นักเศรษฐศาสตร์โนเบล เตือน เรียน "STEM" เกาะกระแส AI เสี่ยงตกงาน
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เผย การเน้นให้เด็กเรียนสะเต็ม (วิทย์ฯ-เทคโนโลยี-วิศวกรรมฯ-คณิตฯ) ตามกระแส AI เป็น "เมล็ดพันธุ์แห่งการทำลายตัวเอง" อาจตกงานในอนาคต แนะสาขาที่มีแววประสบความสำเร็จ
“STEM” (สะเต็ม) ย่อมาจาก Science (วิทยาศาสตร์) + Technology (เทคโนโลยี) + Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) + Mathematics (คณิตศาสตร์) ศาสตร์การเรียนสาขาที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับการทำงานในสายอาชีพด้านต่างๆ โดยข้อมูลจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เผยว่า มีการเริ่มใช้ STEM ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากปัญหาผลการทดสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for. International Student Assessment) ของประเทศ และการประชุมของแต่ละภาคส่วน
ทำให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาของศาสตร์ทั้ง 4 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็มีการสนับสนุนและใช้งบประมาณในการพัฒนาศักยภาพการศึกษาด้านนี้มาตลอด ตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้มีการสานต่อมาจนถึงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยได้แสดงอยู่ในไฟล์เอกสาร "งบประมาณฉบับประชาชน ประจำปีงบฯ พ.ศ. 2567" ว่าจะมีการใช้งบประมาณร่วม 123.41 ล้านบาท เพื่อจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษาใน 15,000 โรงเรียน ให้เด็กสามารถสร้างทักษะและเสริมองค์ความรู้ เพื่อกรุยทางไปสู่สายงานและตำแหน่งที่มีผลตอบแทนดีในอุตสาหกรรม AI
แต่ทิศทางดังกล่าวดูเหมือนจะสวนทางกับความเห็นของ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel) สาขาเศรษฐศาสตร์ มีการออกมาแสดงถึงความกังวลและเตือนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกระแสดังกล่าว
นาย Christopher Pissarides ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ แห่ง London School of Economics ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2553 จากการวิจัย “Search Friction” ทฤษฎีความขัดแย้งที่ศึกษาจากปัญหาด้านต่างๆ อาทิ สาเหตุภาวะคนว่างงานสูง ทั้งที่หลายบริษัทมีตำแหน่งเปิดรับมากมาย ไปจนถึงกระบวนการและแนวคิดที่สามารถนำไปสู่การลดภาวะคนว่างงานได้ เป็นต้น
การเรียน "STEM" เพื่อประกอบอาชีพในสาย AI เสี่ยงทำให้ตกงาน
เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ Business Insider รายงานเกี่ยวกับสิ่งที่นาย Christopher Pissarides ได้ให้สัมภาษณ์ต่อบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ล่าสุด ที่ระบุว่า แรงงานที่ทำงานในสายไอทีและมีความชำนาญด้าน AI เสี่ยงทำให้ตำแหน่งงานของตัวเองมีแนวโน้มที่จะล้าสมัยได้ในอนาคต
โดยเปิดเผยว่า “ทักษะที่เป็นที่ต้องการในขณะนี้ คือการรวบรวมข้อมูล (Data) เปรียบเทียบ พัฒนา และนำมาใช้เพื่อยกระดับก้าวถัดไปของ AI หรือเพื่อพัฒนาให้ AI สามารถประยุกต์ใช้จริงกับการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการในขณะนี้ล้าสมัยลง เนื่องจาก (AI) จะเข้ามาทำหน้านี้เหล่านั้น” พร้อมเสริมถึงความต้องการสำหรับทักษะใหม่ด้านไอที ว่าเต็มไปด้วย “เมล็ดพันธุ์แห่งการทำลายตัวเอง”
ในสหราชอาณาจักรมีการสมัครเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมซอฟท์แวร์เพิ่มขึ้น (ปี 2566)
มีการสมัครเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยในปี 2023 เพิ่มมากขึ้นเกือบ 10% ในสหราชอาณาจักร อันสืบเนื่องมาจากความสนใจด้าน AI โดยอ้างอิงจากมหาวิทยาลัยและขั้นตอนการรับเข้าวิทยาลัย มีการสมัครเรียนด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์เพิ่มขึ้น 16% และมีการสมัครเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพิ่ม 11% เทียบกับปี 2566
อย่างไรก็ตาม นาย Christopher Pissarides อธิบายว่า สายอาชีพด้าน AI อาจมีไม่เพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาที่จบการศึกษาได้อย่างทั่วถึง “ถึงคุณจะมองเห็นความจริงที่ว่ามันมีการเติบโต พวกเขา (บริษัท/องค์กร) ก็ยังมีตำแหน่งงานที่ไม่หลากหลายมากพอจะทำให้เด็กที่จบการศึกษาในสาขา STEM (สะเต็มศึกษา) มีงานทำได้ทั้งหมด เพราะนั่นคือสายงานที่พวกเขาอยากทำ(หลังจบการศึกษา)”
สายงานที่ต้องใช้ Soft Skills มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะ AI ไม่สามารถทำแทนได้
นาย Christopher ชี้ให้เห็นว่า ทักษะความสามารถด้านอารมณ์และสังคม (Soft Skills) อย่างทักษะการติดต่อสื่อสาร (Communication) และความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ในอุตสาหกรรมด้านการต้อนรับและการบริการด้านสุขภาพต่างหาก ที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้อย่างประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะไม่มีทีท่าจะว่าถูก AI มาทำแทนได้
เมื่อมีการพูดถึงสายอาชีพส่วนใหญ่ว่ามักจะเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลส่วนบุคคล การติดต่อสื่อสาร การมีสัมพันธ์อันดีในสังคม ผู้คนอาจพูดหรือเกิดคำถามได้ว่า “นั่นคือสิ่งที่เราต้องคอยติดตามต่อไปในอนาคตอย่างนั้นหรือ?” นาย Christopher กล่าวต่อว่า “เราไม่ควรดูถูกสายอาชีพเหล่านี้ มันดีกว่าสายอาชีพที่เหล่าคนที่ไม่ศึกษาต่อเคยทำมาซะอีก”
กระแสอิทธิพลจากสายงานเทคโนโลยีและ AI : ผลตอบแทนสูง
จากรายงานล่าสุดของ Business Insider เผยว่ากระแสที่รายล้อม AI อยู่นั้น บางส่วนได้รับอิทธิพลมาจากบรรดาบริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูง เหล่าองค์กรเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อาทิ Google, Microsoft, Meta และ OpenAI จะมอบผลตอบแทนเป็นเงินเดือนจำนวนหกหลัก (หลักแสน) สำหรับตำแหน่งที่เกี่ยวกับ AI ทั้งนี้ แม้จะไม่ใช่บริษัทหรือองค์กรด้านเทคโนโลยี อย่าง Disney, JPMorgan และ Accenture ก็มีการเสนอผลตอบแทนที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ ให้กับแรงงานที่มีทักษะและความรู้ด้าน AI ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สำนักงานวิจัย Pew Research Center หน่วยงานวิจัยที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่วิจัยด้านสังคมวิทยาและสำรวจความเห็นของสาธารณชน ได้รายงานถึงภาพรวมการจบการศึกษาในสาขาสะเต็มศึกษา (STEM) ในสหรัฐอเมริกา ที่รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2553 ว่ามีอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ บางตำแหน่งจัดอยู่ในกลุ่มที่สายอาชีพที่ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา
แหล่งที่มา : Business Insider , Pew Research Center , สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 6 มกราคม 2567