จีนหา "จุดสมดุล-พยุงเศรษฐกิจ" หลัง "การทูตนักรบหมาป่า" ไม่ได้ผล
การทูตในแนวทางนักรบหมาป่าที่หายหน้าไปจากสาธารณะชนอย่างไร้คำตอบ และแพนด้าที่ถูกนำตัวกลับประเทศ บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทูตของรัฐบาลจีนได้อย่างชัดเจน
จากความเห็นที่ว่า “มีความเป็นไปได้ที่กองทัพสหรัฐจะนำไวรัสโควิด-19 เข้าไปยังอู่ฮั่น” และ “การเหยียดเชื้อชาติชนกลุ่มน้อยในสหรัฐเป็นโรคเรื้อรังของสังคมอเมริกัน” ผลักดันให้ “จ้าว ลี่เจียน” อดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นหนึ่งใน “นักการทูตนักรบหมาป่า” ที่เกรี้ยวกราดที่สุดของจีน
แม้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักการทูตตะวันตก แต่วาทะกรรมอันก้าวร้าวของจ้าวได้ทำให้เขามีผู้ติดตามในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอ็กซ์เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.9 ล้านบัญชี และนักการทูตจีนคนอื่น ๆ ก็ปรับใช้การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแบบเขาบ้าง
แต่ช่วงต้นเดือน ม.ค. จ้าวก็ถูกลดบทบาทต่อสาธารณะอย่างกะทันหัน โดยถูกย้ายไปดูแลพรมแดนทางบกและทางทะเล
ของกระทรวงการต่างประเทศ นับแต่นั้นก็ไม่ค่อยเห็นเขาออกสื่อและไม่โพสต์ข้อความใด ๆ ลงเอ็กซ์อีก
“ผศ.ดร.ชง จาเอียน” อาจารย์สาขาวิชานโยบายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า นักรบหมาป่ากำลังถูกผลักไสไล่ส่ง
นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์การทูตที่มีความอ่อนโยนมากกว่านั่นก็คือ “แพนด้า” โดยปีนี้แพนด้าจีนในสวนสัตว์ทั่วประเทศตะวันตกเดินทางกลับจีนโดยไร้แผนแทนที่แพนด้าตัวเดิม
“เชายู หยวน” นักวิชาการด้านการทูตจีนจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส บอกว่า นักรบหมาป่าที่หายหน้าไปจากสาธารณะและแพนด้าที่กลับประเทศ บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทูตของปักกิ่ง
“ตอนนี้พวกเขาพยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างความแข็งและความอ่อนโยนอยู่” หยวนกล่าว
การทูตนักรบหมาป่า :
การทูตนักรบหมาป่า มีที่มาจากภาพยนตร์จีนเรื่อง “Wolf Warrior 2” ซึ่งเกี่ยวข้องกับอดีตทหารจีนที่อาสาไปยังประเทศในแอฟริกาที่เกิดสงครามเพื่อไปช่วยพลเมืองจีนที่ถูกขังระหว่างการต่อสู้ของกลุ่มกบฏและกองกำลังรัฐบาล
อาจารย์ชงเผยว่า การทูตนักรบหมาป่าเป็นชนวนความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ จากการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮกเมื่อปี 2562 ว่า การอ้างสิทธิทางทะเลที่กว้างขวางของจีนในข้อพิพาทน่านน้ำไม่มีกฎหมายรองรับ
ในบริบทนั้น ชงบอกว่า การทูตนักรบหมาป่าเป็นแนวทางที่แสดงให้คนในและนอกประเทศเห็นถึงความเด็ดเดี่ยว และเพื่อสื่อว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความมุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
นักการทูตจีนในช่วงหลายสิบปีก่อนขึ้นชื่อว่าเป็นการทูตที่ระมัดระวังและมีความเป็นราชการมากกว่า แทบไม่เข้าร่วมกับสื่อต่างชาติหรือโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย แต่ทูตนักรบหมาป่าจะออกมาปกป้องรัฐบาลปักกิ่งอย่างโจ่งแจ้งต่อคำวิพากวิจารณ์ของต่างชาติ และใช้วาทศิลป์เชิงรุกโจมตีผ่านสื่อต่าง ๆ ของตนเอง เพื่อต่อต้านกองกำลังที่ไม่เป็นมิตร
หยวน มองว่าการทูตนักรบหมาป่าเป็นเรื่องที่ต้องถูกตำหนิ
“วิธีการทางการทูตเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ตะวันตกมีความรู้สึกเชิงลบมากขึ้น การทูตนักรบหมาป่า อาจถูกมองว่าเป็นความท้าทายต่อค่านิยมและหลักการที่ชาติตะวันตกหลายประเทศสนับสนุน เช่น การสนทนาแบบเปิด การเคารพความสัมพันธ์ต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย และการปฏิบัติตามกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ” หยวน กล่าว
แต่ผศ.ดร.ชง มองว่า การทูตนักรบหมาป่าไม่ใช่ปัญหาสำคัญสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง ตราบใดที่วาทศาสตร์การต่อสู้สามารถช่วยข่มขู่ประเทศอื่น ๆ ให้ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ ซึ่งความพยายามทางการทูตแนวนั้น ต่อสหรัฐและเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของจีนก็ไม่เคยลดลง
วาทกรรมที่รุนแรงและการบีบบังคับทางเศรษฐกิจมุ่งโจมตีออสเตรเลียโดยตรงหลังรัฐบาลออสเตรเลียร่วมเรียกร้องสอบสวนที่มาของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อจีนถูกกล่าวหาว่าไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการระบาดในช่วงเริ่มต้น
การมุ่งเป้าโจมตีที่คล้ายกันก็เกิดขึ้นในลิทัวเนียเมื่อปี 2564 เช่นกัน เมื่อกลุ่มประเทศบอลติก อนุญาตให้ไต้หวันก่อตั้งสำนักงานผู้แทนในกรุงวีลนีอุส ภายใต้ชื่อเกาะที่ปกครองตนเอง ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
แต่กลยุทธ์ของจีนไม่สามารถบีบบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยออสเตรเลียสามารถหาตลาดสินค้าใหม่ ๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาจีนอีกต่อไป ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงลิทัวเนีย ฟ้องร้องจีนผ่านองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ด้วยข้อกล่าวหาว่า จีนมีแนวทางการค้าที่เลือกปฏิบัติ
“รัฐบาลปักกิ่งจึงตระหนักตั้งแต่นั้นมาว่าการทูตที่เกรี้ยวกราดมากขึ้นใช้ไม่ได้ผล และการตอบโต้ที่เหนือชั้นก็สร้างความกังวลใจต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนมากขึ้น”
‘เศรษฐกิจ’ เปลี่ยนทิศทางการทูต :
ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังฟื้นความสัมพันธ์กับทั้งออสเตรเลียและลิทัวเนียให้กลับมาเป็นปกติ
รัฐบาลปักกิ่งมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นกับสหรัฐนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงพบประธานาธิบดีโจ ไบเดนในซานฟรานซิสโกเมื่อเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างจากต้นปีมาก ที่สหรัฐสอยบอลลูนสอดแนมจีนร่วง เนื่องจากพบว่าลอยผ่านเข้าไปในเขตสหรัฐ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าสู่ยกตกต่ำครั้งใหม่
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การเปลี่ยนแปลงการทูตของจีนยังเกี่ยวข้องกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ด้วย
การเติบโตของเศรษฐกิจจีนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ การว่างงานของคนหนุ่มสาวก็แตะระดับสูงสุด 21.3% เมื่อเดือน มิ.ย. ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยกเลิกเผยแพร่ตัวเลขคนว่างงาน และยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนก็ขาดดุลเป็นครั้งแรกในช่วงก.ค.-ก.ย. 2566 นี้
ชงบอกว่า “ตอนนี้ การเข้าถึงการลงทุนจากและเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการเติบโตเศรษฐกิจจีน” ขณะที่หยวนย้ำว่า "เศรษฐกิจจีนไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง แผนเศรษฐกิจระดับโลกของจีนต้องใช้สไตล์การทูตที่เกรี้ยวกราดน้อยลง เพื่อช่วยลดการเผชิญหน้า”
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความการทูตลักษณะดังกล่าวจะหายไปตลอดกาล
“การทูตนักรบหมาป่าเป็นหนทางสู่จุดจบ รัฐบาลปักกิ่งหวังว่าการทูตแนวนี้จะมีประโยชน์สักวันหนึ่ง และอาจนำกลับมาใช้อีกครั้ง” ชง กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 มกราคม 2567