ลุ้นปี 67 ปีทองการลงทุน ฟื้น "เศรษฐกิจไทย"
ปี 2567 จะยังคงเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบเปราะบาง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังต้องเจอกับหลายปัจจัยลบส่วนทำให้เติบโตแบบอ่อนแอ แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กลับส่งสัญญาณบวกให้เห็นว่ามีเม็ดเงินลงทุนที่กำลังไหลเข้ามา ผ่านการขอรับการส่งเสริมตลอดช่วงปี 2566 และจะส่งผลมาถึงปี 2567 อย่างแน่นอน
ยอดขอบีโอไอ 840,000 ล้านบาท :
“นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยให้เห็นถึงยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของปี 2566 ซึ่งมีมูลค่าถึง 848,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้้น 43% สูงสุดในรอบ 5 ปี จากทั้งหมด 2,307 โครงการ ที่เพิ่มขึ้น 16% เป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 โดยเฉพาะกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การทดสอบแผ่นเวเฟอร์และแผงวงจรไฟฟ้า กิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ PCB และ PCBA
ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต่างก็มีการทุ่มลงทุนโครงการใหญ่จากจีน อย่างค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่วนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ยังทยอยเข้ามาลงทุนไม่ขาดสาย
ทำนักลงทุนย้ายฐานมาไทย :
สถานการณ์การแบ่งขั้วระหว่างกลุ่มประเทศต่าง ๆ ภายใต้รูปแบบของสงครามระหว่างประเทศนับตั้งแต่ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้ากำแพงภาษีขึ้นมา สงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดวิกฤตพลังงาน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทชั้นนำต่างมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความมั่นคง มีความพร้อม และไม่ใช่คู่ขัดแย้ง
ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ตอบโจทย์ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค อีกทั้งรัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับการลงทุนครั้งใหญ่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปี
ซึ่งจากการประเมินแล้วนั้น บีโอไอดูเหมือนจะมั่นใจว่า ปี 2567 ภาพรวมการลงทุนจะต้องสดใสอย่างมาก แม้ยอดขอรับการส่งเสริมที่ได้ตั้งเป้าไว้ 5 ปี คือ 3 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 600,000 ล้านบาท จะไม่หวือหวา แต่สิ่งที่คนไทยจะได้เห็นนั่นคือ การมาของเหล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งจากฝั่งเอเชียและจากฝั่งอเมริกา ย้อนกลับไปดูช่วงปีที่แล้ว จะเห็นทั้ง BYD ฉางอัน ไอออน และโฟตอน เข้ามาแล้ว จากนี้ต้องจับตาดูค่ายใหญ่ เทสลา จากฝั่งอเมริกาที่ทางรัฐบาลต่างพยายามสร้างแรงจูงใจในทุกมิติที่จะดึงบิ๊กรายนี้เข้ามาให้ได้
ผลพลอยได้จากทุกมาตรการ :
บีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำคัญ ๆ เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น
มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาและแน่นอนว่าผลพลอยได้ที่ไทยจะได้รับจากการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ปี 2566 มีจำนวน 2,383 โครงการ เงินลงทุนรวม 750,129 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 139,000 ตำแหน่ง เมื่อเกิดการจ้างงาน ส่งผลต่อกำลังซื้อ นั่นคือกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอย่างมาก
ส่องอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ปี 2567 :
นายนฤตม์ มองว่า ในปี 2567 จะเป็นปีทองสำหรับการลงทุน โดยจะมีนักลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน
สำหรับยานยนต์นอกจากจะดึงการลงทุนจากผู้ผลิต EV รายใหม่ ๆ รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญแล้ว ยังคาดว่าจะมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรถยนต์รายเดิม เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่
กกร.มองเศรษฐกิจยังอ่อนแอ :
ขณะที่ในฝั่งของภาคเอกชนนั้น “นายทวี ปิยะพัฒนา” รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ที่ประชุม กกร. เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวได้แต่ยังอ่อนแอ แม้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ แต่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
นอกจากนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่สินค้าไทยหลายรายการเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งยังต้องเจอกับปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย จากจีนส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้
ดังนั้นจึงประมาณการว่าเศรษฐกิจปี 2567 ยังคงขยายตัวระดับ 2.8-3.3% ส่งออกโต 2- 3% และเงินเฟ้อขยายตัว 0.7-1.2%
อย่างไรก็ตามต้องจับตาปัจจัยลบที่มาจาก 1.การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญ 2.ผลกระทบจากสงครามที่ขยายวง โดยเฉพาะอิสราเอล-ฮามาสที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่ม และกระทบกับราคาพลังงาน 3.ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และ 4.การแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน
ชี้ทางรอดของเศรษฐกิจไทย :
การสร้างความเข้มเเข็งในประเทศน่าจะเป็นเกราะที่ดีที่สุด เอกชนจึงต้องเสนอแนวทางไว้ให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อดึงเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมา อย่าง การขอให้ทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท การทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone การออกมาตรการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการตอบโต้ทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (AC) การเร่งมาตรการ Responsible Lending ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย และการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตามเมืองรอง
จนถึงการแก้ไขปัญหาการจัดจ้างงานก่อสร้างภาครัฐ ด้วยการปรับแนวคิดในกฎหมาย ปรับการคำนวณราคาให้สะท้อนต้นทุนจริง ปรับแบบสัญญาจัดจ้าง กำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกผู้รับเหมา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีการใช้ Local Content หรือวัสดุที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Made in Thailand และเครื่องหมายรับรอง Green Product
แนวทางเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตและจุดหมายของนักลงทุน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567