จอดป้ายประชาชื่น : เศรษฐกิจไทยฟื้นหรือยัง?
หลังเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบรุนแรงจนจีดีพีปี 2563 หดตัวถึง 6.1% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า ปัจจุบันกลับมาขยายตัวให้แดนบวกได้แล้ว
แต่ตัวเลขการขยายตัวยังคงโตต่ำ โดยจีดีพีปี 2564 โตเพียง 1.6% จีดีพีปี 2565 โต 2.6% ส่วนปี 2566 ไตรมาสที่ 3 โตเพียง 1.5% รวม 3 ไตรมาสก็โตเพียง 1.9% และโค้งสุดท้ายนี้ เหลืออีกเพียง 1 เดือนนิดๆ ต้องลุ้นว่าจะช่วยดันให้ จีดีพีทั้งปี 2566 โตได้ 2.5-2.7% ตามที่หลายฝ่ายคาดหรือไม่
ดังนั้น รัฐบาลเศรษฐา 1 จึงใช้เหตุของเศรษฐกิจที่โตต่ำเป็นหนึ่งในปัจจัยเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการใหญ่ อย่างดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า น่าเป็นห่วงมาก นี่คือวิกฤตเศรษฐกิจไทย
กลับกันฝั่งนักวิชาการกลับยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤต กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวแล้ว ไม่ควรไปกระตุ้นมากนัก แต่จีดีพีที่โตต่ำต้องแก้ที่โครงสร้างแทน ซึ่งรัฐบาลไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่
หากค้นดูไส้ในของจีดีพีไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงจะพบว่า สิ่งที่ฉุดรั้งมากที่สุดคือเรื่องการบริโภคของรัฐ ที่หดตัว 4.9% และการลงทุนของรัฐบาล หดตัว 2.6% เนื่องจากงบประมาณล่าช้าอย่างมาก รวมทั้งการส่งออกหดตัว -2% จากปัจจัยภายนอก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกผันผวน
ขณะที่ปัจจัยที่ขยายตัวได้ คือ การบริโภคภาคเอกชน โต 8.1% และการลงทุนภาคเอกชน โต 3.1% อาจเป็นหลักฐานว่าการบริโภคภายในประเทศกลับมาแล้วจริงๆ ไม่จำเป็นต้องกระตุ้น
ประชาชนควรจะฟังใครดี เมื่อข้อมูลเศรษฐกิจชวนสับสนขนาดนี้!!
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566