ตัดภาพจากปี 2023 ไปดู "เศรษฐกิจโลก" กับประเทศท็อป 10 ใน 15 ปีข้างหน้า
ณ สิ้นปี 2023 นี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของทั้งโลกรวมกันจะมีมูลค่า 104.48 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF)
อันดับขนาดเศรษฐกิจในสิ้นปี 2023 เรียงจาก 1 ถึง 10 คือ สหรัฐ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล และแคนาดา
แต่ในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือในปี 2038 “หน้าตา” ของขนาดเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไปจากปีนี้มากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าตาของประเทศที่อยู่ในท็อป 10 ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะมีการขยับเปลี่ยนแปลงกันหลายตำแหน่ง
การคาดการณ์จีดีพีโลกระยะยาวซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิจัย เซ็นเตอร์ ฟอร์ อีโคโนมิกส์ แอนด์ บิสซิเนส รีเสิร์ช (CEBR) จากสหราชอาณาจักร คาดว่า ในปี 2038 จีดีพีรวมทั้งโลกจะเพิ่มเป็นสองเท่าของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่จะตามทันประเทศพัฒนาแล้ว
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกซึ่งครองส่วนแบ่งจีดีพีโลกมาเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ จะยังคงครองอันดับ 1 ต่อไป แต่สัดส่วนเพิ่มเป็น 35.6% จากปีนี้ครองอยู่ 29.4% ขณะที่อเมริกาเหนือจะเสียส่วนแบ่งจากที่ครองอยู่ 28.1% ในปีนี้ จะลดลงเป็น 23.5% ในปี 2038 เช่นกันกับยุโรปที่ลดลงจาก 23.6% ในปีนี้เป็น 19.2% ในปี 2038 ส่วนเอเชียกลางและเอเชียใต้ก็จะมีส่วนแบ่งเพิ่มเช่นกัน โดยเพิ่มจาก 6.7% ในปีนี้ เป็น 9.3% ในปี 2038 เช่นกันกับภูมิภาคตะวันออกกลางที่จะเพิ่มจาก 5.9% ในปีนี้ เป็น 6.9% ในปี 2038
อันดับขนาดเศรษฐกิจ 10 อันดับแรกในปี 2038 ตามคาดการณ์จะเป็น จีน สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส บราซิล เกาหลีใต้ และแคนาดา ตามลำดับ
โดยมีการเปลี่ยนในอันดับ 1 จาก “สหรัฐ” เป็น “จีน” ซึ่งคาดว่าจีนจะเบียดสหรัฐตกบัลลังก์ได้ในปี 2037 ส่วนอันดับ 3 จากเยอรมนีจะกลายเป็น “อินเดีย” ขณะที่ญี่ปุ่นจะยังคงอยู่อันดับ 4 เท่ากับในปีนี้ โดยที่เยอรมนีจะร่วงลงเป็นอันดับ 5
สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะยังคงอยู่อันดับ 6 และ 7 ตามลำดับ ส่วนอันดับ 8 ซึ่งในปีนี้เป็นของอิตาลี ใน 15 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นของบราซิล ขณะที่อิตาลีจะร่วงหล่นไปจากท็อป 10 โดยมีเกาหลีใต้ เสือดุจากเอเชียกระโดดขึ้นมาติดอันดับ 9 ขณะที่แคนาดาได้รับการคาดหมายว่าจะยังคงที่อยู่ในอันดับ 10
CEBR คาดว่าสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ซึ่งตอนนี้กำลังรับผลกระทบจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) จะผ่านช่วงยากลำบากและกลายเป็น Best-Performer ของทวีปยุโรปใน 15 ปีข้างหน้า เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจอังกฤษยังคงแข็งแกร่ง
เศรษฐกิจอังกฤษจะเติบโตเร็วกว่า 4 ประเทศ “บิ๊กโฟร์” ของอียู (เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน) ทำให้ช่องว่างหรือความต่างของมูลค่าจีดีพีของสหราชอาณาจักรกับของเยอรมนีแคบลง และทำให้จีดีพีอังกฤษทิ้งห่างฝรั่งเศสมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยของเรา อันดับตามคาดการณ์จะผกผันเล็กน้อย จากปีนี้อยู่อันดับที่ 31 จะขึ้นไปสูงสุดที่อันดับ 23 ในปี 2028 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ก่อนจะตกลงไปอยู่อันดับ 26 ในปี 2033 และอันดับ 27 ในปี 2038 โดยมีปัจจัยท้าทายคือ สัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตและการเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการคาดการณ์ตามกรณีฐาน ซึ่งประเมินตามปัจจัยเสี่ยงที่มองเห็นในปัจจุบัน ยังไม่นับปัจจัยความไม่แน่นอนที่มองไม่เห็นอีกมากมาย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 ธันวาคม 2566