"April Fools Day" 1 เมษายน วันเมษาหน้าโง่ กับที่มาของวันโกหกบันลือโลก
"April Fools Day" ตรงกับวันที่ 1 เมษายน นอกจากจะเรียกกันว่า "วันโกหกโลก" แล้ว ยังมีคำเรียกตามชื่อภาษาอังกฤษว่า "วันเมษาหน้าโง่" ในวันนี้หลายคนตั้งตาเฝ้าจับผิดว่า สื่อต่างๆจะมีการนำเสนอข่าวแปลกๆ ที่น่าจะเป็นเรื่องโกหก อำกันเล่น ตามธรรมเนียมวัน April Fools' Day หรือไม่
ทุก วันที่ 1 เมษายน หรือที่ทางประเทศตะวันตกเรียกว่า April Fools' Day (วันเมษาหน้าโง่) หลายสื่อจะนำเสนอ “ข่าวกุ” หรือ “ข่าวหยอก” แบบล้อกันเล่นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของวันนี้ ซึ่งหากมีการฮือฮา หรือถูกซักถามกันมาก ว่านี่คือเรื่องจริงหรือเท็จ ก็จะมีการออกมาเฉลยกันในภายหลังว่า นี่คือข่าวหลอก หยอกกันเล่นตามธรรมเนียมของวันเมษาหน้าโง่
ที่มาหรือต้นกำเนิดของ April Fools' Day กล่าวกันว่า มีมาตั้งแต่ยุคโรมัน มีบันทึกโบราณระบุว่าต้นกำเนิดของ "วันเมษาหน้าโง่" เกิดขึ้นใกล้เคียงกับ "เทศกาลฮิลาเรีย" ของโรมันที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม ขณะที่ในยุโรปสมัยยุคกลางก็พบว่ามี "เทศกาลคนโง่" จัดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคมด้วย
บางประเทศทางยุโรป เช่น กรีซ ฝรั่งเศส มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับธรรมเนียมเล่นแกล้งกันด้วยเรื่องหลอกอำหรือโกหกกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19
ย้อนไปเก่าแก่ที่สุด เรื่องที่น่าจะเกี่ยวกับ April Fools' Day มากที่สุด คือหลักฐานบันทึกโบราณในตำนานแคนเทอร์บรี (The Canterbury Tales) ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) เป็นเรื่องที่ถูกเล่าต่อขานกันมาว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่ จากบันทึกเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นคือตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่า ตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง "โกหก" นั่นจึงเป็นบันทึกแรกที่มีความเชื่อมโยงกับ “การโกหก” ในวันที่ 1 เมษายน
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกตำนานที่เชื่อมโยงกับกำเนิดวัน April Fools' Day โดยมีเรื่องเล่าว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปที่เพิ่งเปลี่ยนการนับแบบใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16 แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลาง วันปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ. 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม
แต่เนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คนบางกลุ่มจึงยังจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่นๆ พากันเรียกพวกเขาว่า "พวกเมษาหน้าโง่" (April Fools) แล้วพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง
หัวใจของการโกหกในวัน April Fools' Day คือความตลก อำเล่นพอสนุกครื้นเครง ไม่สร้างความเดือดร้อน เรื่องที่โกหกต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ไม่ทำอันตราย ไม่ให้ร้ายใคร และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
จากการล้อเลียนคนที่ฉลองปีใหม่ผิดวันในประเทศแถบยุโรปในวันที่ 1 เมษายน ถูกต่อยอดโดยคนโบราณสู่วัฒนธรรมการแกล้งอำและโกหกกันในวัน April Fools' Day ของทุกๆ ปี ซึ่งการเล่นนี้ ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอเชีย และประเทศไทย
ในประเทศอังกฤษ วัน April Fools' Day จะมีการแกล้งกันอย่างเปิดเผยด้วยการตะโกนว่า "เอพริลฟูล" (วัน April Fool) ใส่คนที่ถูกหลอก เพื่อชี้เป้าว่า คนนี้กำลังโดนแกล้งและถูกเพื่อนๆ เรียกว่า "คนโง่เดือนเมษา" ส่วนในประเทศฝรั่งเศส จะแกล้งเพื่อนด้วยการเอากระดาษรูปปลาไปแปะไว้ข้างหลังคนที่ถูกแกล้ง เมื่อฝ่ายที่ถูกแกล้งรู้ตัว คนแกล้งจะตะโกนว่า "Poisson d'Avril!" (April Fish!) ซึ่งเป็นคำที่คนฝรั่งเศสใช้เรียกคนที่ถูกหลอกหรือถูกแกล้ง ในอิตาลีก็มีธรรมเนียมการเล่นแกล้งแปะรูปปลาที่หลังในวัน April Fools' Day เช่นกัน
เรื่องโกหกยอดฮิตในวันเมษาหน้าโง่เมื่อครั้งอดีต :
สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์เคยรวบรวม “ข่าวหยอก” ที่ถูกนำเสนอในวันเมษาหน้าโง่ในอดีต และถูกกล่าวขวัญถึงกันมากที่สุด ดังนี้ ทั้งสามข่าวที่ถูกคัดสรร ดูแล้วก็พอจะเดาได้ว่า เป็นข่าวที่ไม่น่าจะมีคนเชื่อ แต่เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อระดับ “สื่อใหญ่” นำมาเล่น ผู้อ่านก็เลยตกหลุมพราง นึกว่าอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ จนสุดท้ายถึงมีการออกมาเฉลยว่า เป็นแค่มุกข่าวหยอก หลอกอำกันเล่นๆ ในวันที่ 1 เมษายนเท่านั้น
สามข่าวกุ หรือข่าวหลอกบันลือโลกในวันเมษาหน้าโง่เมื่อครั้งอดีต ที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุด ได้แก่
1) เส้นพาสตางอกออกมาจากต้นไม้ :
ธรรมเนียมการตีพิมพ์ข่าวหยอกเนื่องในวันเมษาหน้าโง่ (April Fools' pranks) ของประเทศอังกฤษนั้น ย้อนอดีตไปได้ถึงศตวรรษที่ 18 ซึ่งข่าวหลอกที่ปล่อยออกมา มักจะหวังเรียกรอยยิ้ม อำกันขำๆ มากกว่าที่จะสร้างความตื่นตระหนกตกใจ บางทีก็ปล่อยออกมาวันสองวันก่อนเฉลยในภายหลัง และเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด คือข่าวที่อำเล่นโดยสื่อใหญ่อย่าง “บีบีซี” เผยแพร่เป็นรายการโทรทัศน์ชื่อรายการ “พาโนรามา” (Panorama) ออกอากาศช่วงกลางวันเมื่อวันที่ 1 เมษายนปี 1957 (พ.ศ.2500) เนื้อหากล่าวถึงเกษตรกรผู้ปลูกพาสตาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ข่าวระบุว่า เกษตรกรครอบครัวนี้เก็บเกี่ยวเส้นพาสตาได้มากเป็นประวัติการณ์จาก “ต้นสปาเก็ตตี้” ซึ่งในภาพข่าวที่เผยแพร่มีการสัมภาษณ์เกษตรกรเกี่ยวกับการปลูกอย่างไรถึงจะได้เส้นพาสตายาวๆ และกระบวนการเพาะปลูก
รายการดังกล่าวมีผู้ชมจำนวนนับล้านๆคนทั่วประเทศอังกฤษ เนื่องจากบีบีซีเป็นสำนักข่าวใหญ่ที่สุดของประเทศ และก่อนจะมีการเผยแพร่ข่าวซึ่งมีความยาว 3 นาทีนี้ ก็ไม่ได้มีการแจ้งผู้ชมแต่อย่างใดว่านี่เป็นข่าวหลอกสำหรับวันเมษาหน้าโง่ ดังนั้น ฟีดแบ็คหลังรายการออกอากาศไป คือมีผู้ชมจำนวนมากนับร้อยๆคน โทรเข้ามายังรายการเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกต้นสปาเก็ตตี้ตามที่ปรากฏในข่าว แน่นอนว่างานนี้ทางสถานีได้ออกมาเฉลยในภายหลัง
2) นาฬิกาบิ๊กเบนจะแสดงผลบนหน้าปัดเป็นตัวเลขดิจิทัล :
สถานีโทรทัศน์บีบีซีเย้าหยอกผู้ชมด้วยข่าวเมษาหน้าโง่อีกครั้งในปี 1980 (พ.ศ.2523) คราวนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับหอนาฬิกาบิ๊กเบน ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันใช้เป็นรัฐสภาอังกฤษ หอนาฬิกาแห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งของมหานครลอนดอน
ในเนื้อหาข่าวหลอกบอกว่า นาฬิกาบิ๊กเบนจะเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัล บอกตัวเลขเวลาบนหน้าปัดแทนเข็มนาฬิกาที่เป็นเข็มสั้นเข็มยาวแบบดั้งเดิม ข่าวนี้เผยแพร่ทางรายการวิทยุบีบีซี มีการบอกผู้ฟังให้ร่วมสนุกด้วยการบอกว่าจะแจก “เข็มนาฬิกาบิ๊กเบน” ให้แก่ผู้ฟังที่โทรเข้ามาในรายการ 4 สายแรก
ข่าวหยอกครั้งนี้ของบีบีซีทำให้หลายคนไม่พอใจ เพราะหอนาฬิกาบิ๊กเบนถือเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ ทำให้ทางสถานีต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการหลังได้รับเสียงตำหนิติเตียนเข้ามามาก
3) ข่าวโจรขโมยทองคำจากกระทรวงการคลังสหรัฐ :
นี่เป็นอีกข่าวกุประจำวันเมษาหน้าโง่ที่มีการกล่าวขวัญถึงอย่างมากในอดีต โดยสามารถสร้างกระแสฮือฮาทั้งในฝั่งภูมิภาคยุโรปและอเมริกา เป็นข่าวที่ตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์แบร์ลินเนอร์ ทาเกอบลัตต์ (Berliner Tageblatt) ของประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1905 (พ.ศ.2448) เนื้อหาข่าวระบุว่า มีกลุ่มโจรเข้าปล้นเหรียญเงินและทองคำจากอาคารกระทรวงการคลังสหรัฐในกรุงวอชิงตัน ดีซี
ข่าวนี้กลายเป็น Talk of the Town เพราะช่วงเวลานำเสนอประจวบเหมาะกับจังหวะที่จะมีการขนย้ายเหรียญเงินและทองคำจากวอชิงตันไปเก็บรักษาที่ฟอร์ทน็อกซ์ในรัฐเคนตักกีพอดี
ข่าวของสื่อเยอรมันฉบับนี้ ระบุว่า พวกโจรใช้เวลาเตรียมการถึง 3 ปีในการขุดอุโมงค์ใต้ดินขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ใต้กระทรวงการคลัง ก่อนที่จะลงมือขโมยเหรียญเงินและทองคำคิดเป็นมูลค่ากว่า 268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปรากฏว่า หลังตีพิมพ์ข่าวออกมา ได้เกิดกระแสฮือฮาทั่วทั้งยุโรปอย่างรวดเร็ว หลายคนเชื่อว่าตำรวจสหรัฐได้ทำการไล่ล่ากลุ่มโจรนี้ไปทั่วประเทศ ก่อนที่จะมาเฉลยกันในภายหลังว่านี่คือข่าวหลอกวันเมษาหน้าโง่และผู้เขียนก็ใช้ชื่อปลอมด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 1 เมษายน 2567