นักวิจัยเกาหลีใต้ พัฒนาข้าวเนื้อ แก้วิกฤตอาหาร-ลดการปล่อยคาร์บอน
นักวิจัยเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา "ข้าวเนื้อ" เพิ่มเซลล์เนื้อวัว เพิ่มคุณค่าโปรตีน ลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 8 เท่า แก้ปัญหาวิกฤตอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 มติชน รายงานว่า คณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยยอนเซ สถาบันการศึกษาชั้นนำในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ข้าวเนื้อ” ซึ่งเป็นอาหารไฮบริดรูปแบบใหม่ที่มีความยั่งยืน ซึ่งคณะนักวิจัยกล่าวว่าอาจช่วยแก้ปัญหาวิกฤตอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ และงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Matter เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์
คณะนักวิจัยระบุว่า เมล็ดข้าวดังกล่าวได้รับการเพาะในห้องแล็บ ซึ่งเต็มไปด้วยเซลล์กล้ามเนื้อวัวและไขมัน ผลลัพธ์ที่ได้คือเมล็ดข้าวสีชมพู ซึ่งทีมนักวิจัยชี้ว่านี่อาจเป็นทางเลือกสำหรับเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกกว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง
พัค โซฮยอน ผู้ร่วมเขียนรายงานการพัฒนาข้าวเนื้อกล่าวว่า ลองจินตนาการถึงสารอาหารทั้งหมดที่เราต้องการจากข้าวที่อุดมไปด้วยโปรตีนจากการเพาะเลี้ยง ข้าวมีคุณค่าทางสารอาหารในระดับสูงอยู่แล้ว แต่การเพิ่มเซลล์จากปศุสัตว์สามารถเสริมคุณค่าทางสารอาหารได้มากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ในการวิจัยพัฒนาได้มีการเคลือบเมล็ดข้าวด้วยเจลาตินจากปลา เพื่อช่วยให้เซลล์เนื้อวัวยึดติดกับเมล็ดข้าว จากนั้นจึงนำไปเพาะไว้ในจานเพาะเชื้อนานถึง 11 วัน ผลิตผลขั้นสุดท้ายที่ได้นั้น มีโปรตีนสูงกว่า 8% และไขมันมากกว่า 7% มากกว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปกติ และมีเนื้อแน่นแต่หักง่าย
“การพัฒนานี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างมาก เนื่องจากวิธีการผลิตจะขจัดความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค ซึ่งยังใช้ทรัพยากรและน้ำจำนวนมาก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก” พัค โซฮยอนกล่าว
รายงานระบุว่า ทุก ๆ 100 กรัมของโปรตีนที่ผลิตได้ คาดว่าข้าวไฮบริดนี้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 6.27 กิโลกรัม ในขณะที่การผลิตเนื้อวัวจะปล่อยออกมามากกว่า 8 เท่า
หากจำหน่ายเชิงพาณิชย์ก็จะเป็นทางเลือกที่มีราคาถูกลงสำหรับผู้บริโภคในเกาหลี โดยคาดว่าข้าวไฮบริดนี้จะมีราคาตกประมาณกิโลกรัมละ 2.23 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เนื้อวัวมีราคากิโลกรัมละประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยมีแผนที่จะพัฒนากระบวนการต่อไป ก่อนที่จะนำข้าวเนื้อจำหน่ายในตลาด เพื่อให้ได้เมล็ดข้าวที่มีคุณค่าสารอาหารมากขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567