อัปเดตเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย
ผ่านมาเกือบสามเดือน เศรษฐกิจโลกปีนี้ชะลอตามคาดแต่ยังวางใจไม่ได้ว่าจะปลอดภัยจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อคงไม่ลงต่อง่ายอย่างที่หวัง
ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้จะล่าช้าออกไปซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ที่สำคัญ ทิศทางและจังหวะการปรับดอกเบี้ยทั้งขึ้นและลงในประเทศหลักอาจไปคนละทาง เพราะความจำเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ทําให้ตลาดการเงินโลกจะผันผวน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ปลายปีที่แล้วแนวคิดหลักเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่วิเคราะห์กันคือ เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวลดลง เป็นการชะลอตัวเข้าสู่ระดับต่ำสุดที่จะเป็นฐานให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้มากขึ้นในปีหน้าและปีต่อๆไป
สนับสนุนโดยอัตราเงินเฟ้อที่จะลดลงต่อเนื่องในปีนี้และการปรับลงของอัตราดอกเบี้ยที่จะมีตามมา เมื่ออัตราเงินเฟ้อไม่เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เป็นภาพเศรษฐกิจโลกที่ปรับเข้าสู่วัฏจักรการขยายตัวรอบใหม่ ที่ความเสี่ยงทั้งด้านลบและด้านบวกจะลดลงและสมดุลมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะลดลง เป็นภาพเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างบวก
ผ่านมาเกือบสามเดือน เศรษฐกิจโลกที่เห็นขณะนี้ยังครึ่งๆกลางๆ ไม่เต็มร้อยเทียบกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ประเมินไว้ คือเศรษฐกิจโลกชะลอตามคาด แต่อัตราเงินเฟ้อช่วงสองเดือนแรกไม่ได้ลดลง แต่ทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่อยากเห็น
ทําให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยปีนี้จะล่าช้าออกไป รวมถึงอาจไม่เกิดขึ้นกรณีที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัว ทําให้ภาพการชะลอตัวอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกปีนี้และการฟื้นตัวในปีหน้ายังเอาแน่เอานอนไม่ได้
ในรายละเอียด ช่วงสามเดือนแรกปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดีแม้โมเมนตัมการบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มอ่อนตัว ซึ่งถ้าการชะลอตัวของการบริโภคยืนระยะคือเกิดต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐก็จะชะลอตัวมากขึ้นตามคาด
สำหรับตัวเลขการจ้างงานใหม่ในสหรัฐยังเข้มแข็ง ล่าสุด มีการจ้าง 275,000 ตําแหน่งงานใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์และตลาดแรงงานยังตึงตัวสะท้อนจากอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากที่อุปทานแรงงานปรับตัวตามความต้องการแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ทัน แม้ล่าสุดอุปทานแรงงานจะได้ประโยชน์จากแรงงานหนุ่มสาวเเรกเข้าและแรงงานจากต่างประเทศ
สำหรับเงินเฟ้อตัวเลขยังไม่ลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนกุมภาพันธ์ยังยืนระยะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3 และร้อยละ 4 ตามลำดับ ไม่ปรับลงสู่เป้าร้อยละ 2 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่อยู่ในระดับร้อยละ3-4 เป็นเดือนที่ห้า
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 3.2 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 3.8 ที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งเพราะราคานํ้ามันปรับเพิ่มขึ้น
แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐไม่สามารถลดลงสู่อัตราร้อยละสองได้คือตลาดแรงงาน โดยเฉพาะตลาดแรงงานสําหรับธุรกิจในภาคบริการที่ใช้แรงงานมาก
ความต้องการแรงงานมีสูงทําให้อัตราค่าจ้างในภาคบริการปรับสูงขี้นและสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้นทุนต่อผู้ประกอบการ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานยังไมคลี่คลาย ก็ยากที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการลดอัตราดอกเบี้ย
สำหรับยุโรป ทั้งเศรษฐกิจเยอรมันและอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค วัดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องปีที่แล้วและคาดว่าจะติดลบเช่นกันในไตรมาสแรกปีนี้
กรณีเยอรมัน :
เศรษฐกิจถดถอยเพราะขาดปัจจัยขับเคลื่อนไม่ว่าการใช้จ่ายในประเทศหรือการส่งออก เป็นผลจากราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทําให้เศรษฐกิจเยอรมันต้องปรับตัวมากทั้งด้านการใช้จ่ายและความสามารถในการแข่งขัน
กรณีอังกฤษ :
ก็คล้ายกัน อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก กระทบความเป็นอยู่และความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่การขาดแคลนแรงงานและผลิตภาพการผลิตที่ตํ่าเป็นข้อจํากัดต่อการปรับตัวของเศรษฐกิจ
ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยังสูงทั้งในยุโรปและอังกฤษที่ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 4 และการปรับลงของอัตราเงินเฟ้อในยุโรปเพื่อปูทางไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยก็จะมีข้อจำกัดจากตลาดแรงงานคล้ายกรณีสหรัฐ
อีกประเทศที่กําลังเข้าสู่วัฏจักรการฟื้นตัวคือ จีน ที่ปีที่แล้วเศรษฐกิจเจอปัญหามากทั้ง การใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแอ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ การส่งออกที่ชะลอตามเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นที่ซบเซา ทําให้เศรษฐกิจชะลอ อัตราเงินเฟ้อติดลบ
รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ย ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในจีนกลับมาเป็นบวก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เดือนกุมภาพันธ์ และรัฐบาลประกาศเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5 ต่อปี และจะออกพันธบัตรนอกงบประมาณเพื่อระดมสภาพคล่องแก้ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองปัญหาเป็นการแก้ที่ตรงประเด็น ปูทางไปสู่การฟื้นตัวที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจจีน
สำหรับญี่ปุ่น ปีนี้เศรษฐกิจคงชะลอต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่เศรษฐกิจอ่อนแอจนเกือบเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นผลของสังคมสูงวัยที่ประชาชนไม่ค่อยใช้จ่ายทำให้การบริโภคขยายตัวต่ำ
ขณะที่ผลิตภาพแรงงานที่ตํ่าก็กระทบการส่งออกและความสามารถในการแข่งขัน แต่การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ธุรกิจส่งออกมีกําไร กระตุ้นให้ตลาดหุ้นเติบโตและอัตราเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เดือนมกราคม
ตลาดการเงินคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นควรหยุดนโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบโดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ได้เร่งตัวขึ้น
นี่คือสถานการณ์ล่าสุด เห็นได้ว่า
หนึ่ง เศรษฐกิจของประเทศหลักส่วนใหญ่ขณะนี้กําลังชะลอ ซึ่งจะดึงให้ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอลงเช่นกัน กระทบการค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว
สอง อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่สามารลดลงได้ต่อเนื่องเพราะข้อจำกัดในตลาดแรงงานจะทําให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นปีนี้จะล่าช้าออกไป และประโยชน์ที่จะได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่าลงเพื่อประคองเศรษฐกิจโลกให้ชะลออย่างมีเสถียรภาพก็จะล่าช้าไปด้วย หรืออาจไม่เกิดขึ้น ทําให้ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจะยังมีอยู่
สาม แม้ธนาคารกลางสหรัฐยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่บางประเทศอาจปรับลงก่อนเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย เช่น ประเทศในยุโรป หรือเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น จีน หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ เช่น ญี่ปุ่น
ความเป็นไปได้เหล่านี้จะทําให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกระยะสั้นไม่ไปในทางเดียวกัน คือไม่ Synchronize กระทบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ทิศทางเงินทุนไหลเข้าและค่าเงิน ผลคือความผันผวนในตลาดการเงินจะมีมากขึ้น
นี้คือประเด็นที่นักลงทุนต้องตระหนัก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 18 มีนาคม 2567