ประเทศไหนใช้มาตรการ CBAM คุมเข้มสินค้าปล่อยคาร์บอน
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่จัดขึ้น ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 โดยครั้งนี้ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย เข้าร่วมกับผู้นำโลกกว่า 200 ประเทศ
เป้าหมายสำคัญคือการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่สานต่อมาตั้งแต่เมื่อครั้งประกาศไว้ในการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ เมื่อปลายปี 2564 ว่า ปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” ต่อเนื่องด้วยการประชุม COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ประเทศอียิปต์
การประชุมก็ยังคงติดตามเป้าหมายร่วมกันที่จะจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ให้ได้ภายใน ค.ศ. 2100 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ไฮไลต์สำคัญ คือ การเรียกร้องจัดตั้งกองทุนในการชดเชยความสูญเสียและเสียหายให้กับกลุ่มประเทศเล็กที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าจะสรุปได้อย่างไร
แน่นอนว่าเป้าหมาย Net Zero เป็นแรงกดดันที่ทำให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการ “เพิ่มมาตรการทางการค้า” ทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี เพื่อสกัดสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต
โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2565 มีการเริ่มออกมาตรการราคาคาร์บอน (carbon pricing instruments) มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ carbon tax หรือมาตรการทางภาษี และมาตรการนำระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System หรือ ETS) ใน 47 ประเทศทั่วโลก และในปี 2567 เชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ของแต่ละประเทศจะมีความเข้มข้นมากขึ้น
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมการใช้มาตรการสกัดสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้ทยอยออกมาดังนี้ เริ่มจาก “สหภาพยุโรป” ที่ใช้แผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) หรือ แผนยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรป เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ภายในปี 2573 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2593
โดยเริ่มบังคับใช้ข้อตกลงชั่วคราว ตามมาตรการกับสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า รายงานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยให้เวลาเปลี่ยนผ่าน 2 ปี ก่อนที่จะเริ่มกำหนดมาตรการ CBAM อย่างสมบูรณ์ โดยให้ผู้นำเข้า EU ได้ปรับตัวจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนั้น ผู้นำเข้าจะมีหน้าที่รายงานข้อมูลรายไตรมาส อาทิ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (embedded emission) ซึ่งจะถูกนำไปรวบรวมและวิเคราะห์กำหนดมาตรการ CBAM ในวันที่ 1 มกราคม 2569
ด้าน “นางอารดา เฟื่องทอง” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่ถูกบังคับใช้ CBAM เป็นสินค้าไทยส่งออกไปอียูสัดส่วนไม่สูงมากนัก ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีกระบวนการผลิตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ค่อนข้างต่ำ มาตรการ CBAM จึงไม่เป็นอุปสรรค
แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ได้เพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องจัดทำบัญชีคาร์บอนและการขอใบรับรอง CBAM certificate ส่วนสินค้าปุ๋ย ซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ไทยส่งออกไป EU น้อยมาก จึงมิค่อยได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
สหรัฐใช้ BCA ปี’67 :
ขณะที่ “นางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า นับตั้งแต่ที่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันเข้าบริหารประเทศ เมื่อปี 2564 มีการเสนอร่างรัฐบัญญัติมาตรการปรับราคาก่อนข้ามพรมแดนอย่างน้อย 4 ฉบับ เข้าสู่กระบวนการพิจารณา
ซึ่งขณะนี้ 2 ใน 4 ร่างรัฐบัญญัติ (the Fair, Affordable, Innovative and Resilient (FAIR) Transition and Competition Act (S.2378) และ the Clean Competition Act) ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ตกไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566
เหลือเฉพาะร่างรัฐบัญญัติ the Providing Reliable, Objective, Verifiable Emission Intensity and Transparency (PROVE IT) Act และร่างรัฐบัญญัติ the Foreign Pollution Fee Act ซึ่งทั้ง 2 ฉบับมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงกัน มุ่งควบคุมการนำเข้าสินค้ากลุ่มที่เป็นสาเหตุในการปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนในปริมาณมาก ประมาณ 200 รายการ
โดยปัจจุบันสถานะของร่างรัฐบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ยังอยู่ในขั้นตอนของการเสนอต่อวุฒิสภา ก่อนส่งต่อไปยังสภาคองเกรส มีความเป็นไปได้ที่จะถูกชะลอหรือตก ตามวาระสภาคองเกรสที่สมัยปัจจุบันจะสิ้นลงในต้นเดือนมกราคม 2568
เนื่องจากสหรัฐจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 เนื่องจากการพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีที่รุนแรงกับสินค้าในกลุ่มที่วัตถุดิบ อาจจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมภายในห่วงโซอุปทาน ซึ่งนับว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ เดือนพฤศจิกายน 2567
“หากใช้มาตรการด้านการค้าที่รุนแรงอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ปัจจุบันยังคงมีความเปราะบาง และประสบปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ฝ่ายรัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังในขณะนี้ เพื่อเลี่ยงไม่ให้กระทบกลุ่มผู้ประกอบการภายในประเทศ”
รายงานข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า “ออสเตรเลีย” ได้ประกาศว่าอยู่ระหว่างพิจารณาจะนำมาตรการที่คล้ายกับ CBAM ของอียูมาใช้ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศกับคู่แข่งจากต่างชาติที่ไม่ได้มีมาตรการเข้มงวดเรื่องนี้
โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ออสเตรเลียได้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม กำหนดให้อุตสาหกรรมหรือโรงงานขนาดใหญ่ในออสเตรเลีย ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1 แสนตันต่อปี ต้องจัดทำเป้าหมาย (baselines) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้ได้ 43% ภายในปี 2573
และเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และซีเมนต์ คาดว่าจะทราบผลการพิจารณาภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567
ญี่ปุ่น ติดฉลากคาร์บอน :
“ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2564 ได้ประกาศยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy Through Achieving Carbon Neutrality in 2050) สะท้อนท่าทีว่า การแก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่ได้เป็นภาระต้นทุน แต่เป็นโอกาสที่จะดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ล่าสุดกำลังดำเนินโครงการนำร่องติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด เพื่อสื่อสารความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของเกษตรกรและผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค
จีนเปิดตลาดคาร์บอน :
ด้าน “จีน” ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2613 โดยจัดตั้ง “ตลาดคาร์บอนเครดิต” ระดับประเทศขึ้น เพื่อเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับชาติ (National Carbon Trading Market) ในปี 2021 (2564) เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจและสินค้าจีนไม่ถูกกีดกันจากข้ออ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม
ซึ่งในช่วงเวลาเพียงปีเดียว ตลาดนี้สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตรวม 194 ล้านตัน มีรายได้เกือบ 8,500 ล้านหยวน หรือประมาณ 45,635.93 ล้านบาท เลยทีเดียว
สิงคโปร์-ไทย เร่งเครื่อง :
“สิงคโปร์” ประเทศแรกในอาเซียนที่นำมาตรการทางภาษีและมาตรการทางกฎหมายมาใช้บังคับ จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศในประเทศ ภายใต้ชื่อรัฐบัญญัติภาษีคาร์บอน (Carbon Pricing Act) โดยผู้ที่อยู่ในตลาดทุกรายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
โดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดอัตราภาษีคาร์บอนและเรียกเก็บภาษีจากสถานประกอบการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณสูง พร้อมทั้งให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซและมีการติดตามผลการปล่อยก๊าซอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมและกำกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ คาดว่าอัตราภาษีคาร์บอนในสิงคโปร์จะขยับขึ้น เป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2) ในปี 2026-2027 และจะขึ้นเป็น 50-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตัน CO2 ภายในปี 2030 โดยกำหนดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 25,000 ตันต่อปีขึ้นไป
ซึ่งจะครอบคลุมรายใหญ่ 30-40 ราย อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า และโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผู้ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสัดส่วน 80% ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมดของประเทศ
ปิดท้ายสำหรับประเทศไทย ที่มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการกำกับดูแลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขณะนี้มีภาคเอกชนของไทยเองกว่า 44 บริษัท เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่รับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และยังมีการรวมกลุ่มกันโดยภาคเอกชนดำเนินการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในนามเครือข่าย Carbon Markets Club ซึ่งนำโดย บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น
ด้านการแข่งขันในเวทีโลกนั้น “นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย ภายใต้ชื่อ BCG to Carbon Neutrality โดยมีเป้าหมายจะผลักดันผู้ประกอบการ BCG Heroes เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปี 2567 มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้บีซีจีโมเดลในการสร้างโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 ธันวาคม 2566