เปิดความเห็นสมาชิกWTO ต่อการค้าใหม่จากร่างปฏิญญาอาบูดาบี เน้นปกป้องสวล.-ลดโลกร้อน
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 องค์การการค้าโลกได้เผยแพร่ อาบูดาบีแพ็คเกจ (Draft Abu Dhabi Package for the Thirteenth WTO Ministerial Conference) เพื่อนำเสนอในการประชุมรัฐมนตรีการค้าของ WTO ครั้งที่ 13 ที่กรุงอาบูดาบี ระหว่างวันที่ 26 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567
โดยหนึ่งในเอกสารสำคัญของ Abu Dhabi package คือร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี ซึ่งเป็นเอกสารสรุปท่าทีร่วมกันของสมาชิก WTO ทั้งหมด 164 ประเทศต่อการดำเนินงานที่ผ่านมาหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 12 และแนวทางต่อการดำเนินงานของ WTO ในอนาคต
“ร่างปฏิญญาอาบูดาบี ได้รวมข้อเสนอสำคัญที่ประเทศสมาชิกบางประเทศต้องการผลักดัน เพื่อให้ WTO ดำเนินการในช่วงต่อไป เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ในโลกการค้าปัจจุบัน ซึ่งเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศสนใจจะเป็นเรื่องการค้าและสิ่งแวดล้อม/โลกร้อน แต่ก็มีเรื่องใหม่ๆ ที่มีประเทศเสนอเข้ามาซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รับฉันทามติทุกเรื่อง”
นางพิมพ์ชนกกล่าว โดยในส่วนของประเทศพัฒนาแล้ว ได้พยายามผลักดันให้ WTO เริ่มหารือเกี่ยวกับการค้าและนโยบายอุตสาหกรรม (Trade and industrial policy) และการค้าและการมีส่วนร่วม (trade and inclusion) ที่เสนอโดยแคนาดาและออสเตรเลียตามลำดับ ซึ่งทั้งสองข้อเสนอนี้มีพื้นฐานมาจากข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2566 โดยเรื่องการค้าและนโยบายอุตสาหกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิก WTO หารือกันถึงความท้าทายและเครื่องมือทางนโยบายที่ประเทศสมาชิกใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตน รวมทั้งแนวทางในการยกระดับความโปร่งใสในการแจ้งข้อมูลมาตรการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมและแนวทางในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ WTO ที่สหภาพยุโรปอ้างว่าจำเป็นต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ที่ประเทศสมาชิกหลายรายนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการผลิตล้นเกินและการบิดเบือนทางการค้าไปยังประเทศสมาชิกอื่น
สำหรับข้อเสนอของออสเตรเลียนั้น เสนอให้ WTO หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการมีส่วนร่วม ซึ่งยังไม่ได้ระบุหัวข้อรายละเอียดที่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการยกระดับบทบาทของสตรีในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การสนับสนุน MSMEs และอาจรวมการส่งเสริมการกระจายผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศไปยังทุกภาคส่วนของประเทศสมาชิกต่างๆ ที่สหภาพยุโรปเคยเสนอเมื่อปี 2566
สำหรับประเทศกำลังพัฒนามีข้อเสนออยู่หลายข้อด้วยกัน
ที่สำคัญคือข้อเสนอของกลุ่มแอฟริกา 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือความพยายามผลักดันให้สมาชิกหารือถึงพื้นที่เชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Policy space for industrial development) ที่กลุ่มแอฟริกาอ้างว่ากฎระเบียบของ WTO ห้ามหรือไม่ให้ความยืดหยุ่นต่อประเทศกำลังพัฒนาในการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การห้ามใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออก และมาตรการข้อบังคับใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ (Local content requirement) สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ประเทศพัฒนาแล้วเคยใช้จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนในอดีต
นอกจากนี้ กลุ่มแอฟริกายังพยายามผลักดันให้มีการหารือเกี่ยวกับการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Trade and transfer of technology) เพื่อหาทางส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากขึ้น และการหารือการค้าและหนี้ (Trade and debt) เพื่อหาทางออกให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหนี้ ทำให้ไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการลงทุนในอุตสาหกรรม หรือจัดซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น
นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างอินเดียยังพยายามผลักดันให้ WTO หารือใน 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) การค้าบริการระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการจัดทำรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพทางสุขภาพ (Health professionals) (2) ต้นทุนการโอนเงินระหว่าง (Cost of remittances) และ (3) ความตกลง TRIPS และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) โดยมีประเทศกำลังพัฒนามากมาย
โดยเฉพาะในกลุ่มลาตินอเมริกาให้การสนับสนุน เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนามีกำลังแรงงานภาคบริการจำนวนมาก รวมทั้งมีการส่งเงินจำนวนมากกลับประเทศมาตุภูมิ และยังมีความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถถูกนำมาต่อยอดได้มากมาย ซึ่งไม่ควรจะถูกนำไปหาประโยชน์โดยนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการเกษตรยั่งยืนของบราซิลที่ให้ประเทศสมาชิกหารือแนวทางการยกระดับการผลิต ผลิตภาพ และการค้าสินค้าเกษตร และอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น
“ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของประเทศสมาชิก WTO ในการผลักดันให้ WTO เริ่มหารือเรื่องใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ตกขบวนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากประเด็นข้างต้นนี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ความมั่นคง เรื่อง global supply chain เป็นต้น แต่ ณ ขณะนี้ เรายังไม่ทราบว่า จะมีเรื่องใดที่ได้รับฉันทามติเห็นชอบให้อยู่ในผลลัพธ์การประชุม MC13 ที่อาบูดาบี ให้เป็นแนวทางให้ WTO หารือหรือเจรจาต่อไปบ้าง ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามสำคัญที่กำหนดอนาคตของการค้าโลก ซึ่งจะได้รับคำตอบจากการประชุม MC13 ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้” นางพิมพ์ชนกกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567