10 ธันวาคม วันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day) สิทธิที่ติดตัวมากับทุกคน
ความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดกับมนุษยชาติ ทำให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน นำไปสู่การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ต่อมาจึงได้ถือเอาวันที่ 10 ธ.ค.ของทุกปี เป็น "วันสิทธิมนุษยชนสากล"
เนื่องใน วันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2566 นี้ นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มี สารจากประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื้อหาระบุว่า
“สิทธิมนุษยชน” คือสิทธิที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน เป็นสิทธิธรรมชาติที่ไม่มีใครพรากไปจากเราได้ มีความเป็นสากล ไม่มีพรมแดน และไม่แบ่งแยกด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ศาสนา ภาษา เผ่าพันธุ์ ทรัพย์สิน กำเนิด สถานะ หรือความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นใด
ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติรับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) ปฏิญญาดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่สุดของโลก ที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ จากนั้นเป็นต้นมา ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถูกนำไปใช้เป็นรากฐานของการวางระบบกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนแต่ละประเทศ ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้วมากกว่า 500 ภาษาทั่วโลก
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยปัจจุบัน กสม. มุ่งขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและดัชนีสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล (International Human Rights Day) 10 ธันวาคม ประจำปี 2566 กสม. ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยร่วมกันผลักดันให้หลักสิทธิมนุษยชนสากลนี้สอดแทรกอยู่ในทุกมิติของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่สังคมที่เคารพในศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน
30 ข้อแห่งเนื้อหา ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน :
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่รับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาตินั้น ได้กำหนดเอาไว้ว่า
(1)ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม :
มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ
(2)ไม่แบ่งแยก :
ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใดอาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด
(3)สิทธิในการมีชีวิต :
ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล
(4)ไม่ตกเป็นทาส :
บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาสหรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ห้ามความเป็นทาสและการค้าทาสทุกรูปแบบ
(5)ไม่ถูกทรมาน :
บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้
(6)ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย :
ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหน ว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย
(7)เท่าเทียมกันตามกฎหมาย :
ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว
(8)สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย :
ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอันมีประสิทธิผลจากศาลที่มีอำนาจแห่งรัฐต่อการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(9)ไม่ถูกคุมขังโดยพลการ :
บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
(10)ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม :
ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน
(11)เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน :
11.1)ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี
11.2)บุคคลใดจะถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาใดอันเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นใดอันมิได้ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่ได้กระทำการนั้นไม่ได้และจะกำหนดโทษหนักกว่าที่บังคับใช้ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาญานั้นไม่ได้
(12)สิทธิความเป็นส่วนตัว :
บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัยหรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศ และชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองของกฎหมายจากการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น
(13)เสรีภาพในการเดินทาง :
13.1)ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ
13.2)ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใด รวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน
(14)สิทธิที่จะลี้ภัย :
14.1)ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหาและได้ที่ลี้ภัยในประเทศอื่นจากการประหัตประหาร
14.2)สิทธินี้จะยกขึ้นกล่าวอ้างกับกรณีที่การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นโดยแท้ จากความผิดที่มิใช่ทางการเมืองหรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้
(15)สิทธิที่จะมีสัญชาติ :
15.1)ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง
15.2)บุคคลใดจะถูกเพิกถอนสัญชาติของตนตามอำเภอใจ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของตนไม่ได้
(16)เสรีภาพในการแต่งงาน :
16.1)บรรดาชายและหญิงที่มีอายุครบบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะทำการสมรสและก่อร่างสร้างครอบครัว โดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติหรือศาสนา ต่างย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรสและขาดจากการสมรส
16.2)การสมรสจะกระทำกันโดยความยินยอมอย่างอิสระ และเต็มที่ของผู้ที่จะเป็นคู่สมรสเท่านั้น
16.3)ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคม และย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ
(17)สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน :
17.1)ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเอง และโดยร่วมกับผู้อื่น
17.2)บุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจไม่ได้
(18)เสรีภาพในการนับถือศาสนา :
ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อถือ ของตนในการสอน การปฏิบัติ การสักการบูชา และการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพัง หรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล
(19)เสรีภาพในการแสดงออก :
ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน
(20)เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ :
20.1)ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุม ร่วมประชุมและการตั้งสมาคมโดยสันติ
20.2)บุคคลใดไม่อาจถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งได้
(21)การมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ :
21.1)ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตนโดยตรงหรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ
21.2)ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศตนโดยเสมอภาค
21.3)เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทาง การเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นการออกเสียงอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และต้องเป็นการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระในทำนองเดียวกัน
(22)การได้รับการดูแลและคุ้มครองจากรัฐ :
ทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมมีสิทธิในหลักประกันทางสังคม สิทธิในการบรรลุถึงซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม อันจำเป็นยิ่งสำหรับศักดิ์ศรีของตนและการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ผ่านความพยายามแห่งชาติและความร่วมมือระหว่างประเทศและตามการจัดการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ
(23)สิทธิในการทำงาน :
23.1)ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน
23.2)ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่เท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด
23.3)ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม และเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย
23.4)ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อความคุ้มครองแห่งผลประโยชน์ของตน
(
24)สิทธิในการพักผ่อน :
ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาทำงานตามสมควรและวันหยุดเป็นครั้งคราว โดยได้รับค่าจ้าง
(25)คุณภาพชีวิตที่ดี :
25.1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยการดูแลรักษาทางแพทย์ และบริการทางสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกัน ยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่น ในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน
25.2)มารดาและเด็กย่อมมีสิทธิที่จะรับการดูแลรักษาและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
(26)สิทธิในการศึกษา :
26.1)ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การประถมศึกษาจะต้องเป็นการบังคับ การศึกษาทางเทคนิคและวิชาอาชีพจะต้องเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับที่สูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม
26.2)การศึกษาจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และการเสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษาจะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรมและมิตรภาพระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติหรือศาสนาทั้งมวล และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
26.3)ผู้ปกครองย่อมมีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกประเภทการศึกษาให้แก่บุตรของตน
(27)การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม :
27.1)ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชนที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะและมีส่วนในความรุดหน้าและคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์
27.2)ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรมและทางวัตถุ อันเป็นผลจากประดิษฐกรรมใดทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปกรรมซึ่งตนเป็นผู้สร้าง
(28)สันติภาพระหว่างประเทศ :
ทุกคนย่อมมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นกรอบให้บรรลุสิทธิและอิสรภาพที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้อย่างเต็มที่
(29)เคารพสิทธิผู้อื่น :
29.1)ทุกคนมีหน้าที่ต่อชุมชน ซึ่งการพัฒนาบุคลิกภาพของตนโดยอิสระและเต็มที่ จะกระทำได้ก็แต่ในชุมชนเท่านั้น
29.2)ในการใช้สิทธิและอิสรภาพแห่งตน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเพียงเท่าที่มีกำหนดไว้ตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อวัตถุประสงค์ของการได้มาซึ่งการยอมรับและการเคารพสิทธิและอิสรภาพอันควรของผู้อื่น และเพื่อให้สอดรับกับความต้องการอันสมควรทางด้านศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย
29.3)สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ ไม่อาจใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ว่ากรณีใดๆ
(30)ไม่มีใครเอาสิทธิเหล่านี้ไปจากเราได้ :
ไม่มีบทใดในปฏิญญานี้ที่อาจตีความได้ว่า เป็นการให้สิทธิใดแก่รัฐ กลุ่มคน หรือบุคคลใดในการดำเนินกิจกรรมใด หรือการกระทำใด อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพใดที่กำหนดไว้ ณ ที่นี้
ข้อมูล : สหประชาชาติ (UN) / สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / กรมประชาสัมพันธ์
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 10 ธันวาคม 2566