"จับตาค้าชายแดนไทยปี 67 หดตัวต่อ" ศก.เพื่อนบ้านซึม-สินค้าจีนตีอาเซียน
ส.อ.ท.เกาะติดการค้าชายแดนไทยปี 2567 ที่ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหลังปี 2566 ค้าชายแดน 4 ประเทศเพื่อนบ้านลดลง 12.06% จาก ศก.เพื่อนบ้านชะลอ ความไม่สงบในเมียนมา แถมเจอสินค้าจีนเข้าตีตลาดอาเซียน และปัญหาโลจิสติกส์ พร้อมเร่งช่วยเหลือนักลงทุนไทยในเมียนมาหันใช้สกุลเงินบาทลดความเสี่ยง จับตาสินค้าไปตะวันออกกลางอาจกระทบหลังค่าระวางเรือขึ้นรายวัน
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านยังมีความเสี่ยงและน่าเป็นกังวลเป็นอย่างมาก โดยปี 2567 ยังคงมีทิศทางหดตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่การค้าชายแดนของไทยกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย มีมูลค่าการค้ารวมกันที่ 929,730 ล้านบาท ลดลง 12.06% เมื่อเทียบกับปี 2565 แบ่งเป็น การส่งออกมีมูลค่า 580,100 ล้านบาท ลดลง 10.38% และการนำเข้ามีมูลค่า 349,630 ล้านบาท ลดลง 14.72%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านหดตัวมาจาก 1. เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดน 2. สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมายังคงมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการสู้รบของรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
ส่งผลให้เส้นทางการขนส่งสินค้าไม่ปลอดภัยและหลายพื้นที่ต้องจ่ายค่าคุ้มครองเพื่อขอผ่านเส้นทาง เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการไทย 3. สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในอาเซียนมากขึ้น 4. ปัญหาด้านการขนส่ง(โลจิสติกส์) และการผ่านแดนที่ติดขัด
“หากเจาะลงไปมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาปี 66 ลดลง 11.19%, มาเลเซีย ลดลง 11.74%, กัมพูชา ลดลง 19.22% ส่วนลาวแม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ถือว่าเล็กน้อยคือ 1.16% เพราะเศรษฐกิจเพื่อนบ้านชะลอ แต่สิ่งหนึ่งคือสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดทั้งในไทยและอาเซียน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ ซึ่ง ส.อ.ท.ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการอย่างเด็ดขาดก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยไปมากกว่านี้” นายมนตรีกล่าว
นอกจากนี้ ส.อ.ท.กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดเรื่องลงทุนของนักลงทุนไทย (Thai Direct Investment) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากทหารเมียนมามีการปฏิวัติเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือนักลงทุนไทยที่ยังมีกิจการหรือการลงทุนในพม่าอยู่บ้างโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs นอกเหนือไปจากกลุ่มที่ทำการค้าชายแดนแบบซื้อมาขายไป ซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่ง การประกันสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความปลอดภัย
โดย ส.อ.ท.ได้มีมาตรการผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการทำการค้าโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นหลัก โดยเฉพาะเงินบาท เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน เพราะค่าเงินในประเทศเพื่อนบ้านอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ทั้งในเมียนมาจากการแซงก์ชันของนานาประเทศ ลาวจากการที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูง และกัมพูชา หลังจากที่การเลือกตั้งล่าสุดได้สิ้นสุดลง
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ ยังมีทิศทางที่ดีอยู่ แต่ที่ต้องจับตามองตอนนี้คือ ในกลุ่มตะวันออกกลาง โดยสินค้าสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ อาหารแปรรูป หม้อแปลง แอร์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง เป็นต้น เพราะอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากปัญหาเรือขนส่งสินค้ายังได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดในทะเลแดงทำให้เรือจำนวนมากไปกองกันอยู่แค่ท่าเรือเดียวและค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นและผันผวนมีการปรับขึ้นเป็นรายวันทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน
จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งหารือกับสายเรือเพื่อเพิ่มจำนวนเรือขนส่งสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและเรือตลอดจนขอให้มีการชี้แจงแผนการเดินเรือและรายละเอียดในส่วนของค่าระวางเรือ (Freight rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567