อะไรทำให้ "ทองคำ" แพง สงคราม หรือการเก็งกำไร?
ราคาทองคำทั่วโลกพุ่งสูงอย่างน่าตกใจ ในเมืองไทยปาเข้าไปบาทละกว่า 40,000 บาทไปแล้ว ในตลาดนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ราคาทองคำเพิ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ไปเมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา
ในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้ากำหนดส่งมอบในเดือนมิถุนายน ราคาปิดการซื้อขายเพิ่มขึ้น 0.3% มาอยู่ที่ 2,331.70 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ โดยที่ในการซื้อขายระหว่างวันได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ขึ้นมาใหม่เอาไว้ที่ 2,372.5 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
หรือพูดให้เห็นภาพเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 จนถึงขณะนี้ ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นไปแล้วราว ๆ 40% เลยทีเดียว
ผู้สันทัดกรณีในแวดวงชี้ว่า ราคาทองคำพุ่งแรงขนาดนี้เป็นเพราะแรงผลักดันจากการที่บรรดา “ธนาคารกลาง” หรือแบงก์ชาติของประเทศต่าง ๆ หันมาซื้อเก็บเข้าเป็นทุนสำรองของประเทศตน ข้อมูลของเวิลด์โกลด์ เคาน์ซิล ระบุว่า แบงก์ชาติจีนซื้อทองเก็บต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว เดือนมีนาคมที่ผ่านมานับเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกันที่แบงก์ชาติของจีนดำเนินการดังกล่าว
มีรายงานของไอเอ็นจี อีโคโนมิกส์ เกี่ยวกับสถานการณ์ราคาทองคำเผยแพร่ตามหลังมาด้วย ตอนหนึ่งระบุเอาไว้ดังนี้
“ทองคำมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสินทรัพย์ชวนดึงดูดมากขึ้นในทุกครั้งที่เกิดสภาวะไร้เสถียรภาพ เมื่อบรรดานักลงทุนพากันเข้าซื้อเพื่อทำกำไร สวนทางกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ, ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือภาวะเงินเฟ้อ เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่แนวโน้มนี้จะยังดำเนินไปต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้”
ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ ในห้วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้น “เจมี ไดมอน” ซีอีโอคนดังของ เจพีมอร์แกน ก็ออกมาแสดงความกังขาต่อภาวะ “บูม” ของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ว่าน่าจะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพราะยังคงมีปัจจัยมากมายที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจอเมริกัน ด้วยการผลักให้อัตราเงินเฟ้อกลับสูงขึ้นมาอีกครั้ง จนอาจจะถึง 8% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ที่สำคัญก็คือ ไดมอน ชี้แนะเป็นเชิงเตือนเอาไว้ด้วยว่า การที่บรรดาแบงก์ชาติของหลาย ๆ ชาติแสดงออกเหมือน ๆ กัน ด้วยการหันเข้าหาทองคำนั้น อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า บรรดาแบงก์ชาติเหล่านี้กำลัง “รู้สึกได้ถึงความยุ่งยากที่รอคอยอยู่ข้างหน้า”
เล่นเอาเกิดคำถามเชิง “ชี้นำ” ตามมาว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ทองคำจะราคาพุ่งถึง 3,000 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ?
คำอธิบายอย่างง่ายก็คือ ทองคำเป็นทรัพย์สินที่ถือกันว่า “ปลอดภัย” ที่สุด ไม่ว่าจะในเวลาไหน ๆ ยิ่งสถานการณ์โดยรวมลำบากและไม่แน่นอนมากเท่าใด ความต้องการทองคำยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักวิเคราะห์ตลาดทองคำโลกอีกส่วนหนึ่ง ที่ไม่เชื่อว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ดี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในเวลานี้ก็ดี ไม่น่าจะใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองคำพุ่งแรงและเร็วมากเช่นนี้
ทุกคนยอมรับกันว่าสถานการณ์การสู้รบในยูเครนและในตะวันออกกลางในยามนี้นั้น ทั้งเข้มข้น ตึงเครียด และที่สำคัญก็คือ ยากที่จะคาดการณ์ว่าจะคลี่คลาย หรือขยายตัวออกไปในทิศทางใด ในเวลาเดียวกัน อานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์ก็ชวนเป็นกังวลอย่างยิ่ง ในขณะที่หากเกิดการลุกลามของการสู้รบในตะวันออกกลาง สงครามก็อาจขยายตัวออกไปอยู่นอกเหนือการควบคุม และกลายเป็นความขัดแย้งระดับสงครามโลกได้ในที่สุด
กระนั้น ข้อเท็จจริงก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา ใช่ว่าจะปลอดจากสงครามโดยสิ้นเชิง ในช่วง 20 ปีหรือกว่านั้นที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและยุโรปก็เคยเข้าไปพัวพันอยู่กับสงครามมากมายหลายครั้งหลายหน ทั้งในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน ความรุนแรงใช่ว่าจะด้อยกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่เคยทำให้ราคาทองคำพุ่งแรงขนาดนี้
อุทาหรณ์ที่น่าคิดใคร่ครวญก็คือ เมื่อ 4 เมษายน 2023 เกิดข่าวลือสะพัดว่าอิหร่านอาจกำลังวางแผนโจมตีอิสราเอล ผลต่อตลาดที่เกิดขึ้นก็คือ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงทันทีกว่า 1% ในขณะที่ราคาทองคำร่วงลงมากถึง 25 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
นักวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ชี้ว่า “ทองคำ” ไม่เพียงเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดเท่านั้น แต่เป็นสินทรัพย์ที่ “เก็งกำไร” ได้ด้วยเช่นเดียวกัน และราคาของอะไรก็ตามที่ตกอยู่ภายใต้การเก็งกำไร สามารถขึ้นสูงและลงต่ำได้เสมอ ในหลาย ๆ ครั้งรุนแรงกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำไป
ข้อสรุปของนักวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ก็คือ ราคาทองคำในยามนี้แสดงออกถึงภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากการเก็งกำไร ผสมผสานกับพฤติกรรมไร้เหตุผลของนักลงทุนในตลาด
ไม่ได้เป็นเครื่องสะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตด้านภูมิรัฐศาสตร์แต่อย่างใด
รับฟังและระวังตัวกันไว้บ้างก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรกระมัง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 17 เมษายน 2567