2 เมษายน วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) วันนี้มีที่มา
องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี เป็น "วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก" (World Autism Awareness Day) หรือเรียกสั้นๆว่า "วันออทิสติกโลก" เพื่อส่งเสริมให้สังคมเข้าใจ และยอมรับความเป็นอยู่ ของบุคคลที่มีภาวะออทิสติก พร้อมทั้งสนับสนุนให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น
นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิก และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของ “โรคออทิสติก” เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ และการสร้างความเท่าเทียม เพื่อที่บุคคลที่ประสบภาวะเป็นออทิสติกจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆในสังคมได้อย่างมีความสุข
บางประเทศจัดกิจกรรมตลอดทั้งสัปดาห์ เพื่อให้เป็นสัปดาห์ตระหนักรู้ออทิสติก (World Autism Awareness Day) ในช่วงสัปดาห์เดียวกับวันที่ 2 เมษายน เช่นที่ประเทศอังกฤษ ขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการจัดกิจกรรมให้เป็นเดือนแห่งการตระหนักรู้เกี่ยวกับออทิสติกตลอดทั้งเดือนเมษายนเลยทีเดียว
ทั้งนี้ องค์กรออทิสติกแห่งอเมริกา ได้กำหนดให้ใช้ริบบินรูปจิ๊กซอร์ (puzzle ribbon) เป็นสัญลักษณ์สากลของการตระหนักรู้ออทิสติก โดยมีการจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่หลากหลาย เช่น เข็มกลัดติดเสื้อ แม่เหล็กติดตู้เย็น หรือสติกเกอร์ นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์โดยใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ เช่น ใส่เสื้อผ้าสีฟ้า หรือตกแต่งสถานที่เป็นสีฟ้า เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว
“วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก” จึงเป็นวันสำคัญที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคออทิสติกให้กับสังคมโลกอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้กำหนดธีมเฉพาะของวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ในแต่ละปี ดังนี้
* พ.ศ. 2555 “Awareness Raising”
* พ.ศ. 2556 “Celebrating the ability within the disability of autism”
* พ.ศ. 2557 “Opening Doors to Inclusive Education”
* พ.ศ. 2558 “Employment: The Autism Advantage”
* พ.ศ. 2559 “Autism and the 2030 Agenda: Inclusion and Neurodiversity”
* พ.ศ. 2560 “Toward Autonomy and Self-Determination”
* พ.ศ. 2561 “Empowering Women and Girls with Autism”
* พ.ศ. 2562 “Assistive Technologies, Active Participation”
* พ.ศ. 2563 “The Transition to Adulthood”
* พ.ศ. 2564 “Inclusion in the Workplace”
* พ.ศ. 2565 “Inclusion Education”
* พ.ศ. 2566 “Transformation: Toward a Neuro-Inclusive World for All”
* พ.ศ. 2567 “Colour” ซึ่งโลโก้สัญลักษณ์ของวันตระหนักรู้ออทิสติกโลกประจำปีนี้ เลือกใช้สีสันที่สดใส เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการ “พลิก” หรือ “ยุติ” ภาพจำเดิมๆของคนเราเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นออทิสติก ชีวิตของพวกเขาไม่ใช่สีที่มัวหม่นหรือซึมเซา หากแต่เต็มไปด้วยสีสันแห่งพลังสร้างสรรค์ที่พร้อมจะถูกปลดปล่อยออกมา
กลุ่มคนที่มีภาวะออทิสติก คืออย่างไร :
ตามทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ โรคออทิสติกไม่ได้แยกเป็นกลุ่มอาการออทิสติกและโรคออทิสติกแยกกันแล้ว แต่ถูกนำมารวมเป็นกลุ่มภาวะออทิสติกทั้งหมด โดยมีการแยกออกเป็นระดับความรุนแรงตามอาการและภาวะออทิสติกที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล
ในกลุ่มเด็กที่มีอาการออทิสติก จะพบว่าพัฒนาการของพวกเขาจะล่าช้าใน 2 ด้านหลัก คือ ด้านภาษาเพื่อสื่อสารทางสังคม และด้านพฤติกรรม ซึ่งสองด้านนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก และมักจะทำให้เด็กมีความยากลำบากในการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในชีวิตประจำวัน
ด้านภาษาในการสื่อสารทางสังคม ผู้ป่วยอาจแสดงออกเป็นการไม่สนใจการพูดคุยหรือไม่ตอบสนอง การพูดช้ากว่าวัยเดียวกัน หรือไม่สามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้
นอกจากนี้ เมื่อโตขึ้น ผู้ป่วยอาจยังมีปัญหาในการเริ่มต้นการสนทนา และขาดความสามารถในการเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมชั้น และมักไม่สามารถเข้าใจสถานการณ์ทางสังคมได้ เนื่องจากไม่สามารถอ่านสีหน้าและอารมณ์ของผู้อื่น
ส่วนด้านพฤติกรรมนั้น พวกเขาอาจมีพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และไม่เหมาะสม เช่น การสะบัดมือซ้ำ ๆ การพูดซ้ำ ๆ การมองพัดลมหมุน ๆ การยึดติดกับอาหารและการกินอาหารซ้ำ ๆ และความไม่ยืดหยุ่น รวมถึงการมีความชอบในการทำตามขั้นตอนหรือแผนที่ได้วางไว้ และการมีความไวต่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่อาจมีประสิทธิภาพต่ำหรือสูงเกินไป เช่น ความไม่ชอบเสียงบางอย่าง การชอบที่จะดมกลิ่นอย่างมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นสัญชาตญาณของภาวะสุขภาพจิต หรืออาจมีสาเหตุอื่นเช่นภูมิต้านทานที่ต่ำลง
ดังนั้น การดูแลและรักษาเด็กที่มีอาการออทิสติก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก หากผู้ปกครองพบว่าลูกหลานมีอาการออทิสติก ต้องพาไปตรวจและดูแลรักษาโดยแพทย์และทีมสหวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการได้ตามปกติ และช่วยปรับพฤติกรรม รวมถึงฝึกทักษะการเข้าสังคมให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เด็กที่มีอาการออทิสติกที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก จะช่วยเพิ่มพัฒนาการ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ดี เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวกับสังคม เข้าโรงเรียนได้ และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต่อไปในอนาคต
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2567