เทรนด์เทคโนโลยีปี67 เอไอเพิ่มขีดการแข่งขัน
ทรนด์เทคโนโลยีปี67 เอไอเพิ่มขีดการแข่งขัน
หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ย่อมหนีไม่พ้นเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
มติชน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หนึ่งในบุคคลที่คร่ำหวอดในแวดวงไอทีของไทยมาอย่างยาวนาน ที่มาแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์ของเทคโนโลยีที่จะได้เห็นกันในปี 2567 นี้
เอไอบ็อกซ์ หากมองในภาพรวม คุณปฐมมองว่า คงหนีไม่พ้นเรื่องของ เอไอโอที (IA Of Everythings) คือการที่เราจะได้เจอกับเอไอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ในทุกอย่าง แต่สิ่งที่เริ่มเห็นเทรนด์มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และคิดว่าปี 2567 นี้จะมาแน่ๆ คือ เอไอ บ็อกซ์ (AI Box) สำหรับภาคธุรกิจขนาดเล็ก คือในอดีต ถ้าเราพูดถึงเรื่องเอไอ คนที่ลงทุนเอไอได้ ก็จะเป็นระดับใหญ่ อย่าง เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่จะเอาเอไอมาใช้ในเรื่องข้อมูล จับพฤติกรรมผู้บริโภคบ้าง
แต่บริษัทเล็กๆ คงไม่มีทาง ซึ่งเอไอบ็อกซ์จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้
ยกตัวอย่างง่ายสุด คือ เอไอบ็อกซ์ ที่จะต่อเข้ากับกล้องวงจรปิด อย่างร้านเล็กๆ ที่มีกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว ที่ปกติจะเก็บภาพคนที่เดินเข้ามาในร้านเท่านั้น แต่หากต่อเอไอบ็อกซ์นี้ ก็จะทำงานได้มากขึ้นด้วยการนำภาพเคลื่อนไหวจากกล้องมาวิเคราะห์ แทนที่จะดูว่า มีใครมาขโมยของ ก็มาใช้ตรวจนับว่ามีคนเข้าร้านมากี่คน หรือถ้ามีของตัวอย่างตั้งอยู่ ถ้าไม่อยู่แล้ว ก็แสดงว่ามีลูกค้าขโมยไปแล้ว ก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังเจ้าของร้านว่ามีของหายนั่นคือ เป็นเอไอฟังก์ชั่นพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้เลย โดยแทบไม่ต้องปรับแต่งอะไร เพียงแต่กล้องวงจรปิดที่ใช้อาจจะต้องมีความละเอียดมากพอ
เพอร์ซันนัลไลซ์ สแกมในภาพรวม เชิงสังคมทั่วไป ก็ยังหนีเอไอไม่พ้น โดยเราจะเข้าสู่ยุคที่เป็น เพอร์ซันนัลไลซ์ สแกม (personalized scam) เป็นสแกมที่ออกแบบมาเพื่อแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ คือ ในอดีตตอนที่เอไอยังไม่มี พวกที่จะมาหลอกเรา ก็จะบอกว่า โทรมาจากสรรพากร พอใช้มุขนี้บ่อยๆ คนก็รู้ทันว่า ถ้าโทรมา บอกว่าเป็นสรรพากร ก็รู้ว่าโทรมาหลอก แต่ตอนนี้ พอมีเอไอแล้ว พวกนี้ก็จะเข้าไปในโซเชียลมีเดียเรา ก็จะรู้ได้แล้วว่า เรามีพฤติกรรมแบบไหน สนใจเรื่องอะไรพอรู้ สแกม หรือการหลอกลวงเหล่านี้ ก็จะออกแบบมาโดยเฉพาะเลย ว่า คนคนนี้ ชอบอะไร เช่น ชอบการลงทุน คริปโทฯ ก็จะเจาะจงมาที่คริปโทฯเลยเพื่อหลอกลวงเรา นี่คือ เอไอ พื้นฐาน ใช้ในการอนาไลติก และตอนนี้ ดีพเฟคได้ ปลอมเสียงได้ แบบง่ายๆเป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักและระวังมากยิ่งขึ้น
คอนเน็กเต็ด คาร์ อีกเทคโนโลยีที่จะได้เห็น คือเรื่องของคอนเน็คเต็ด คาร์ (Connected Car) ซึ่งแต่เดิมเคยคาดไว้ว่าจะมาในอีก 3-4 ปีข้างหน้า แต่พอรถจีนมาจุดกระแสขึ้นมาตอนนี้ในอดีต คอนเน็กเต็ด คาร์ เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว รถรุ่นใหม่ ใช้ควบคุมผ่านแอพพ์ได้ หลายแบรนด์ อย่างพื้นฐานที่เจอ เปิดแอพพ์มา จอดรถเสร็จล็อกรถหรือยัง ถ้าเป็นเมื่อก่อน ต้องวิ่งกลับไปดู ตอนนี้ ไม่ต้องแล้ว ก็เปิดแอพพ์ดูได้เลย ถ้าลืมล็อกก็สามารถล็อกผ่านแอพพ์ได้เลยซึ่งในตลาดรถยนต์ในอดีต จะมีคอนเน็กเต็ด คาร์ อยู่ที่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ไม่ถึงครึ่ง แต่จากนี้เป็นต้นไปจะอยู่ที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์แน่นอน เพราะเป็นรถอีวี (รถพลังงานไฟฟ้า) ที่ออกมาใหม่ทุกคัน เป็นคอนเน็กเต็ด คาร์อยู่แล้ว เพื่อเชื่อมต่อกับศูนย์บริการแล้วเราจะได้เจอปรากฏการณ์ที่ รถยนต์ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มไปเรียบร้อย
การปรับตัวสู่ดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ปิดตัวกันเยอะ ทั้งเป็นผลพวงมาจากเศรษฐกิจระดับรากหญ้าที่ไม่ดี โรงงานปีหน้าถ้าไม่ปรับตัว ถ้าไม่มี Industrial Digitalization ถ้าไม่ดิจิทัลไลเซชั่น โรงงานก็จะไปไม่รอด อย่าลืมว่า รถไฟฟ้าจีนมา อุตสาหกรรมไฮเทคมา พวกนี้เป็นโรงงานดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งถ้าทำโรงงานมา 30-40 ปี ถ้าไม่เปลี่ยนอะไรเลย เครื่องจักรเดิมก็จะสู้เขาไม่ได้เลยทั้งนี้ หากเป็นเครื่องจักรแบบเดิม ข้อเสียคือ
1.เราไม่รู้สถานะเครื่อง
2.ไม่รู้ว่าจะดูแลอย่างไร และ
3.ไม่รู้ว่าเครื่องจักรจะหยุดเมื่อไหร่ ก็ได้แต่รอลุ้น
ซึ่งเรื่องพวกนี้จะง่ายมาก ถ้าเอา อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที (IoT) เข้าไปจับ ในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ก็จะได้รู้สถานะของเครื่องจักร พอรู้ก็รู้แล้วว่าจะวางแผนการผลิตเป็นอย่างไรทุกวันนี้ ถ้ารู้สถานะเครื่องจักรได้ ก็มีโซลูชั่นมากมายในเอไอ ที่จะสามารถคาดเดาได้เลยว่า เครื่องนี้จะต้องซ่อมบำรุงรักษาใหญ่เมื่อไหร่ จะมีดาวน์ไทม์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการผลิตได้ ก็ ลดต้นทุนได้มหาศาล เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้อย่างมากที่ผ่านมา ที่ไม่นำไอโอทีเข้าไปใส่ เพราะในอดีตมันแพง และคนที่รู้จริงเรื่องนี้ มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ เมืองไทยก็น้อย แต่จังหวะตอนนี้ราคาเริ่มถูก แพร่หลาย
เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนปีหน้าที่จะเจอแน่ๆ เป็นเรื่องของนามธรรม แต่เราต้องกลับมาคุยเรื่อง เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน
(Sustainable Technology) เพราะทุกบริษัทถูกคุยเรื่องของ ESG (แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน) SDG (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ซึ่งเราหนีไม่พ้น พอเราเข้าสู่ยุคเอไอ ถูกตั้งเป้าด้วยการนำเอาเอไอมาใช้ แต่ยิ่งเอาเอไอมาใช้ ก็ยิ่งใช้พลังงานมหาศาล หน่วยประมวลผลต้องใช้พลังงานอย่างมาก กินไฟเยอะมาก ยิ่งตอนนี้เราใช้เครือข่าย 5g ก็ยิ่งใช้พลังงานมากขึ้น
เราจะพบว่า ขณะที่เราต้องเพิ่มเรื่องของเทคโนโลยีที่ยั่งยืน แต่ขณะเดียวกัน เราก็ใช้พลังงานกันแบบไม่คิด
ทุกวันนี้ เรายิ่งคิดน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากการโยนโจทย์ให้เอไอคิด ในแง่พลังการประมวลผล ที่เราใช้กันอยู่นั้น มันเกินความจำเป็นเยอะมาก เพราะการแข่งขันและเชื่อได้เลยว่า พอเอาเรื่องของความเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนมา ระบบเปิดทั้งหลายที่ฟรี จะมีบทบาทมาขึ้น เช่น ลีนุกซ์ เราจะพึ่งพาระบบเปิดมากขึ้น ที่ไม่ใช่ไมโครซอฟท์ หรือแอปเปิล เพราะระบบเปิดพวกนี้ รองรับเทคโนโลยีระบบเก่าๆ ได้ และมีคนทำระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้นมาให้ใช้ ยิ่งเราลดการใช้คนลง แต่ใช้พลังจากหน่วยประมวลของเอไอมากขึ้น ก็จะนำมาซึ่งเรื่องของช่องว่างทางดิจิทัล หรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (ดิจิทัล ดีไวด์-Digital Divide) ในการทำงานก็กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่มีความพร้อม ก็ยังเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมอยู่ดี แต่จะมีอนาคตที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะใช้เครื่องมือเป็น
ส่วนคนระดับรอง อย่างบริษัทที่ไม่เปิดกว้างให้ใช้ กลัวพนักงานใช้แล้วทำข้อมูลหลุดรั่วเข้าไปในเอไอ ก็ห้ามใช้ กลายเป็นว่าพนักงานก็ยิ่งง่อยเปลี้ยเสียขา ความสามารถในการแข่งขันลดลง โรงเรียนก็เหมือนกัน บางแห่งกลัวเด็กเอาไปใช้ทำการบ้าน แต่บางสถาบันสนับสนุน แล้วหาวิธีตรวจจับเอไอเอง เอไอจะเพิ่มช่องว่างด้านดิจิทัลทั้งในที่ทำงานใหญ่มหาศาล เมืองไทยก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ความเก่งในการประยุกต์ใช้เอไอ เมื่อเทียบกับเวียดนาม ไม่พูดถึงมาเลเซียกับสิงคโปร์ที่อยู่อีกขั้นหนึ่งไปแล้ว ไทยเราถือว่าแย่กว่าเวียดนามในการแข่งขันด้านเอไอ ไม่ว่าจะระดับคนทำงาน หรือเด็กในมหาวิทยาลัย
ทุกอย่างเป็นแพลตฟอร์ม เรื่อง แพลตฟอร์ม ปีหน้าจะมีแพลตฟอร์ม เกิดใหม่เยอะมาก เพราะไล่ดูเอ็นเตอร์ไพรส์ทุกอันถูกตั้งเป้าเคพีไอ ให้ไปทำแพลตฟอร์มของตัวเองหมด ก็จะมีแพลตฟอร์มเข้าสู่ตลาดเต็มไปหมด บางอันก็จะไปได้ บางอันก็ไปไม่ได้ เช่น ทีวี เป็นแพลตฟอร์ม ตู้เย็น เป็นแพลตฟอร์ม ฉลาดมากขึ้น ตู้เย็นบอกได้ว่า นมหมด ก็สั่งและส่งมาเลย หรืออย่างแพลตฟอร์มด้าน สุขภาพ จะมีมากขึ้น เช่น เทเลเมดิซีน
แต่ย้ำว่า ไม่ใช่ทุกแพลตฟอร์มที่จะอยู่รอด บางอันโผล่มาแล้วไป บางอันต้องไปซื้อมาเพื่อความอยู่รอด
แต่อยากจะเตือนรัฐบาลอย่ามาทำแพลต ฟอร์มแข่งกับเอกชน ไปส่งเสริมดีกว่า
นำดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สุดท้ายเป็นสิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล ที่ ปฐม บอกว่า ในแวดวงไอที มองว่า ปัญหาใหญ่ของไอที โลกดิจิทัลบ้านเรา คือเรื่องขีดความสามารถ ปีนี้ไทยดีขึ้น อันดับขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลของไทยดีขึ้น สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยได้มากกว่านี้ เราจะไปได้ไกลกว่านี้ ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแต่ละประเทศ อาศัย เวฟ (คลื่น) แต่ละเวฟ ในการเติบโต
อย่างสหรัฐอเมริกา ก็สร้างเวฟแรกเอาไว้ เวฟที่เป็นคอมพิวเตอร์ ถัดมาเป็นเวฟที่เป็นอินฟอร์เมชั่น (สารสนเทศ) ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาแล้ว แต่จะมีหลายประเทศเข้ามาร่วมด้วย ถัดมา เวฟที่เห็นอยู่ เข้าสู่โมบายล์ มีจีน เกาหลี โผล่เข้ามา เราเข้าสู่ เวฟ ใหม่ เป็น เอไอ เชื่อว่าจะมีประเทศใหม่ๆ เกิดขึ้นมาที่ขี่เวฟเหล่านี้ตามมาไปด้วยได้ แต่เวฟนี้ไม่มีไทยอยู่ในนั้นเหมือนเดิม ไม่มีการวางรากฐานเอาไว้ ที่จะให้เห็นว่า เวฟนี้เราไปจริงนะ อย่างเกาหลี ตอน 3จี มา เค้าวางเลยว่า 4จี ต้องเป็นของเขา เขาก็ขี่ไปกับโมบายล์ ไต้หวัน ไปกับเอไอ เพราะชิปหน่วยประมวลผล ด้านเอไอ อยู่กับไต้หวันหมดเลย ซึ่งเราไม่ได้วางเอาไว้ว่า เราจะขี่เวฟไหนเวฟเอไอ อาจจะไม่ได้ ไม่เป็นไร
ตอนนี้เราอาจจะมองไปถึงเวฟถัดไป อย่างเช่น ควอนตัม มาแน่นอน เราก็อาจจะเตรียมสร้างบุคลากรไว้อีก 6 ปีข้างหน้า เราคาดหวังรัฐ เพราะรัฐ เค้าส่งเงินกระจายเงินไปเรื่องสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ไม่อยากให้มุ่งเน้นแต่ผลระยะสั้น แต่เราอาจต้องมองระยะยาวว่า เราจะขี่ไปกับเวฟไหนได้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 4 มกราคม 2567