ธุรกิจต่างชาติโบกมือลาจีนต่อ เหตุเพราะพูดอย่างทำอย่าง นโยบายเอาแน่เอานอนไม่ได้
ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" (Xi Jinping) ของจีนเพิ่งยอมรับเป็นครั้งแรกว่าเศรษฐกิจจีนมีปัญหา ในการกล่าวสุนทรพจน์อวยพรปีใหม่เมื่อวันสิ้นปี 2023 ที่ผ่านมา
“ระหว่างทางเราต้องพบกับอุปสรรคขวากหนาม สถานประกอบการบางแห่งมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก บางคนประสบปัญหาในการหางาน และการตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน…” ประธานาธิบดีสีกล่าว พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะเสริมสร้างโมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคง และการพัฒนาในระยะยาว
การยอมรับความจริงของสี จิ้นผิง สะท้อนว่าปัญหาเศรษฐกิจจีนนั้นหนักหนาเกินกว่าที่รัฐบาลจีนจะทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้อีกต่อไป แต่ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจีนไม่ยอมรับ ทั่วโลกก็ได้เห็นข้อเท็จจริงกันอยู่แล้ว จากที่มีข้อมูลออกมาให้เห็นตลอดทั้งปี
เศรษฐกิจที่ชะลอตัว บวกกับความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ได้บั่นทอนความเชื่อมั่น ทำให้ธุรกิจต่างชาติโบกมือลาจีนไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา
มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีน “ขาดดุล” รายไตรมาสเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อไตรมาส 3 ปี 2023 ส่วนฝั่งตลาดทุน ดัชนี CSI 300 ณ สิ้นปีร่วงลง 11% จากต้นปี
จีนพยายามหลายวิถีทางเพื่อจะดึงดูดนักลงทุนทั้งในภาคธุรกิจและตลาดทุน แต่ไม่เป็นผล
บริษัทสหรัฐที่ทำธุรกิจในจีนมีมุมมอง “เชิงบวก” ต่อการทำธุรกิจในจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้าในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผลสำรวจความคิดเห็นประจำปีของหอการค้าอเมริกัน (AmCham) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มการทำธุรกิจในประเทศจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้าลดลงเหลือ 52% เท่านั้น
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2023 หอการค้าอังกฤษในจีนเปิดเผยผลการสำรวจว่า บริษัทอังกฤษ 60% รู้สึกว่าการทำธุรกิจในจีนในปี 2023 ยากกว่าในปี 2022 ที่จีนใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดเสียอีก โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
จูเลียน ฟิชเชอร์ (Julian Fischer) ประธานหอการค้าอังกฤษในจีนเปิดเผยว่า ในปี 2022 กว่า 80% ของบริษัทที่มีธุรกิจในจีนได้เพิ่มการลงทุน แต่ ณ ปลายปี 2023 ธุรกิจกำลังชะลอการลงทุนรอความชัดเจนก่อนจะตัดสินใจ
จนถึงตอนนี้ มุมมองของต่างชาติที่มีต่อจีนก็ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น เพราะสิ่งที่ต่างชาติเห็นคือ คำพูดกับการกระทำของจีนขัดแย้งกันเอง
จีนพยายามฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อดึงต่างชาติ โดยบอกว่าจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เป็นมิตรกับต่างชาติมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังดำเนินมาตรการปราบปรามในบางอุตสาหกรรม ปัญหาเดิมที่สำคัญและยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ ความไม่ชัดเจนของนโยบาย ซึ่งมีแต่จะทำให้นักลงทุนจ่อโบกมือลาจีนเพิ่มอีก
ตามการรายงานของ “บลูมเบิร์ก”
(Bloomberg) หลังเข้าสู่ปีใหม่
เยนส์ เอสเคลุนด์ (Jens Eskelund) ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในประเทศจีนกล่าวว่า มีคำถามอันดับต้น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมากคือ จีนต้องการมีความสัมพันธ์แบบใดกับบริษัทต่างชาติกันแน่ “ธุรกิจไม่รู้ว่าตัวเองยืนอยู่ตรงจุดไหน เนื่องจากมีข้อความที่หลากหลายจากรัฐบาลจีน”
แอนนา แอชตัน (Anna Ashton) จากบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงเศรษฐกิจ “ยูเรเซีย กรุ๊ป” (Eurasia Group) ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ แมนดาริน (VOA Mandarin) ว่า ความกังวลด้านความมั่นคงและความตึงเครียดกับสหรัฐอเมริกากระตุ้นให้รัฐบาลจีนต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีนเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนนักสำหรับธุรกิจต่างชาติ และเมื่อบวกกับเศรษฐกิจที่ซบเซา ก็ยิ่งซ้ำเติมให้จีนมี “สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยาก” สำหรับบริษัทต่างชาติ
นอกจากนั้น ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและอิสรภาพในการพำนัก หรือเดินทางเข้า-ออกประเทศจีนก็สำคัญมากเช่นกัน ตามที่ “บลูมเบิร์ก” รายงานว่าจีนสอบสวนผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมากกว่า 100 คนในปี 2023
“แซ็ก ดิชต์วัลด์” ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัยเทรนด์ “ยัง ไชน่า กรุ๊ป” (Young China Group) กล่าวว่า การที่จีนเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ “สภาพแวดล้อมที่เป็นเผด็จการมากขึ้น” ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลกับการอยู่ในประเทศจีนมากขึ้น
นักการทูตของสหรัฐคนหนึ่งกล่าวว่า นักธุรกิจที่กำลังคิดจะเดินทางไปประเทศจีนต่างก็ตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะถูกควบคุมตัว ซึ่งความวิตกกังวลนี้ขัดแย้งกับที่ สี จิ้นผิง ต้องใช้มาตรการสร้างความอุ่นใจเพื่อดึงดูดนักลงทุน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 มกราคม 2567