ส่อง 9 ธุรกิจใหญ่ในเอเชีย ปรับตัวรับมือโลกป่วนปี 67
9 ธุรกิจใหญ่ในเอเชีย ปรับตัวรับมือโลกป่วนปี 67 แม้ตลาดชิป SiC ยังเล็กเมื่อเทียบกับตลาด CPU และ GPU แต่ความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ SiC หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเอสไอซีซีมีศักยภาพเปลี่ยนโฉมอนาคตของเซมิคอนดักเตอร์โลก
สำนักข่าวนิกเคอิเผย ธุรกิจเอเชียอาจเผชิญกับความท้าทายใหม่ ทั้งด้านเทคโนโลยี, กฎระเบียบ, สิ่งแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์ในปี 2567 นี้ รวมถึงผลกระทบจากการเลือกตั้งผู้นำที่สำคัญในภูมิภาคและการเลือกตั้งในสหรัฐ ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์การค้าและความมั่นคงรายใหญ่ของเอเชีย
จากความท้าทายดังกล่าว นิกเคอิได้รวบรวมรายชื่อบริษัทในเอเชียทั้ง 9 แห่ง ที่เราอาจได้ยินข่าวมากขึ้นในปีนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัทไทยร่วมด้วย ได้แก่
(1)‘ปตท.’ กระจายความเสี่ยงธุรกิจน้ำมัน :
กลุ่มบริษัทน้ำมันและก๊าซปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ กำลังปรับตัวต่อการผลักดันใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทยจึงกระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มสถานีชาร์จรถอีวี และมีบริการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับลูกค้าในปั๊มน้ำมันและสถานีชาร์จ อาทิ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อ
ล่าสุด เดือน ธ.ค. 2566 ปตท.ประกาศแผนลงทุน 5 ปี มูลค่า 100,200 ล้านบาท โดย 36,300 ล้านบาท จะลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า ส่วนงบ 32,800 ล้านบาทใช้ลงทุนกระจายความเสี่ยงอื่น ๆ
(2)‘ติ๊กต็อก’ เดิมพันอีคอมเมิร์ซอินโดฯ :
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซติ๊กต็อก พยายามฟื้นบทบาทของตนเอง โดยการประกาศเข้าถือหุ้นโทโกพิเดีย75% เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ซึ่งเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซของโกทู
ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรัฐบาลอินโดนีเซียแบนการชอปปิงผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อเดือน ก.ย. ปีก่อน
ความพยายามครั้งใหม่ของติ๊กต็อกในอินโดนีเซีย อาจกลายเป็นบททดสอบใหม่ ขณะที่ธุรกิจพยายามขยายส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาค
(3)SICC ตัวพลิกโฉมเซมิคอนดักเตอร์ :
จีนกำลังเดิมพันกับชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะซิลิคอน คาร์ไบด์ (SiC) ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนต่อแรงดันไฟฟ้าและความร้อนสูง และใช้เป็นชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการชาร์จรถอีวีและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ
ความต้องการชิ้นส่วนประกอบรถอีวี ทำให้อุตสาหกรรมชิปนี้เติบโต และเอสไอซีซีก็เป็นผู้เล่นสำคัญ
แม้ตลาดชิป SiC มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ยังเล็กเมื่อเทียบกับตลาด CPU และ GPU แต่ความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ SiC หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเอสไอซีซีมีศักยภาพเปลี่ยนโฉมอนาคตของเซมิคอนดักเตอร์กำลัง (power semiconductor) ได้
(4)ฮันฮวา แอโรสเปซ ขุมอาวุธกลาโหม :
ฮันฮวา แอโรสเปซ บริษัทผลิตอาวุธของเกาหลีใต้ ขยายธุรกิจอาวุธอย่างหนักในยุโรป ตะวันออกกลาง ออสเตรเลียและภูมิภาคอื่น ๆ เพราะความเสี่ยงด้านสงครามและภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น
มูลค่าตลาดฮันฮวาพุ่ง 69% ในปี 2566 จากการทำข้อตกลงพันล้านดอลลาร์กับโปแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งออกปืนใหญ่ K9 และรถรบทหารราบ Redback
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของฮันฮวาไม่ได้มีแค่ภาคกลาโหม แต่ยังมีธุรกิจปล่อยยานอวกาศและดาวเทียมสำรวจโลก โดยร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีใต้ในโครงการอวกาศอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ เกาหลีใต้พัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธระดับโลกมาตลอดหลายสิบปี และฮันฮวาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้
(5)แฮชคีย์ กรุ๊ป น้องใหม่ขายคริปโทฯ :
HashKey Exchange กลายเป็นหนึ่งในสองบริษัทที่ได้ใบอนุญาตซื้อขายคริปโทรายแรกในฮ่องกง สำหรับนักลงทุนรายย่อย เมื่อเดือนส.ค. 2566
บริษัทมีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 150,000 ราย และมีผลตอบแทนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากราคาบิตคอยน์พุ่งแต่แฮชคีย์ยังเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เพราะเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการซื้อขายคริปโทที่บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน
(6)Rapidus มุ่งสู่ผู้เล่นหลักในอุตฯชิป :
Rapidus บริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติญี่ปุ่น ตั้งเป้าเริ่มทดสอบการผลิตชิป 2 นาโนเมตรเดือน เม.ย. 2568 และจะผลิตชิปดังกล่าวจำนวนมากภายในปี 2570 โดยได้รับการสนับสนุนจากพาร์ตเนอร์อย่างไอบีเอ็ม
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนด้วยงบ 2,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วย Rapidus รักษาโรงงานชิปในประเทศไว้ และมีแผนสนับสนุนเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง
Rapidus คาดว่าความต้องการชิปที่มีความสามารถเฉพาะเพิ่มขึ้นมากกว่าชิปทั่วไป เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำสมัยมากขึ้น หนุนให้เกิดความต้องการผลิตชิปล้ำสมัยเฉพาะเพิ่มขึ้น
บริษัทเชื่อมั่นว่าสามารถเป็นผู้เล่นอันดับต้น ๆ ในเทคโนโลยีผลิตชิปล้ำสมัยได้อย่างก้าวกระโดด
(7)SPNEC ตั้งฟาร์มโซลาร์เซลล์ยักษ์ :
SP New Energy Corp. ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนสัญชาติฟิลิปปินส์ วางแผนสร้างหนึ่งในโครงการโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนเกาะลูซอนของประเทศ
SPNEC เป็นบริษัทในเครือของ Meralco บริษัทผลิตพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจของ Metro Pacific Investmentsยักษ์ใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ First Pacific ที่บริการโดยซาลิม กรุ๊ปของอินโดฯ
ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากบริษัทเหล่านี้ จึงผลักดันให้ SPNEC มีความทะเยอทะยานทำโครงการดังกล่าว โดยเงินลงทุน 16,000 ล้านเปโซ จะทุ่มไปกับโครงการโซลาร์ขนาดใหญ่ที่ 3.5 กิกะวัตต์
8.YTL ร่วมอินวิเดียตั้งศูนย์ข้อมูลเอไอ :
หลังกลุ่มบริษัทมาเลเซีย YTL เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้าง บริษัทก็เริ่มผันตัวไปเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโรงงานไฟฟ้ามานานกว่า 70 ปี
กำไรหลังหักภาษี พุ่งมากกว่า 7 เท่า สู่ระดับ 940,200 ล้านริงกิตในไตรมาสแรกที่สิ้นสุดเดือนก.ย. 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไร 123,600 ล้านริงกิต
นอกจากนี้ บริษัทในเครือYTL ยังเซ็นสัญญากับอินวิเดียเมื่อเดือนก่อน ลงทุน 4,300 ดอลลาร์ เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์แห่งแรกในมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในกลางปีนี้ และการลงทุนสถานีพลังงานโซลาร์ของ YTL ในสิงคโปร์ อาจผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 5 เท่า สู่ระดับ 5 กิกะวัตต์
9.Van Thinh Phat :
Van Thinh Phat บริษัททพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เวียดนามถูกตำรวจกล่าวหาว่ายักยอกเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์ บ่งบอกถึงการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างแข็งขัน
คำถามคือ อาชญากรรมข้างต้นอยู่มานานมากกว่า 10 ปีได้อย่างไร และเจ้าหน้าที่จะคลี่คลายเบื้องหลังวิศวกรรมการเงินที่ซับซ้อนของบริษัทอย่างไร
บรรดาธุรกิจต่างจับตามองว่า รัฐบาลมีอำนาจแข่งแกร่งเพียงใด ในช่วงที่เวียดนามพยายามแสดงความจริงจังเกี่ยวกับการปราบปรามสินบน ที่สร้างความกังวลต่อนักลงทุนเกี่ยวกับการชะลอตัวในภาคอสังหาฯและธุรกิจการเงินรวมถึงกระบวนการของระบบราชการที่ชักช้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 มกราคม 2567