ส่องวิสัยทัศน์ 2030 เศรษฐกิจสร้างสรรค์ UK ความเหมือนที่แตกต่างกับไทย
เส้นทางพัฒนาสู่ปี 2030 เศรษฐกิจสร้างสรรค์ UK มุ่งเป้าชู RDI และ Soft Power ดันมูลค่าอุตสาหกรรมโตเพิ่ม 5 หมื่นล้านปอนด์ เหมือนหรือต่างกับไทยอย่างไร
UK ได้ออกรายงาน “Creative industries sector vision: a joint plan to drive growth, build talent and develop skills” ที่ชูให้โลกเห็นถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปัจจุบันจนถึงปี 2030 โดยนายกรัฐมนตรีของ UK “ริชี ซูแน็ก” ได้กล่าวไว้ในคำนำของรายงานว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ = การเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”
เพราะนี่คืออุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศกว่า 1.08 แสนล้านปอนด์ต่อปี เกิดการจ้างงานมากกว่า 2.3 ล้านคน โดยวางเป้าที่จะดันให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์โตเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านปอนด์ภายในปี 2030
ความทะเยอทะยานนี้ถูกคิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ผ่านการส่งเสริมเรื่องการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI) และการเพิ่มแต้มต่อในการลงทุนให้กับธุรกิจสร้างสรรค์ นำไปสู่การส่งออกสินค้าและบริการที่จะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศให้ได้ถึง 1 ล้านล้านปอนด์ นอกเหนือจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจแล้ว UK ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอนาคต ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจของวิสัยทัศน์ 2030 ของ UK ที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยยังไม่ได้พูดถึงมากนัก คือเรื่องของการลงทุนด้าน RDI เพื่อพัฒนาผลผลิตด้านสร้างสรรค์ ซึ่ง UK ให้ความสำคัญอย่างมาก มุ่งเป้าที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้าน RDI ระหว่างรัฐร่วมเอกชนในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 3.2 ของมูลค่า GVA ประเทศ โดยเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีเรือธงอย่าง AI และเทคโนโลยีเสมือน (Immersive Technology) ซึ่งต่างจากไทยที่ RDI มักถูกมองเป็นทิศทางการพัฒนาของกลุ่ม Real Sector เป็นหลัก
ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเป็นภาพสะท้อนจากแนวคิดและรากฐานการผลิตเดิมของแต่ละประเทศ ชวนมาพิจารณาความแตกต่างในแนวทางการพัฒนาผลผลิตด้านสร้างสรรค์ระหว่างไทยและ UK ผ่านดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ Global Innovation Index (GII) ซึ่งมีดัชนีย่อยที่วัดผลผลิตด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Outputs) หากจะเปรียบเทียบระดับความสามารถของไทยกับ UK จากการจัดอันดับในปี 2023
จะสังเกตได้ว่าตัวชี้วัดที่ไทยมีจุดแข็ง คือ เรื่องการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลกร่วมกับอีก 6 ประเทศ ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์อยู่ที่ร้อยละ 2.38 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยกลุ่มสินค้าสำคัญได้แก่ สินค้าไลฟ์สไตล์และงานฝีมือ ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่า GVA สูงสุด 6 อันดับแรกของไทย ประกอบไปด้วยสาขาแฟชั่น ออกแบบ และคราฟต์
ในทางกลับกันตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งของ UK อยู่ที่สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) อันได้แก่ มูลค่าแบรนด์และทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศ รวมไปถึงการส่งออกวัฒนธรรมและบริการสร้างสรรค์ (Cultural and creative services exports) ซึ่งสอดรับกับตัวเลข GVA รายสาขาของ UK พบว่า สาขาที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงที่สุดคือ IT, Software & Computer Services อยู่ที่ร้อยละ 41.27 รองลงมาคือ สาขา Advertising & Marketing ร้อยละ 18.28 จากข้อมูลในข้างต้นแสดงให้เห็นถึงโฟกัสที่ต่างกันของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระหว่างสองประเทศ
นอกจากนี้ UK ยังมีอีกเป้าหมายที่คล้ายคลึงกับรัฐบาลไทย คือ สนับสนุนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยเน้นไปที่การใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสร้างอิทธิพลเชิงบวกบนเวทีโลก ตามกรอบวิสัยทัศน์ปี 2030
UK จะยังคงมุ่งมั่นรักษาตำแหน่งในฐานะศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ขยายผลชื่อเสียงเพื่อดึงดูดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก พร้อมขับเคลื่อนร่วมกับเอกชนขยายการส่งออกสินค้า ดิจิทัลคอนเทนต์ และบริการ ในกลุ่มภาพยนตร์ เพลง แฟชั่น และเทศกาล ควบคู่ไปกับการสร้างเมืองแห่งวัฒนธรรม (City of Culture) เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมและแพลตฟอร์มเทศกาลที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เช่น South By Southwest, Venice Biennale และ Seasons of Culture ให้มาจัดที่ UK
โดยสรุปหากมองภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยและ UK ล้วนมีทิศทางการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน จุดวัดความสำเร็จคงอยู่ที่วิสัยทัศน์และการให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้ของรัฐบาล เม็ดเงินที่จะใส่เข้ามาเพื่อเอื้อให้เกิดการเติบโต การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมไปถึงความพร้อมของธุรกิจและทักษะของแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งรัฐ การศึกษา และเอกชน เพื่อดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างไทยพาวเวอร์เพื่อแข่งขันบนเวทีโลกได้จริง
โดย: ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 17 มกราคม 2567