"บิล เกตส์" เปิดมุมมองใหม่ "AI เปลี่ยนแปลงโลก" ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
"บิล เกตส์" มหาเศรษฐีโลก ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เชื่อว่า AI ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เขาเปิดมุมมองใหม่ในการประชุม WEF 2024 ที่ดาวอส ว่า แม้ AI จะเข้ามาแย่งงานบางส่วนของมนุษย์ แต่นี่คือเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนหมอและครูในแอฟริกา ได้อย่างเยี่ยมยอดที่สุด
บิล เกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลกชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง บริษัทไมโครซอฟท์ เชื่อว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราในระยะ 5 ปีข้างหน้า และเขามองเรื่องนี้ในเชิงบวก
แม้จะมีกระแสเชิงลบเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ออกมาไม่มากก็น้อยในระยะที่ผ่านมา เช่น ล่าสุดต้นสัปดาห์นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานระบุว่า AI จะเข้ามาแทนที่งานของมนุษย์ประมาณ 40% ของที่มีอยู่ทั่วโลก แต่บิล เกตส์ ซึ่งปัจจุบันหันมาทำงานด้านสาธารณกุศลผ่านทางมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ก็ยังเชื่อเสมอว่า ทุกครั้งที่เทคโนโลยีใหม่ๆก่อกำเนิดขึ้น ผู้คนจะมีความหวาดวิตก แต่ขณะเดียวกันนั้น โอกาสใหม่ๆก็จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
เกตส์ยกตัวอย่างการเริ่มนำเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตมาใช้ในช่วงปีค.ศ. 1900 ในช่วงเวลานั้น ผู้คนโดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตรต่างก็มีความวิตกและตั้งคำถามว่า เทคโนโลยีกำลังจะเข้ามาทำให้พวกเขาตกงานใช่หรือไม่ แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว แม้จะมีบางภาคส่วนของแรงงานที่ได้รับผลกระทบ แต่โอกาสงานใหม่ๆก็เปิดกว้างออกเช่นกัน และการทำการเกษตรก็มีความก้าวหน้าขึ้นมาก ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคน ดังนั้น เขามองว่า เทคโนโลยี AI ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน
เกตส์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN ในระหว่างเข้าร่วมงานประชุมเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ประจำปี 2024 (WEF 2024) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า เขาเชื่อและคาดหมายว่า
เทคโนโลยี AI จะเข้ามาทำให้ชีวิตของทุกๆคนสะดวกสบายมากขึ้น เช่นช่วยให้บุคลากรการแพทย์ทำงานด้านเอกสารได้อย่างสะดวกง่ายดายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีเวลามากขึ้นสำหรับงานด้านอื่นที่สำคัญกว่า
นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี AI ยังไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพิ่มเติมมากนัก มนุษย์จึงสามารถเข้าถึง AI ได้ง่ายๆผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีอยู่แล้ว เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วเช่นกัน
เกตส์ยังมองว่า พัฒนาการและความก้าวหน้าของ AI อย่าง ChatGPT-4 ของบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ยังก้าวล้ำอย่างน่าประทับใจ สามารถช่วยมนุษย์อ่านและเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงคล้ายกับมีคนเก่งๆระดับมืออาชีพที่มีทักษะ มาเป็นที่ปรึกษา เป็นครูพิเศษ คอยช่วยเราทำงาน ช่วยเขียนรหัส หรือช่วยเหลือทางด้านเทคนิค
ดังนั้น เชื่อว่าการนำเทคโนโลยี AI เหล่านี้มาช่วยในงานด้านการศึกษาและด้านการแพทย์ จะเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์อย่างเยี่ยมยอด
อาจจะมองได้ว่า ส่วนหนึ่งที่เกตส์ออกมาให้ความสนับสนุนเทคโนโลยี AI อย่างแข็งขันนี้ เพราะปัจจุบัน เขายังคงเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของไมโครซอฟท์ และไมโครซอฟท์ก็มีการลงทุนและเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับโอเพ่นเอไอ แต่เกตส์ก็มีเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมมาสนับสนุนความคิดเห็นของเขาด้วยเช่นกัน
โดยในฐานะผู้บริหาร มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ หรือที่รู้จักในนาม “มูลนิธิเกตส์” ซึ่งเป็นมูลนิธิเอกชนหรือส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขามองว่า AI จะเข้ามาตอบโจทย์เป้าหมายของมูลนิธิได้เป็นอย่างดีในการช่วยเหลือประเทศยากจนที่ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงประโยชน์บางอย่างเฉกเช่นประเทศร่ำรวยและพัฒนาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี AI สามารถตอบโจทย์ความต้องการบางอย่างที่ประเทศยากจนในแอฟริกากำลังเผชิญอยู่ เช่นการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การขาดแคลนหมอ ขาดแคลนครู ซึ่งปัญหาแบบนี้ ประเทศในโลกตะวันตก ไม่ค่อยได้พบเจอแล้ว
ดังนั้น ในมุมมองของเกตส์ เทคโนโลยี AI อาจเข้ามาแทนที่งานบางส่วนของมนุษย์ในบางพื้นที่หรือบางประเทศ แต่ในพื้นที่ขาดแคลนอย่างเช่นในแอฟริกา ที่ซึ่งยังขาดทั้งหมอและครู เทคโนโลยี AI สามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างและทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตั้งใจบริจาคทั้งหมดที่มีอยู่ใน 20 ปี :
บิล เกตส์ ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สินส่วนตัวราว 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นมหาเศรษฐีที่มีความร่ำรวยเป็นอันดับ4 ของโลกในทำเนียบ
Bloomberg’s Billionaires Index ยังกล่าวในช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์กับ CNN เกี่ยวกับเรื่องความร่ำรวยว่า ทุกวันนี้ เขามีกินมีใช้มากเกินความจำเป็นอยู่มากแล้ว จึงบริจาคเงินส่วนเกินที่ว่านี้ให้โครงการสาธารณะกุศลที่ทำอยู่โดยไม่เคยกลัวว่าจะทำให้รวยน้อยลง หรือทำให้อันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกของเขาต้องปรับลดลงมา
“ผมทำให้อันดับของตัวเองลดลงมา และจะภูมิใจมากเลยนะถ้าชื่อของผมไม่ได้ติดอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีโลกน่ะ”
เกตส์และเมลินดา ซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตภรรยา (ทั้งคู่หย่าร้างกันในปี 2564) ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิการกุศลขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยทั้งคู่มุ่งมั่นที่จะบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ถือครองอยู่เพื่องานสาธารณะกุศล
ในปี 2565 เกตส์ประกาศว่ามูลนิธิของเขามีความตั้งใจที่จะบริจาคเงินปีละ 9,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2569 ซึ่งการบริจาคเงินรายปีในอัตราดังกล่าว จะทำให้เขาจะบริจาคเงินทั้งหมดที่มีอยู่ได้หมด ภายในเวลาประมาณ 20 ปี
วันที่ 19 มกราคม 2567