สารพัด FTA ของอินเดีย เดิมพันครั้งใหญ่ของ "โมดี"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ถึงความเคลื่อนไหวทางการค้าที่น่าสนใจที่สุดในระยะหลัง ๆ มานี้ คือ การทำความตกลงเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอินเดีย กับสารพัดประเทศและเขตเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ข้อเท็จจริงก็คือ นับตั้งแต่ปี 2021 เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ลงนามในความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไปแล้วอย่างรวดเร็วมากถึง 4 ความตกลง หลังจากที่ 9 ปีก่อนหน้านั้น ไม่มีการทำความตกลงการค้าเสรีใด ๆ มาเลย
ความตกลงเอฟทีเอของอินเดีย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ก็คือ การทำความตกลงเอฟทีเอ ทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน กับ 4 ชาติในยุโรป ที่เรียกตัวเองว่า สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association หรือ EFTA) ที่ประกอบด้วยประเทศอย่าง ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์ และชาติสำคัญในยุโรปอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ กับนอร์เวย์
ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การทำความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวเหล่านี้ เกิดขึ้นในยามที่ “อินเดีย” กลายเป็นประเทศที่มีแรงดึงดูดใจด้านการค้าและการลงทุนสูงสุด ไม่เพียงในฐานะที่เป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคนเท่านั้น ยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และขยายตัวเร็วที่สุดในโลกด้วยอีกต่างหาก
แถมเป็นการรุกทางด้านการค้าในช่วงเวลาที่ “เศรษฐกิจจีน” มีปัญหาสารพัด การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว ความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบนับสิบปี
ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า วัตถุประสงค์หนึ่งของอินเดียก็คือการแสดงให้เห็นว่า ประเทศอย่างอินเดียสามารถเป็น “ตัวเลือก” ที่มีประสิทธิภาพแทนที่ของ “จีน” ได้ในระบบห่วงโซ่การผลิตของโลก ควบคู่ไปกับความคาดหวังที่ว่า ภายใต้เอฟทีเอที่จัดทำขึ้นนี้ จะช่วยให้ภาคการผลิตในอินเดียขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ดูดซับแรงงานหนุ่มสาวนับสิบ ๆ ล้านคนที่กำลังตบเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วจะเป็น “ตัวช่วย” สำคัญในแง่ของการเมืองภายในประเทศสำหรับ โมดี อีกด้วย
การทำเอฟทีเอกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ก็ดี หรือแม้แต่กระทั่งความตกลงการค้าเสรีกับสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในราวเดือนเมษายนและพฤษภาคม นอกจากนั้นแล้วการเจรจาเอฟทีเอ ด้านการค้าและการลงทุนกับ โอมาน ก็บรรลุถึงบทสรุปไปเรียบร้อยแล้ว และอาจมีการลงนามเพื่อทำให้เป็นความตกลงอย่างเป็นทางการกันภายในเดือนมีนาคมนี้ ล้วนอยู่ในแนวทางที่จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ในแนวทางดังกล่าวทั้งสิ้น
อินเดีย คาดหวังว่า เอฟทีเอ เหล่านี้จะอำนวยประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของตนเอง ที่รวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่า 14% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงมากกว่า 45 ล้านคน และก่อให้เกิดรายได้คิดเป็นสัดส่วนแล้วสูงกว่า 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมด
นอกจากนั้นยังเชื่อว่า จะยังผลให้เกิดประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ ผลผลิตทางทะเล, ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมเคมี, หนัง, รองเท้าและอัญมณี อีกด้วย
แต่การได้ทำความตกลงเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการปฏิบัติตามพันธสัญญาในข้อตกลงให้ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และอาจกลายเป็นปัญหาสำหรับอินเดีย
ในทางหนึ่ง บรรดาเอฟทีเอเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจของทางการอินเดีย ในการจัดการกับปัญหาแรงงาน, ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ซึ่งเป็นสารพัดปัญหาที่อินเดียพยายามหลีกเลี่ยง ไม่แตะต้องมาก่อนในอดีตที่ผ่านมา
ในอีกทางหนึ่ง อินเดียจำเป็นต้องปรับปรุง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง เพื่ออุดช่องโหว่ในการดำเนินกิจกรรมธุรกิจ นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องสะสางกฎระเบียบ, การจัดเก็บภาษี และความเฉื่อยเนือย ล้าหลังของระบบราชการ ที่นักวิชาการ นักสังเกตการณ์ระบุว่า เป็นเรื่องยากไม่น้อย แต่อินเดียรู้ดีว่า จำเป็นต้องทำ จำเป็นต้องแก้ไข
เดโบราห์ เอล์มส์ นักวิจัยด้านนโยบายการค้าของ ไฮน์ริช ฟาวเดชั่น ในสิงคโปร์ ระบุว่าที่ผ่านมา จำนวนบริษัทเอกชนที่ร้องเรียนหรือต่อว่า เรื่องการไม่ทำตามพันธสัญญาการลงทุน จนทำให้รู้สึกได้ว่าการทำธุรกิจในอินเดียยังคงเป็นเรื่องยากมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
เธอสำทับว่า ในหลาย ๆ กรณีช่องว่างระหว่าง คำพูดและการกระทำ ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญขึ้นมากมาย และจะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจที่นั่นได้ในที่สุด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 28 มีนาคม 2567