"แพลนต์เบส" อนาคตไกล แนวโน้ม B2B แรง-ส่งออก สดใส
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้การเติบโตของ "แพลนต์เบส" (Plant-Based Food) อาจจะดูไม่หวือหวานัก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนนี้ (ประมาณปี 2564) ที่ แพลนต์เบส เริ่มบูมในเมืองไทย ที่มีภาพของผู้ประกอบการหลายรายได้ทยอยส่งเมนู แพลนต์เบส ออกมาทำตลาดกันอย่างคึกคัก
แต่ด้วยแรงกัดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย บวกกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคจับจ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดโปรตีนทางเลือกไม่สามารถที่จะเติบโตได้ตามการคาดการณ์ โดยก่อนหน้านี้ (2565) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ตลาดนี้จะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 4,100 ล้านบาท และเติบโตราว ๆ 5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะโตถึง 8%
ล่าสุดด้วยกระแสความใส่ใจในสุขภาพที่มีมากขึ้น บวกกับภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัว ผู้ประกอบการแพลนต์เบสทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์จากต่างประเทศ เริ่มกลับมาแอ็กทิวิตี้มากขึ้นอีกครั้ง
แพลนต์เบสกลับมาคึกคัก :
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ แพลนต์เบส หลาย ๆ แบรนด์ได้กลับมามีความเคลื่อนไหวทางการตลาดอีกครั้ง หลังจากที่ชะลอแผนการทำตลาดมาระยะหนึ่ง โดยเริ่มมีความเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเทศกาลกินเจเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการทำกิจกรรมทางการตลาดหลากหลายรูปแบบทั้งในแง่ของการเปิดบูทชงชิมและแนะนำสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต
และตอนนี้ก็มีหลาย ๆ แบรนด์ที่มีการทยอยจัดโปรโมชั่น ลดราคาพิเศษ ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ การทำตลาดร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการร่วมกับร้านอาหารมังวิรัติ ร้านอาหารวีแกน ที่เป็นช่องทางจำหน่ายที่สำคัญ ในการนำเสนอเมนูใหม่ ๆ จากแพลนต์เบสเป็นระยะ ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองต่างจังหวัด
B2B-ส่งออก อนาคตไกล :
“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการ บริษัท วีฟู้ดส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายแพลนต์เบส ภายใต้แบรนด์ มอร์ มีท อัพเดตภาพรวมของตลาดแพลนต์เบส โปรตีน ว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติและให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างมาแรงในปี 2 ปีหลังนี้
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเติบโตของตลาดแพลนต์เบส โปรตีน ที่ผ่านมาอาจจะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง และมีการเติบโตที่ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากการมีโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากโปรตีนที่ทําจากถั่วเหลือง ยังมีโปรตีนจากแมลง เป็นต้น
ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความรู้สึกว่า อาหารในกลุ่มนี้อาจจะยังไม่อร่อย เนื้อสัมผัสไม่เหมือนของจริง รวมถึงเงื่อนไขในเรื่องราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป นอกจากนี้ แพลนต์เบส เป็นอาหารทางเลือก ที่ผู้บริโภคอาจจะไม่ได้กินทุกมื้อ แต่กินเพื่อดูแลสุขภาพ โดยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง ส่วนใหญ่เป็นในลักษณะเป็นการกินแบบยืดหยุ่น Flexitarain
สำหรับผลิตภัณฑ์ มอร์มีท More Meat ของบริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด ที่ทำตลาดอยู่ หลัก ๆ จะโฟกัสอยู่ 2 ตัว คือ ลาบทอด กับทอดมันข้าวโพดเนื้อปู เป็นสินค้าที่ขายดี จากช่วงแรก ๆ ที่บริษัทออกหลายตัวทั้งกะเพรา และต้มยำ
และจากการเติบโตที่อาจจะไม่ได้หวือหวานักในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการคงต้องปรับตัว ในแง่ของการมองหาตลาดทั้งในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป หรือ B2C และกลุ่มที่เป็นร้านอาหารวีแกน ร้านอาหารมังสวิรัติ รวมทั้งร้านอาหาร ๆ ทั่วไปที่ต้องการมีเมนูแพลนต์เบสเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า
“อีกตลาดหนึ่งที่มีอนาคตสดใสก็คือ การส่งออก เพราะหลาย ๆ ประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในเอเชียหลาย ๆ ประเทศ ก็รู้จักและคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสอยู่แล้ว และมีพฤติกรรมการบริโภคแพลนต์เบสเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศไทย
โดยส่วนตัวมองว่าตลาดที่เป็นร้านอาหารจะเติบโตมากขึ้น ยิ่งหากนักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น คนออกไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ร้านอาหารพวก HORECA น่าจะมีโอกาสเติบโต ฉะนั้นตรงนี้น่าจะมีโอกาสได้โตมากขึ้นในกลุ่มที่เป็น Food Service”
QSR บุกแพลนต์เบส :
จากกระแสความตื่นตัวในเรื่องของแพลนต์เบสที่เกิดขึ้น หากย้อนกลับไปจะพบว่า ที่ผ่านมาร้านอาหารชื่อดังหลาย ๆ ค่ายก็ได้เพิ่ม แพลนต์เบส เข้ามาเป็นเมนูประจำร้าน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่น ซิซซ์เล่อร์ ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ที่ได้เริ่มทดลองตลาดเมนูแพลนต์เบส เอาใจคนรักสุขภาพ และได้กำหนดเป็นเมนูประจำ มีให้บริการทั้งการนั่งรับประทานที่ร้านและสั่งผ่านดีลิเวอรี่
ขณะที่ เคเอฟซี (ยัม เรสเตอรองตส์) ก็มีการเสิร์ฟเมนู แพลนต์เบส ไก่ป๊อปแพลนต์เบส และข้าวยำไก่ป๊อปแพลนต์เบสในร้านเคเอฟซี กรีนสโตร์ สาขาอาคารแสงโสม และสาขาวนชัย ดีโป้ ฉะเชิงเทรา เป็นการตอบรับเนื้อจากพืชกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น เช่นเดียวกับ เดอะ คอฟฟี่ คลับ ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ได้เพิ่มเบอร์เกอร์ แพลนต์เบส ลงในเมนู
โดยปัจจุบันหลาย ๆ ค่ายยังมีเมนูแพลนต์เบสจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น เดอะ คอฟฟี่คลับ และ ซับเวย์ เป็นต้น
ปัจจุบันนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสหลากหลายเมนู ทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง Ready to Cook อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน Ready to Eat จากผู้ผลิตหลาย ๆ รายทั้งไทยและต่างประเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
เช่น Meat Zero (เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ), VG for love (ซีพีแรม), More Meat (มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค), Meatoo (สยาม คานาเดี่ยน), Frist Pride ของไทยสัน ฟู้ดส์, Meat Avatar (มีท อวาตาร), Emborg (ดีเคเอสเอช) Alt. (เอ็นอาร์พีที) Let’s Plant Meat (นิธิ ฟู้ด) เป็นต้น
อีกด้านหนึ่งผู้ผลิตแพลนต์เบสก็เปิดเกมรุกด้วยการเจาะตลาด B2B เช่น Frist Pride จับมือกับร้านโอ้กะจู๋, เดอะ คอฟฟี่ คลับ และซับเวย์ เช่นเดียวกับ Meat Zero ซัพพอร์ตสินค้าให้ เคเอฟซี, More Meat จับมือกับบริษัท วีแกนเนอรี ร้านอาหารวีแกนชื่อดัง
อาจจะกล่าวได้ว่าขณะนี้ ตลาดแพลนต์เบสยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก โดยคาดว่าในระยะอีก 3-5 ปี ตลาดนี้จะเติบโตอย่างรวดร็วมากขึ้น ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ตลาดแพลนต์เบสเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็คือ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 25 ธันวาคม 2566