"WEF" เปิดรายงานปี 67 เศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอแต่มี AI เป็นแรงเคลื่อนธุรกิจ
WEF เปิดรายงานผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ส่วนใหญ่ห่วงปี67 เศรษฐกิจโลกยิ่งอ่อนแอลง จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ห่วงทำปัญหาความเหลื่อมล้ำบานปลาย ระบุ AI บทบาทเด่นขับเคลื่อนภาคธุรกิจ การผลิต และนวัตกรรม ขณะWTO ชี้การค้าโลกโต3.3% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง
ช่วงสัปดาห์ 15-19 ม.ค. 2567 ที่ดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF ได้จัดประชุมประจำปี เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งผู้นำประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจมาร่วมกันเปิดมุมมองสถานการณ์โลกประจำปี
รายงานมุมมองเศรษฐกิจจากนักเศรษฐศาสตร์โลก : ขอบฟ้าทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เผยแพร่โดยสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) จากการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจากภาครัฐและเอกชน ช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา สาระสำคัญของผลสำรวจชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 56% มองว่าปี 2567 ยังเป็นปีแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่มีแต่จะอ่อนแอลงไปอีกเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา
“โดย 7 ใน10 ส่วนมีความเห็นว่าภูมิเศรษฐศาสตร์จะมีบทบาทมากขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่2ใน3 ส่วนบอกว่า นโยบายอุตสาหกรรมจะเป็นเเรงขับเคลื่อนใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังต้องเตือนตัวเองอย่างต่อเนื่องถึงการตึงเครียดทางการเงินมากขึ้นและช่องว่างระหว่างเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่ำและรายได้สูงที่จะยิ่งห่างกันมากขึ้นไปอีก”
AIขับเคลื่อนธุรกิจเดินต่อได้ :
ปีนี้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเป็นเเรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตและนวัตกรรม เนื่องจากมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการนำมาใช้ในภาคการผลิตและในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวางเนื่องจาก AI มีการพัฒนาอย่างมากสามารถตอบโจทย์การค้าและการลงทุนได้เพิ่มขึ้นท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม มีบางความเห็นที่มองว่า ไม่ได้มีแต่เรื่องลบๆเท่านั้น เพราะหากมองไปข้างหน้าจริงๆจะพบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือ เลวร้ายขึ้น เช่น ภาคการเงินที่จะผ่อนคลายลงจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าปีนี้จะไม่ได้สูงมาเหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา
รายงาน ระบุถึงสถานการณ์รายภูมิภาคพบว่า ปีนี้จะยังไม่มีภูมิภาคใดโดเด่น ในส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยังมีความโดดเด่นที่ดี ยกเว้นจีน ที่ยังคงผชิญปัญหาเดิมๆทั้ง การบริโภคที่อ่อนกำลังจากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ หรือ การผลิตลดลง และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว
ห่วงผลกระทบโลกตึงเครียด :
“จากปัญหาต่างๆทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา ทั้ง ความตรึงเครียดระหว่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศอาจนำนโยบายท้องถิ่นนิยมมาใช้ เช่นการลดการนำเข้า การกำหนดมาตรการกีดกัน หรือ การยังคงเข้มงดนโยบายทางการเงินต่อไป ซึ่งนโยบายต่างๆ เหล่านี้จะสร้างช่องว่างให้มากขึ้นระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา”
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา กล่าวถึง รายงานขององค์การการค้าโลก(World Trade Organization: WTO) เรื่องพัฒนาการของสภาวะการค้าระหว่างประเทศของโลก (Overview of Developments in the International Trading Environment) ว่า การค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัว3.3%ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวการค้าโลกในปี 2566 ที่ 0.8% แต่มีความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่
1)เศรษฐกิจจีนที่อาจเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ โดยมีแนวโน้มขยายตัว4.6%ในปี 2567 ลดลงจาก 5.4%ในปี 2566 (ข้อมูลจากIMF)
2)แรงกดดันจากเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาพลังงานและอาหาร) ยังคงอยู่ในระดับสูงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
หลายประเทศผุดมาตรการกีดกัน
3)ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งล่าสุดในตะวันออกกลาง ที่รายงานนี้ยังไม่ได้นำมาผลกระทบมาพิจารณา
อย่างไรก็ดี ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกมีการประกาศใช้มาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ามากกว่ามาตรการจำกัดทางการค้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการค้าโลกโดยมีการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 303 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้ารวม 977.2 พันล้านดอลลาร์ มากกว่ามาตรการจำกัดทางการค้า 193 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 337.1 พันล้านดอลลาร์
โดยมาตรการจำกัดการส่งออกที่เริ่มบังคับใช้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าประเภทเครื่องจักรกล ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยา และเหล็กและเหล็กกล้า และสำหรับมาตรการจำกัดการนำเข้า ส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าประเภท น้ำมันเชื้อเพลิง อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ธัญพืช และเคมีภัณฑ์ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการจำกัดการนำเข้ามีความครอบคลุมทางการค้าสะสมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเพียง 73 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.6%ของมูลค่าการนำเข้ารวมของโลกในปี 2552 มาเป็น 9.9%หรือ 2,480 พันล้านดอลลาร์และยังไม่มีสัญญาณลดลงในอนาคต
ส่วนความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีแนวโน้มก่อให้เกิดการแบ่งแยกการค้า (Fragmentation)หรืออาจรุนแรงถึงปรากฏการณ์ลดลงของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 มกราคม 2567