แผนกระตุ้น 17 ล้านล้าน กอบกู้ หรือทุบเศรษฐกิจญี่ปุ่น
"ฟูมิโอะ คิชิดะ" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลออกมาในยามที่คะแนนนิยมในรัฐบาลกำลังตกต่ำสุดขีด
ระดับการยอมรับในรัฐบาลคิชิดะซึ่งเคยขึ้นสูงสุดไปอยู่ที่ 59% เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โพลของบางสำนักระบุว่า คะแนนนิยมในรัฐบาลคิชิดะเหลือเพียงแค่ 17% ด้วยซ้ำไป
ท่ามกลางปัญหาอื้อฉาวเรื่องการใช้เงินจากการระดมทุนเพื่อการกุศลผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายในญี่ปุ่น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศออกมา ดูเหมือนเป็นสิ่งจำเป็นในทางการเมือง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เกิดคำถามตามมาว่า แผนกระตุ้น
เศรษฐกิจที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต้องการจริงหรือไม่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ๆ หรือเปล่า
ตัวนายกรัฐมนตรีคิชิดะเองยืนยันว่า เป้าหมายของแผนกระตุ้นทางการคลัง รวมมูลค่าเกินกว่า 17 ล้านล้านเยน ก็เพื่อเอาชนะภาวะเงินฝืดและผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเข้าร่องเข้ารอยอีกครั้ง
แผนกระตุ้นดังกล่าวมีตั้งแต่การลดภาษีเป็นการชั่วคราวเป็นมูลค่า 40,000 เยนต่อคน (ราว 9,500 บาท), แจกเงิน 70,000 เยน (ราว 16,000 บาท) ให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยแต่ละครัวเรือน, จัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้า เพื่อดึงให้ราคาสินค้าที่พุ่งกระฉูดจากภาวะเงินเฟ้อให้ลดลง เป็นต้น
รัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่า แผนกระตุ้นใหม่นี้พุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกับพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่นอกศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ในเวลาเดียวกันก็จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว โดยทางการคาดการณ์ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ระดับ 1.2% ในช่วงระหว่างปี 2023-2026
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า แผนกระตุ้นของรัฐบาลในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะไม่ได้ผล เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงในเศรษฐกิจทั้งระบบเท่านั้น แต่ยังจะสร้างปัญหาใหญ่ให้เกิดตามมาอีกด้วย
นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า ถ้าจะเกิดผลอยู่บ้างก็คงเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แน่นอนการลดภาษีน่าจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อการบริโภคอยู่บ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจะกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ต่อไป เพราะจะยิ่งทำให้ค่าแรงที่แท้จริงลดลงต่อเนื่อง กระทบต่อเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคอยู่ดี
แต่ปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ว่าจะหาเงินมาจากไหนเพื่อรองรับแผนการใช้จ่ายเงินขนาดมหึมาเช่นนี้ ในขณะที่การลดภาษีเท่ากับเป็นการลดรายได้ของรัฐบาลโดยตรง
คาดหมายกันว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อนำเงินมารองรับการใช้จ่ายตามแผนครั้งนี้ อย่างน้อยถึง 2 ใน 3 ของวงเงินทั้งหมด ในขณะที่ความไม่แน่นอนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในอนาคตก็ทวีเพิ่มขึ้นทุกที สุดท้ายสถานการณ์อาจส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศลดลงอีกครั้ง
อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “ชินโซ อาเบะ” เคยใช้วิธีอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ผสมผสานกับนโยบายทางการคลังได้อย่างต่อเนื่อง เหตุผลสำคัญเพราะในช่วงเวลานั้นบรรดาธนาคารกลางระดับสำคัญ ๆ ของโลกพากันคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเอาไว้โดยตลอด
ตรงกันข้ามกับในเวลานี้ ที่ทั้งเฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกากับธนาคารกลางแห่งยุโรป ทยอยกันขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ซึ่งสร้างปัญหาให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่นอย่างหนัก เพราะหากปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม มีหวังรัฐบาลญี่ปุ่นที่แบกหนี้อยู่มหาศาลกว่า 260% ของจีดีพี ต้องนำงบประมาณมาจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นตามไปด้วย
การรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำของญี่ปุ่น ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นพากันขนเงินที่ระดมได้จากในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างเช่นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.3% ในระยะ 10 ปี กลายเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินเยนของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย
ยิ่งเฟดส่อเค้าว่าจะรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยสูงเอาไว้ต่อเนื่อง เงินเยนยิ่งอ่อนค่าลงตามไปด้วย ผลก็คือ สินค้านำเข้าซึ่งรวมทั้งวัตถุดิบในการผลิต และราคาพลังงานกับอาหารก็จะพุ่งสูงขึ้นตามไปเช่นกัน
ปัญหาที่รัฐบาลคิชิดะเผชิญอยู่ในเวลานี้เป็นปัญหาละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบไม่น้อย เพราะเมื่อใดก็ตามที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ย สถานะทางการคลังของรัฐบาลก็จะเกิดปัญหาจนอาจถูกเคลือบแคลงจากตลาดเงินระหว่างประเทศ
แต่ถ้าหากยังปล่อยสถานการณ์ต่อไป โดยให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่าเงินเยนก็จะยิ่งอ่อนตัวมากขึ้นไปอีก และอัตราเงินเฟ้อก็จะทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประชากรญี่ปุ่นทั้งประเทศ
สุดท้ายก็จะกลายเป็นผลลบต่อรัฐบาลคิชิดะอยู่ดีนั่นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 มกราคม 2567