"โลกใต้" ผงาดผู้นำแถวหน้า ส่อเค้าสะเทือนระเบียบโลกดั้งเดิม
"โลกใต้" ผงาดผู้นำแถวหน้า ส่อเค้าสะเทือนระเบียบโลกดั้งเดิม โดยโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่จะขึ้นมามีบทบาทผู้นำ และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อินเดียอาจโตแซงหน้าจีดีพีญี่ปุ่นในปี 2569
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย นำเสนอรายงานที่ระบุว่า เสาหลักของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป เกิดความวุ่นวายขึ้นตั้งแต่เหนือจรดใต้ เนื่องจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เรียกว่า “โลกใต้” เริ่มมีบทบาทมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ อาจทำให้กฎระเบียบดั้งเดิมของประชาคมระหว่างประเทศที่มีชาติตะวันตกเป็นแกนนำปั่นป่วนและไม่ราบรื่นนัก
เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ หรือ G7 และประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย และตุรกี มารวมตัวกันที่กรุงริยาดเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียอย่างลับ ๆ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2566 เพื่อหารืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแผนสันติภาพสำหรับสงครามยูเครน ซึ่งแผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้รัสเซียและร่วมกันสนับสนุนความต้องการของยูเครนที่อยากให้รัสเซียถอนกองกำลังออกไป
แต่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการประชุมดังกล่าว เผยว่า ในระหว่างประชุมกลุ่มประเทศเกิดใหม่เรียกร้องให้ยูเครนยังคงเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ซึ่งยูเครนตอบโต้ความเห็นดังกล่าวอย่างรุนแรง แต่การหารือก็จบลงด้วยดี
การประชุมอีกแห่งในเดือน ต.ค. 2566 ตุรกีและประเทศอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศในฉนวนกาซา และวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐและยุโรป กลุ่มประเทศเกิดใหม่เริ่มไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติสองมาตรฐานของสหรัฐและยุโรปมากขึ้น ที่เข้าข้างอิสราเอล ทั้ง ๆ ที่ประณามรัสเซียว่าละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล
หลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว 80 ปี โลกมีความความมั่งคงและรุ่งโรจน์ภายใต้องค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งจากประเทศชนะสงครามเป็นส่วนใหญ่ อาทิ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่ขณะนี้ประเทศเกิดใหม่ออกมาสร้างความแข็งแกร่ง ผ่านการแสดงความเห็นต่างจากกลุ่มผู้ชนะสงครามเหล่านั้น
“นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิเอเชียว่า “ความน่าเชื่อถือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และกระบวนการตัดสินใจมักถูกตั้งคำถาม หากคณะมนตรีฯยังคงปฏิเสธการเป็นตัวแทนอย่างถาวรต่อระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่สุดในโลก และทวีปอื่น ๆ อย่างแอฟริกาและละตินอเมริกา”
อินเดีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี พยายามปฏิรูปคณะมนตรีฯความมั่นคงยูเอ็นมานานแล้ว โดยอินเดีย ในฐานะที่เป็นตัวแทนของโลกใต้ได้วิพากษ์วิจารณ์ระเบียบแบบเดิม ๆ และเบื้องหลังความเชื่อมั่นของอินเดียโลกใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว 3 ประการ
ในปี 2566 อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลของยูเอ็น ระบุว่า โลกมีประชากร 8,000 ล้านคนในปี 2565 มากกว่าในปี 2493 ถึง 3 เท่า ส่วนประชากรในกลุ่มพันธมิตรประเทศเกิดใหม่ 77 ประเทศ นอกเหนือจากจีน มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก และตอนนี้คิดเป็นสัดส่วน 60% ของประชากรโลก
ในแง่เศรษฐกิจ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่จะขึ้นมามีบทบาทผู้นำ และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อินเดียอาจโตแซงหน้าจีดีพีญี่ปุ่นในปี 2569 ด้านสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ คาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศ G77 อาจมีจีดีพีเติบโตมากกว่าสหรัฐและจีนภายในช่วงปี 2593
ขณะที่ความสมดุลของกองทัพเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม ระบุว่า กลุ่มประเทศ G7 ที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านกองทัพคิดเป็น 70% ของโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อาจใช้จ่ายด้านกลาโหมลดลงสู่ระดับประมาณ 50% ในปี 2565
พลเรือเอก เปโตรนิโอ ออกัสโต ซิเกรา เด อาเกียร์ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนานิวเคลียร์และเทคโนโลยีของกองทัพเรือบราซิล เผยเมื่อเดือนก.ย. 2566 ว่า ประเทศจะไม่หยุดแค่การจัดหาทรัพยากร แต่จะพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ด้วยตนเอง และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบภายในปี 2576
เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ บราซิลจะกลายเป็นประเทศแรกที่มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ในโลกใต้ และเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่มีเรือดำน้ำชนิดดังกล่าวรองจากสหรัฐ จีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ อีก 3 ประเทศ
แต่สัญญาณความสัมพันธ์อันร้าวลึกในซีกโลกใต้เริ่มชีดเจนมากขึ้นเช่นกัน
ในเดือต ต.ค. 2566 พรรคภารตียชนตา (บีเจพี) ของอินเดีย นำโดยโมดี กล่าวหา “ราหุล คานธี” สมาชิกและอดีตหัวหน้าพรรคคองเกรส พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ หรืออดีตทวิตเตอร์ เกี่ยวกับประเด็นที่คานธีพยายามโจมตีพรรคของตน โดยข้อความใส่ร้ายโพสต์ผ่านเอ็กซ์โดย “I.T. Cell” ของพรรคบีเจพี ที่คอยดูแลแคมเปญต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย
ความสมัครสมานสามัคคีของโลกใต้ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยการประชุมสุดยอดแถบและเส้นทาง ช่องทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ตามกลยุทธ์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกของจีนที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือน ต.ค. 2566 มีผู้นำเข้าร่วมเพียง 24 ประเทศ ลดลงจากการประชุมในปี 2562 ที่มีผู้เข้าร่วม 37 ประเทศ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากบางประเทศพูดถึงประเด็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนและรัสเซีย
นอกจากนี้ ในฐานะประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 แห่ง หรือ G20 บราซิล ได้จัดการประชุมเชอร์ปาในเดือน ธ.ค. 2566 และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจไม่ยอมรับแถลงการณ์ร่วมในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G20 เมื่อเดือน ก.พ. 2566 เพราะบราซิลไม่สามารถออกความเห็นในประเด็นสงครามยูเครนและกาซา ส่วนแอฟริกาใต้ ซาอุดีฯ และตุรกี มีปฏิกิริยาตอบโต้ในเชิงลบทันที
นี่จึงน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าซีกโลกใต้ยังไม่ใช่เสาหลักของโลก เพราะยังเต็มไปด้วยปัญหาความไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 มกราคม 2567