ว่าด้วยเรื่องอุตสาหกรรมที่บูมตาม "อีวีจีน" มากที่สุดในเวลานี้
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมที่บูมตามรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนก็คืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ แต่มีอีกอุตสาหกรรมที่กำลัง "บูม" จากการที่จีนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปทั่วโลก หลายคนอาจนึกออกแล้ว แต่หลายคนก็อาจจะไม่ได้นึกถึง
อุตสาหกรรมที่ว่านี้คือ “เรือขนส่งรถยนต์” ยิ่งจีนส่งออกรถยนต์ได้มากเท่าไหร่ ความต้องการเรือขนส่งรถยนต์ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
ด้วยความที่ตลาดภายในประเทศมีการแข่งขันทางราคาที่บีบคั้น ผู้บริโภคที่คิดถึงเรื่องราคา และเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้ผลิตรถยนต์จึงเพิ่มการขยายตัวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศที่ขายได้ราคาสูงกว่าในประเทศ ส่งผลให้เมื่อปีที่แล้วจีนแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์เบอร์ 1 ของโลก ด้วยยอดส่งออกรวมทั้งปี 5.22 ล้านคัน
เฉพาะบีวายดี (BYD) แบรนด์เดียวส่งออกรถยนต์ได้กว่า 240,000 คัน คิดเป็น 8% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก และบีวายดีมีแผนส่งออกให้ได้มากถึง 400,000 คันในปีนี้
ในไตรมาสแรกของปีนี้ จีนส่งออกรถยนต์รวมแล้ว 1.324 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 33.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1.11 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 34.3% (YOY) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 214,000 คัน เพิ่มขึ้น 27.5%
แนวโน้มการเติบโตพรวด ๆ ของการส่งออกรถยนต์จากจีน ทำให้ไม่น่าแปลกใจกับข้อมูลที่ว่า ความต้องการเรือขนส่งรถยนต์ในจีนกำลังพุ่งแรง
“รอยเตอร์” (Reuters) รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ขนส่งสินค้าของจีนกำลังสั่งซื้อเรือบรรทุกรถยนต์จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า
เนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น บวกกับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นเป็นสองปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ตัดสินใจซื้อเรือเพื่อขนส่งสินค้าด้วยตนเอง โดยข้อมูลจาก “คลาร์กสัน” (Clarkson) บริษัทที่ปรึกษาด้านการขนส่งสินค้าระบุว่า ภายในสิ้นปี 2023 อัตรารายวันในการเช่าเหมาลำเรือขนส่งรถยนต์จำนวน 6,500 คัน เพิ่มขึ้นแตะ 115,000 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยปี 2019 ถึง 7 เท่า
ปรากฏการณ์ที่บริษัทรถยนต์ต่างแห่สั่งเรือของตัวเอง จะทำให้จีนมีกองเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2028 จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 8 โดยมีเรือบรรทุกรถยนต์ 33 ลำ
รอยเตอร์เปิดข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านการขนส่ง “เวสซัน นอติคอล” (Veson Nautical) ว่า ปัจจุบัน ประเทศ/ดินแดนที่มีกองเรือขนส่งสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกคือญี่ปุ่น ด้วยจำนวน 283 ลำ ตามมาด้วยนอร์เวย์ 102 ลำ เกาหลีใต้ 72 ลำ และไอล์ออฟแมน (ดินแดนอาณานิคมของสหราชอาณาจักร) 61 ลำ
ขณะที่บริษัทจีนมีเรือที่สั่งไว้แล้ว 47 ลำ ณ เวลานี้ คิดเป็น 1 ใน 4 ของคำสั่งซื้อทั้งหมดทั่วโลก โดยผู้สั่งซื้อเรือรายใหญ่ ได้แก่ บริษัทรถยนต์เอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) เชอรี่ ออโต้โมบิล (Chery Automobile) บีวายดี (BYD) และบริษัทขนส่ง คอสโก (Cosco) ไปจนถึง ไชน่า เมอร์แชนต์ส รัฐวิสาหกิจจีนที่สั่งซื้อในนามผู้ผลิตรถยนต์จีน
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าบริษัทรถยนต์จีนจะสั่งซื้อเรือมากขึ้นเพียงใด คำสั่งซื้อเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ไม่ได้กระจายไปที่อื่น แต่ส่งผลดีต่ออู่ต่อเรือของจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยอู่ต่อเรือในจีนได้รับคำสั่งซื้อมากถึง 82% ของคำสั่งซื้อเรือใหม่ทั่วโลก
เรียกว่าจีนหนุนจีนให้ร่ำรวยกันยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 เมษายน 2567