ไทยรับมือ "เอลนีโญ" เข้าสู่ "ลานีญา" จับตาผลกระทบรอยต่อ "ฝนทิ้งช่วง"
"ไทย" รับมือสถานการณ์น้ำเปลี่ยนจากภาวะ "เอลนีโญ" ที่จะสิ้นสุด พ.ค.นี้ เตรียมเข้าสู่ "ลานีญา" ก.ย.นี้ จับตาฝนทิ้งช่วงระหว่างรอยต่อ "ทีมกรุ๊ป" แนะปีนี้เตรียมพร้อมบริหารทั้งฝนทิ้งช่วงและฝนมากปลายฤดู คาดมีโอกาสเกิดลานีญา 60%
กระทรวงเกษตรฯ เผยจัดสรรน้ำตามแผนแล้งปี 66/67 เป็นไปตามแผน มั่นใจรับมือฝนทิ้งช่วง-แล้งยืดเยื้อ จับตา ก.ย.-ต.ค.ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย
สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ช่วงรอยต่อระหว่าง “เอลนีโญ” ที่ส่งผลให้ปริมาณฝนลดลงในปี 2565-2566 และกำลังเข้าสู่สถานการณ์ “ลานีญา” ที่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สภาวะเอลนีโญกำลังปานกลางในปัจจุบัน จะอ่อนลงและเปลี่ยน เข้าสู่สถาวะเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2567 จากนั้น มีความน่าจะเป็น 62% ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2567
วิจัยกรุงศรี ได้วิเคราะห์ประมาณน้ำฝนจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยประเมินว่าปี 2567 ปริมาณน้ำฝนจะอยู่ที่ 1,612 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณ 1,520 มิลลิเมตร ในขณะที่ปี 2568 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,795 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ กรมชลประทานรายงานว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาดทั่วประเทศ 470 แห่ง วันที่ 20 เม.ย.2567 มีความจุน้ำรวม 76,337 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำในอ่าง 43,443 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 57% ของความจุอ่าง และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 19,500 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 37% ของความจุอ่าง ทำให้ยังรับน้ำได้อีก 32,894 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป กล่าวว่า เอลนีโญในไทยนั้นจะอ่อนกำลังลงตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะปริมาณน้ำสำรองในประเทศลดลงมาก
รวมทั้งจากการวิเคราะห์ข้อมูลองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ระบุว่า ไม่เพียงแต่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงเพียงแต่มีโอกาสเกิดลานีญาในไทย 60% และจะหนักขึ้นในช่วง ก.ย.-ต.ค.2567 ทำให้ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำในอ่างเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ต้องติดตามร่องฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาทุกวัน เพื่อตรวจสอบพายุที่จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนที่จะทำให้ปริมาณน้ำมากกว่าปกติ เพื่อเตรียมการรับมือกับน้ำที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ เท่าที่ติดตามข้อมูลพบว่าภาครัฐเตรียมการรับมือปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้นจากการถอดบทเรียนจากปี 2564-2565 ที่ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีการลอกคลองหรือการกำจัดขยะและวัชพืชในแม่น้ำและท่อระบายน้ำ รวมถึงการบำรุงรักษาบานประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุดและปรับปรุงคลองรัฐโพธิ์ให้พร้อมรับน้ำช่วงหน้าฝนเพื่อปกกันน้ำท่วมในอนาคต
"เป็นเรื่องดีที่เอลนีโญนั้นอ่อนกำลังลง แต่ต้องรับมือปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากสถานลานีญาในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนในอดีต" นายชวลิต กล่าว
“จับตา”ภาคตะวันออกฝนน้อยที่สุด :
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า NOAA และ International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พยากรณ์ว่า เอลนีโญน่าจะอยู่ถึงเดือน พ.ค.2567 จากนั้นจะเปลี่ยนสู่เฟสกลางหรือภาวะปกติ ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2567 และหลังจากนั้นจะพัฒนาเป็นลานีญาตั้งแต่ ส.ค.เป็นต้นไป
สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่ากำลังเอลนีโญจะลดลงสู่ระดับอ่อนในเดือน พ.ค.2567 และกำลังลานีญาจะเพิ่มขึ้น โดยกำลังมีแนวโน้มอยู่ระดับอ่อนถึงปานกลางมากที่สุด แต่มีโอกาสขยับเพิ่มถึงกำลังระดับรุนแรงถึงรุนแรงมากได้เช่นกันช่วงปลายปี 2567
ขณะที่ใน 1 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.-10 พ.ค.2567 ปริมาณฝนยังมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยความน่าจะเป็นที่ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติอยู่ระดับสูงถึงวันที่ 26 เม.ย.2567 โดยภาคเหนือ อีสานตอนบน บางส่วนของภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีแนวโน้มฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติสูงกว่าภาคอื่น จนถึงวันที่ 10 พ.ค.2567
ทั้งนี้ เดือน พ.ค.2567 ค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกบ่งชี้ว่า ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติเกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง บางส่วนของภาคเหนือและตะวันตก ซึ่งต้องระวังภัยแล้งยืดเยื้อให้มาก
ขณะที่เดือน มิ.ย.2567 ค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกบ่งชี้ว่าปริมาณฝนจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติเกือบทุกภูมิภาค แต่สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าช่วงเดือน พ.ค.2567 ส่วนภาคใต้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
สำหรับเดือน ก.ค.2567 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก แต่สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าช่วงเดือน มิ.ย.2567 พื้นที่ส่วนใหญ่ในอีสานจะกลับสู่ภาวะฝนปกติ
ส่วนภาคใต้จะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่อง และเดือน ส.ค. 67 หลายพื้นที่อาจเผชิญฝนน้อยกว่าปกติช่วงฤดูฝน ปริมาณฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงมาที่ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่อง
“ลานีญา”หนุน ก.ย.ฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย
ในขณะที่เดือน ก.ย.2567 ผลพยากรณ์จากอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทาง โดยบ่งชี้ว่าปริมาณฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาคเล็กน้อย ต้องระวังน้ำท่วมเพราะเป็นเดือนที่ปริมาณฝนสูงสุดในรอบปี
ส่วนเดือน ต.ค.2567 ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคเหนือที่ฝนจะอยู่ระดับปกติ ต้องระวังน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะใต้ตอนบนเพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนใหญ่ของภาคใต้
“อากาศร้อนจัดและความแห้งแล้งที่อาจยืดเยื้อ ดังนั้นต้องเตรียมวางแผนการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งและช่วงฤดูฝนที่ฝนอาจมาล่าช้ากว่าปกติ และเตรียมรับมือน้ำท่วมและอากาศหนาวเย็นช่วงปลายปี” ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว
ห่วงเพาะปลูกพืชเกินแผนการใช้น้ำ
นอกจากนี้ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้รายงานช่วงท้ายฤดูแล้งปี 2566/67 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงรอยต่อเดือน พ.ค.ที่จะเข้าสู่ฤดูฝน อีกทั้งเป็นช่วงการเพาะปลูกที่ยังมีความเสี่ยงกรณีภาวะฝนทิ้งช่วง
ทั้งนี้ ช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 จะสิ้นสุดลงวันที่ 30 เม.ย.2567 โดยการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 ถึงปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 21,221 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 85% ของแผนจัดสรรน้ำ
ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566 ถึงปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 7,658 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 88% ของแผนจัดสรรน้ำ
สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ 13.10 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 11.54 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 1.56 ล้านไร่ คิดเป็น 122.89% ของแผน แยกเป็นลุ่มเจ้าพระยา 7.59 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 7.23 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.36 ล้านไร่ คิดเป็น 154.90% ของแผน
ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 เกินกว่าแผน รวม 55 จังหวัด กว่าแผน 4.29 ล้านไร่ แยกเป็น ในเขตชลประทาน 50 จังหวัด พื้นที่ปลูกข้าวเกินกว่าแผน 3.81 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 23 จังหวัด พื้นที่ปลูกข้าวเกินกว่าแผน 0.48 ล้านไร่
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภัยแล้ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ.2567 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวง 16 หน่วย ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยพื้นที่การเกษตร สร้างความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ เติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำและเขื่อนป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ รวมทั้งสถานการณ์ PM 2.5
หนุนนาเปียกสลับแห้งลดใช้น้ำ 30-40% :
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน เตรียมขยายผลการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือ “การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง” ซึ่งเป็นการประหยัดน้ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด
รวมทั้งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มกับทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร โดยทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"กรมชลประทานทำต้นแบบและคู่มือการบริหารจัดการการทำนาที่มีประสิทธิภาพใช้น้ำน้อย หรือทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่ช่วยประหยัดน้ำกว่าการปลูกแบบเดิมถึง 30-50% หรือประหยัดจากเดิมที่ใช้น้ำไร่ละ 1,200 ลูกบาศก์เมตร เหลือไม่เกิน 860 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้ 30-40% ต่อไร่ และเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่เพาะปลูกได้ 20-30% ต่อไร่"
ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ภาคเกษตรไทยเป็นภาคการผลิตที่ใช้น้ำชลประทานมากที่สุด เกือบ 80% ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด โดยเฉพาะเขตชลประทานเพราะชาวนาไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ซึ่งการศึกษาของทีดีอาร์ไอเมื่อปี 2562 พบว่า หากเกษตรกรลดการใช้น้ำลงได้ 10% ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งของปีที่ฝนแล้งรุนแรงจะทุลเาลงมาก เช่น เอลนีโญ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 เมษายน 2567