"ความปลอดภัยทางไซเบอร์" ปมท้าทายผู้นำโลกปี 2024
การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) 2024 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.นี้ ประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการรับมือ รวมทั้งการปรับตัวเพื่อดำรงภาวะที่เป็นปกติ เป็นหนึ่งในประเด็นหารือที่สำคัญในการประชุม
รายงานว่าด้วยเรื่อง แนวโน้มความปลอดภัยทางไซเบอร์ 2024 (Global Cybersecurity Outlook 2024) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ การประชุม WEF 2024 ได้ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความท้าทายในรูปแบบต่างๆที่บรรดาผู้นำโลกต้องเผชิญ ท่ามกลางความพยายามในการเตรียมตัวหาแนวทางป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความทนทานต่อการบุกรุกและการโจมตีระบบ รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการกู้คืนระบบให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ หรือที่เรียกโดยรวมว่า Cyber Resilience
ความท้าทายที่กล่าวมานี้ จะมาในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ ไปจนถึงการมีบทบาทมากขึ้นของ Generative AI ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์สุดอัจฉริยะที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ๆ จากผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เคยทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ เสียง ข้อความ และอื่นๆ แต่ความฉลาดของ Generative AI ก็อาจกลายเป็นดาบสองคม สร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล
รายงานของ WEF ชิ้นนี้ ไม่ได้แค่ระบุถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากความท้าทายที่กล่าวมา แต่ยังบ่งบอกถึงโอกาสดีๆที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
“เจอเรมี เจอร์เกน” กรรมการผู้จัดการ เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม บอกว่า โลกไซเบอร์ขยายตัวและมีพัฒนาการมากขึ้นสอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นมา ทั้งยังเป็นไปตามแนวโน้มทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก แต่การขยายตัวและเติบโตในโลกไซเบอร์ ทำให้ความท้าทายที่เป็นภัยคุกคามโลกดิจิทัลมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเขาเห็นว่า โลกจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะรับมือกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ความท้าทายและภัยคุกคามทั้งหลาย และสร้างอนาคตโลกดิจิทัลที่มีความมั่นคงปลอดภัย
หากจะกล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่มีประเทศไหนหรือองค์กรใดในโลกที่จะปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างสิ้นเชิง
“เจอร์เกน สต็อก” เลขาธิการองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ(อินเตอร์โพล) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทุกวันนี้ไม่มีประเทศไหนหรือองค์กรใดในโลกที่จะปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้โดยสิ้นเชิง เพียงแต่บางประเทศหรือบางองค์กรอาจมีกลไกป้องกันตนเองน้อยกว่า ทำให้ต้องเจอกับภัยคุกคามมากกว่า ถ้าหากประเทศต่างๆไม่พยายามถมช่องห่างนี้ กลไกป้องกันภัยไซเบอร์ในระดับโลกก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้
“เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อลงมือดำเนินการอย่างทันทีและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ร่วม ซึ่งจะทำให้โลกมั่นใจได้มากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น และรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น"สต็อก กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 มกราคม 2567