จีน 2024 จุดเปลี่ยนโลก New inflection Point
เสียงระฆังปีใหม่ 2024 ดังขึ้น ย้อนมองสถานการณ์โลกในอดีตและมองไปข้างหน้าในอนาคต สิ่งที่ปรากฏขึ้นไม่ว่า ณ ที่ใด ล้วนเป็นจุดสะท้อนใหม่ (New inflection point) ล้วนมีความแตกต่าง และต้องใช้ปัญญามาทำความเข้าใจกับความยุ่งเหยิงต่อโลกใบนี้
อันจุดสะท้อนนั้นเกิดขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้กติกาว่าด้วยวินัยไม่สามารถรองรับสถานการณ์ใหม่ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ โดยแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพราะการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญ มนุษย์จะสามารถอยู่รอดได้ก็เพราะการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
กรณีคือนาทีแห่งแรงเสียดทานที่รุนแรงของภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะมองผ่านสถานการณ์จุลภาค ไม่ว่าจะมองผ่านสถานการณ์มหภาค สถานะของสหรัฐเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่มติ 2720 อันเกี่ยวกับการยุติสงครามฉนวนกาซา การริเริ่มช่วยเหลือด้านมนุมษยธรรม ข้อเสนอของจีนได้รับชัยชนะ เป็นเหตุให้สหรัฐไม่สามารถใช้สิทธิ Veto ต่อไป อันเป็นจุดสะท้อนที่สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ ตั้งแต่สงครามยูเครนถึงเหตุการณ์ที่ฉนวนกาซา จึงต้องรอการแก้ไขปัญหาในปี 2024 แต่เบื้องหลังสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐไม่สามารถใช้อำนาจแบบเดิมต่อไป จึงเป็นบททดสอบ อีกทั้งต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายของจีนในเวทีสากล
หากย้อนคิดอดีต รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี บลิงเกน ได้กล่าวเป็นปริศนาว่า “ในโลกนี้จำเป็นต้องมีฐานรากแห่งกติกา” อันมีความหมายแฝงว่า ทั่วโลกจะต้องเคารพ “กติกาของสหรัฐ”
ทว่า ในความเป็นจริงคือ เบื้องหลังกติกาของสหรัฐคือ “สองมาตรฐาน” พฤติการณ์เสแสร้ง ปากว่าตาขยิบ ได้เริ่มปรากฏต่อสายตาชาวโลก เริ่มเห็นเงื่อนงำ อาทิ การลงมติในสหประชาชาติเกี่ยวกับยุติการสู้รบในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2023 นั้น แม้พันธมิตรของสหรัฐอันได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เป็นต้น ล้วนหันหลังให้สหรัฐ กลับสนับสนุนให้หยุดยิง พฤติการณ์คือลมเปลี่ยนทิศฤดูใบไม้ร่วง
โดยเลือกวิธีปฏิบัติตามเหตุการณ์ที่เป็นจริง เหตุผลคือผู้นำของประเทศตะวันตกล้วนได้รับแรงกดดันจากประชาชน จึงไม่อาจปล่อยให้อิสราเอลทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ที่อพยพหลายล้านคนอีกต่อไป เพราะได้เกินขอบเขตการป้องกันตัวไปหลายเท่า จึงไม่ยอมให้อเมริกาจูงจมูกต่อไป เหตุการณ์ลงมติในสหประชาชาติ ชัดเจนยิ่งว่า เห็นใบไม้ที่พื้นเพียงหนึ่งเดียว ก็ทราบว่าฤดูใบไม้ร่วงมาถึงแล้ว เบื้องหลังก็คือ “ไม่เอาระบบอเมริกัน” และต้องก้าวข้าม “สงครามเย็น” ไม่ยอมให้ระบบสองขั้วเข้าครอบงำอีกต่อไป
ทั้งนี้ ได้ยึดถือหลักการ “ค้นหาสัจธรรมจากความเป็นจริง” โดยยึดถือผลประโยชน์ของตนเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจที่จะกระทำการใดหรือไม่กระทำการใด อันเป็นอิสรภาพที่พึงมี
ลองพินิจให้ดี “การค้นหาสัจธรรมจากความเป็นจริง” ก็คือคำขวัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรณีน่าจะเป็นการส่งสัญญาณในเชิงสัญลักษณ์ว่า ผู้จัดระเบียบวินัยโลกต่อไปคือ “ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน”
อีกประการ 1 คือแนวคิดของจีน “ประชาคมอนาคตร่วมกัน” (Community of shared future) นับวันได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นการยืนยันถึงผลประโยชน์ร่วมกันทั่วโลก แต่ต้องเคารพซึ่งกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายใน เมื่อเปรียบเทียบกับระบอบสหรัฐ ต่างกันราวฟ้ากับดิน
เรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อไม่นานมานี้ จีนจัดฟอรั่มการริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ณ กรุงปักกิ่ง ปรากฏว่ามี 150 กว่าประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าร้อยละ 70 ของทั่วโลก ในขณะที่สหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 194 ประเทศ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดของจีนมาถูกทางแล้ว ในทางตรงกันข้ามนโยบายสหรัฐที่สนับสนุนรัฐบาลฝ่ายขวาของอิสราเอล ต้องเผชิญกับการคัดค้านต่อต้านทั้งภายในและภายนอกประเทศ
จึงสามารถกล่าวได้ว่า สหรัฐเดินทางผิดขาดไร้ที่พึ่ง เมื่อเปรียบเทียบก็จะประจักษ์ถึง “อำนาจหยิ่งยโส” ของสหรัฐนั้น ประเทศส่วนใหญ่รังเกียจและไม่ยอมร่วมด้วย
ปี 2024 มีจุดสะท้อนอีก 1 คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์คือประเด็นสำคัญที่จีนและสหรัฐน่าจะทำการแข่งขันชิงชัยอย่างรุนแรง แต่เนื่องจากจีนมีความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี มากด้วยเงินลงทุนขนาดใหญ่ คาดว่า “หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์” ของจีนน่าจะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้มากกว่า
อนึ่ง องค์กรศึกษาทางด้านเทคโนโลยีในตะวันตก เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงย้ายฐานไปยังประเทศจีน อาทิ องค์กรวิจัยเทคโนโลยีของเยอรมนีเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายช่วงชิงตลาดการค้าอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีน จึงมีความจำเป็นต้องสืบค้นความต้องการของผู้บริโภคในประเทศจีน
ส่วนกิจกรรมด้านอวกาศของจีนเป็นจุดสะท้อนใหม่อีกจุดหนึ่ง เป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจ มีสมรรถภาพพอที่จะแข่งขันกับ Space X ของสหรัฐ แม้แจ้งเกิดล่าสุด แต่ความเจริญก้าวหน้าก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหรัฐ
จุดเด่นของจีนปี 2024 อุปมาเหมือนกับอยู่ในรถด่วนขบวนใหม่ กำลังมุ่งหน้าสู้เส้นทางอันไพศาล
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 2 มกราคม 2567