 2.ความร่วมมือกับซัพพลายเชน 3.ความร่วมมือกับบริษัทคู่แข่งเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
สำหรับแนวทางในปีหน้ากำหนดจะเพิ่มความพยายามอีกหลายๆ อย่างเพื่อก้าวเข้าสู่เป้าหมายให้มากขึ้นเป็นขั้นบันได เช่น ปี 2030 ลดการปล่อยคาร์บอน 23% และลดเพิ่มเป็น 30% ขณะนี้ได้ปรับใช้พลังงานหมุนเวียนที่สัดส่วน 45% ตั้งเป้าหมายปี 2024 อยู่ที่ 50% และ ปี 2030 ใช้พลังงานหมุนเวียน 80% รวมถึงปรับโปรไฟล์บริษัทให้เป็นบริษัทเพื่อความยั่งยืนให้มากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
คีธ วิกกินส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Econic Technologies (Econic) บริษัทสัญชาติอังกฤษ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโพลิเมอร์ ให้เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน (Polyurethane) อาทิ โฟม
สารเคลือบป้องกัน สารผนึก และสารยึดติด กล่าวว่า การลดก๊าซคาร์บอนเป็นส่วนสำคัญมากในการทำธุรกิจในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกันก็ต้องทำผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าด้วย
ยกตัวอย่างการใช้นวัตกรรมเน้นการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเปลี่ยนค่าใช้จ่ายให้กลายเป็นคุณค่าในการผลิต เช่น คาร์บอนสามารถเปลี่ยนโมเลกุลให้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งคาร์บอนที่ผ่านกระบวนการนับเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปอีกด้วย
"ในอนาคตการใช้วัตถุดิบที่มีความยั่งยืนจะเพิ่มมากขึ้น ต้องมีการเปรียบเทียบวัสดุทั่วโลก และท้องถิ่น รวมถึงร่วมจับมือกับซับพลายเชน เพื่อตอบสนองความต้องการทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน ทำให้วิสัยทัศน์ทางธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์เดิมหรือมีคุณภาพที่ดีขึ้น และก็ต้องทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
ประสบการณ์จากซีอีโอด้านการผลิตที่บ่งบอกถึงแนวทาง และอุปสรรคจากการทำงานซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนให้การทำงานเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเปลี่ยนมาใช้ระบบคลาวด์จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 90% และใช้ Artificial intelligence (AI) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะทำให้ได้ผลผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดย
กรอบการทำงานของไมโครซอฟท์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน
ความท้าทายใหม่ ว่าด้วยความยั่งยืน จะนำไปสู่กระบวนการคิดใหม่ ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตใหม่ ๆ ที่ทุกขั้นตอนต้องคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายนั่นคือ “ความยั่งยืน” วงจรของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนสู่ กำลังแก้ไขโจทย์ของตัวเองเพื่อประโยชน์โดยรวมของทุกคนในสังคม และในโลก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566