ตรวจผลกระทบเศรษฐกิจ เมื่ออิสราเอลประกาศเอาคืนอิหร่านอย่างรุนแรง
อิสราเอลประกาศจะเอาคืนอิหร่าน "อย่างรุนแรง" จากการระดมโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่เมื่อวันเสาร์ ขณะนี้นักวิเคราะห์พากันคาดการณ์ว่า อิสราเอลตอบโต้แน่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและมากขนาดไหนเท่านั้น
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงาน ตามที่อิหร่านใช้โดรนและขีปนาวุธกว่า 300 ลูกโจมตีเป้าหมายทางทหารในอิสราเอล เมื่อคืนวันเสาร์ (13 เม.ย.) ที่ผ่านมา ใหญ่ในระดับที่แม้แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ยังต้องเอ่ยปาก “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
นักวิเคราะห์กำลังจับตาว่าอิสราเอลจะจัดการอย่างไรต่อไป
“ตอนนี้ แน่นอนว่าพวกเขากำลังคิดอย่างจริงจังเรื่องการโจมตีอิหร่านโดยตรง เพราะนั่นคือวิธีการป้องปรามที่ชัดเจนที่สุด” ไรอัน โบห์ล นักวิเคราะห์อาวุโสด้านตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ บริษัทข่าวกรองความเสี่ยงเรนเน็ตเวิร์กกล่าวและว่า กระนั้น อิสราเอลจำเป็นต้องโจมตีอย่างสมดุล
“พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งอย่างเปิดเผยกับอิหร่าน”
อีกหนึ่งกลวิธีที่เสี่ยงน้อยกว่าในทัศนะของโบห์ลคือ “การยกระดับแบบแฝงเร้น” นั่นคืออิสราเอลจะมองหาวิธีนำสงครามเงาของตนกลับมาสู่เงามืดด้วยความเข้นข้นยิ่งขึ้น
ด้านไบเดน เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในรัฐบาลเผยว่า แม้ประธานาธิบดีสหรัฐให้คำมั่นว่า จะรับผิดชอบความมั่นคงของอิสราเอลจากภัยคุกคามของอิหร่าน “อย่างไม่เสื่อมคลาย” แต่ก็บอกชัดเจนกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูว่า สหรัฐจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับปฏิบัติการรบต่อต้านอิหร่าน
อิสราเอลกับอิหร่านนั้นขัดแย้งกันมาหลายสิบปี อิหร่านให้เงินและการสนับสนุนแก่กลุ่มต่อต้านอิสราเอล เช่น ฮามาส กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ สงครามกาซาที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้มักถูกมองว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลเตหะรานยังสนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน กลุ่มฮูตีของเยเมน และรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรียด้วย
“ในทางยุทธศาสตร์ผมคิดว่า อิสราเอลจะเคลื่อนไหวภายในหนึ่งสัปดาห์” เดวิด โรช ประธานและนักยุทธศาสตร์โลกจาก Independent Strategy กล่าว เขาไม่คิดว่ากองทัพอิสราเอลจะโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของอิหร่าน เพราะนั่นจะทำให้ผู้สนับสนุนทุกรายรวมถึงสหรัฐไม่พอใจ
โรชมองว่า การตอบโต้ในทันทีของอิสราเอลอาจอยู่ในระดับปานกลาง แต่ไม่ตัดประเด็น “การตอบโต้รุนแรง” อาจเกิดขึ้นราวหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่งนับจากนี้
ความเสี่ยงราคาพลังงาน :
นักวิเคราะห์มองว่า เผลอๆ ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจใหญ่สุดในระยะสั้นหากอิสราเอลกับอิหร่านขัดแย้งกันโดยตรงคือการที่ราคาพลังงานโลกพุ่งสูง
ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ส่งออกน้ำมันใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความขัดแย้งอาจป่วนอุปทานเป็นเหตุให้ราคาพุ่ง
น่าสังเกตว่า ราคาน้ำมันลดลงในวันจันทร์ (15 เม.ย.) เมื่อตลาดรอคอยการตอบโต้จากอิสราเอล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และน้ำมันดับเบิลยูทีไอซื้อขายล่วงหน้าลดลงราว 1%
ทั้งนี้ น้ำมันปริมาณมหาศาลต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ทำเลยุทธศาสตร์ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ถ้าอิหร่านเลือกใช้ช่องแคบฮอร์มุซสร้างความปั่นป่วน ย่อมทำให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวด ก่อนที่อิหร่านจะโจมตีอิสราเอลในวันเสาร์
รัฐบาลเตหะรานได้ยึด MSC Aries เรือสินค้าติดธงโปรตุเกสในช่องแคบฮอร์มุซนำหน้าไปก่อน
ในเดือน ต.ค.หลังจากฮามาสโจมตีอิสราเอล บลูมเบิร์กอีโคโนมิกประเมินว่า โลกจะเป็นอย่างไรหากเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านโดยตรง นักวิจัยคาดว่าในฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดน้ำมันอาจทะยานไปถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเมื่อบ่ายวันจันทร์ น้ำมันดิบเบรนท์โฉบเฉี่ยวอยู่ที่ราว 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาพลังงานที่สูงขึ้นผลพวงความขัดแย้งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคในสหรัฐและที่อื่นๆ รวมถึงกระทบต่อความพยายามลดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ยิ่งราคาน้ำมันและก๊าซสูงยิ่งทำให้ราคาสินค้าอื่นๆ สูงตามต้นทุนการขนส่ง
ตลาดหุ้นโลกปั่นป่วน :
นอกเหนือจากราคาพลังงานแล้วสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านยังสั่นสะเทือนตลาดหุ้นโลกให้ร่วงด้วย เมื่อวันจันทร์ขณะนักลงทุนรอคอยการตอบโต้ของอิสราเอล ดัชนี S&P 500 ลดลงกว่า 1% ดัชนีแนสแด็กลดลงราว 1.5%
โดยทั่วไปความตึงเครียดของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพิจารณาได้จากดัชนีแห่งความกลัว VIX ที่เมื่อวันจันทร์ VIX ขยับขึ้นไปราว 9%
ไบรอัน มาร์กส กรรมการบริหารโครงการผู้ประกอบการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนิวเฮฟเวนในสหรัฐ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่ขยายวงออกไปจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกเพิ่มเติมจากผลของสงครามในยูเครน
นอกจากนี้ความขัดแย้งในวงกว้างสร้างความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานได้เช่นกัน ช่วงโควิดระบาดปัญหาซัพพลายเชนสร้างความปั่นป่วนให้มาก และเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อด้านซัพพลาย ปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับขนส่งและการค้าย่อมไม่ใช่เรื่องน่ายินดี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 เมษายน 2567