ถอดบทเรียน "เกียวโต" นักท่องเที่ยวล้น แย่งใช้ขนส่ง คนท้องถิ่นเดินทางลำบาก
"เกียวโต" เผชิญปัญหานักท่องเที่ยวล้น ขนส่งแออัด จนคนท้องถิ่นเดือดร้อน ด้านนายกเทศมนตรีต้องเร่งออกมาตรการ บรรเทาความแออัดบนรถโดยสาธารณะ
ชีวิตชาวเกียวโต ในประเทศญี่ปุ่น ไม่สะดวกสบายอีกต่อไป เมื่อต้องยืนรอรถโดยสารสาธารณะ 3-4 คัน จึงจะสามารถขึ้นใช้บริการได้ แต่เมื่อได้ขึ้นแล้วก็ไม่ได้นั่ง แถมยังต้องเบียดเสียดไปกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ รวมถึงกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ของบรรดานักท่องเที่ยวด้วย และปัญหาการใช้รถโดยสารสาธารณะย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของจ.เกียวโตตึงเครียดมากขึ้น
ความไม่พอใจขอประชาชนในพื้นที่ ถึงขั้นหนุนผู้ลงสมัครนายกเทศมนตรีคนใหม่ที่หาเสียงโดยให้คำมั่นว่าจะจัดการปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง ได้คว้าชัยชนะเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
"โคจิ มัตสึอิ" ผู้ลงสมัครอิสระที่เคยเป็นรองหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บอกว่า
“ผมได้รับคำร้องเรียนมากมายจากคนท้องถิ่น ขอให้ทำให้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะ ... โครงสร้างสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ที่คนในท้องถิ่นใช้ชีวิตมีความทับซ้อนกันมาก" มัตสึอิ กล่าว
ทั้งนี้ จ.เกียวโต ซึ่งมีประชากรราว 2.5 ล้านคนนั้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักมาถึง 32 ล้านคนในปี 2566 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่า
ขนส่งเกียวโตมีให้เลือกไม่มากนัก :
ผศ.ดร. ยาน-เดิร์ก ชมิกเกอร์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการจัดการเมืองและการขนส่งสาธารณะ บอกว่า เกียวโตค่อนข้างแตกต่างจากเมืองในยุโรป อย่างเวนิส ที่นักท่องเที่ยวไม่ต้องใช้รถโดยสารมากนัก แค่เดินชมเมืองก็ได้ แต่สถานที่ต่าง ๆ ในเกียวโตมีระยะห่างแตกต่างกันออกไป
เกียวโต เป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกมากถึง 17 แห่ง และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง อาทิ ป่าไผ่อาราชิยามะ ที่มีพื้นที่มากกว่าแมนฮัตตัน 14 เท่า ทำให้การเดินเท้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งทำได้ยากลำบาก
ในขณะเดียวกัน จ.เกียวโตมีขนาดเล็กกว่ามหานครขนาดใหญ่อย่าง โตเกียว ซึ่งเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวสามารถกระจายตัวไปยังที่ต่างๆ ได้มากกว่า
ในทุก ๆ วัน ผู้คนในเกียวโตต้องพึ่งพารถบัสประจำทาง เพราะเมืองมีรถไฟฟ้าใต้ดินเพียง 2 สายเท่านั้น และทั้งสองสายไม่จอดที่สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งโดยตรงด้วย เช่น วัดคินคะคุจิ หรือวัดทอง และแม้มีรถไฟเดินทางถึงที่หมายสะดวก ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะรถไฟสาย JR Sagano ที่ใช้เดินทางไปอาราชิยามะ ก็มีความแออัดเช่นกัน
เซอิระ ยามากิชิ ชาวญี่ปุ่นวัย 24 ปี ที่ทำงานในร้านค้าในจ.เกียวโต ตัดพ้อ
“(รถบัส) คิวยาวมาก และฉันมักไม่ได้นั่งเลย ... นักท่องเที่ยวจำนวนมากสร้างปัญหาให้คนในท้องถิ่น ฉันไม่สามารถพูดได้ว่าการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเกียวโต”
คำพูดของยามากิชิ ตอกย้ำว่า การท่องเที่ยวมีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับจ.เกียวโต
นักท่องเที่ยวมาก มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย :
ตามข้อมูลของจังหวัด ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวนั้นมีขนาดใหญ่มาก การท่องเที่ยวสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดแตะระดับ 1.1 ล้านล้านเยน ในปี 2565 แต่ในทางกลับกัน การท่องเที่ยวแบบมวลชน (mass tourism) ก็สร้างปัญหาให้กับจังหวัดมากขึ้น หรือบางครั้งญี่ปุ่นก็เรียกว่า “มลพิษการท่องเที่ยว”
ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ เกียวโตออกมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวเข้าเขตการทำงานของเกอิชา เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวตามรังควานเกอิชาเพื่อขอถ่ายรูป ซึ่งถือว่ารบกวนการทำงานของคนในพื้นที่
ด้านอาซูสะ ทาเกมูระ พนักงานโรงแรมวัย 23 ปี ในเกียวโต บอกว่า แม้ท่องเที่ยวบูมช่วยเพิ่มโบนัสให้พนักงงาน แต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือการท่องเที่ยวล้น แทนการให้ความสำคัญกับเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
เกียวโตเร่งแก้ไขปัญหา :
อย่างไรก็ตาม เกียวโตเคยออกมาตรการจัดการปัญหาต่าง ๆ มาแล้ว อาทิ หยุดจำหน่ายตั๋วรถบัสแบบเหมา 1 วันให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้พวกเขาเลือกไปใช้รถไฟแทน และยังมีไอเดียที่แหวกแนวกว่านั้น เช่น ตั้งรูปนินจาที่ปลายชานชาลารถไฟ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหันไปใช้บริการรถไฟมากขึ้น
ปัจจุบัน เกียวโตกำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น เช่น สร้างช่องทางตรวจตั๋วใหม่ในสถานีรถไฟสายหลัก ส่งเสริมการขับขี่จักรยานและการเดิน สนับสนุนให้ผู้คนท่องเที่ยวนอกช่วงเวลาเร่งด่วน และรณรงค์ให้ใช้ล็อกเกอร์ หรือบริการขนส่งสัมภาระให้นักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีมัตสึอิ ยังได้เปิดตัวรถบัสสายด่วน ที่มีราคาสูงกว่ารถบัสปกติ โดยจะเริ่มให้บริการในเดือน มิ.ย. นี้ ซึ่งจะให้บริการไปยังสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น
มัตสึอิบอกว่า มาตรการนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแค่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ต้องรอรถโดยสารนาน แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้นได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม มัตสึอิ ไม่ได้อยากให้เกียวโต ถูกมองว่าเป็นเมืองที่คนในท้องถิ่นไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวขนาดนั้น การสร้างความเข้าใจแก่คนในพื้นที่ถึงคุณค่าและผลประโยชน์ของการมีนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
“เราไม่สามารถปล่อยให้ประชาชนของเราเกิดความเกลียดชังต่อนักท่องเที่ยวได้” มัตสึอิ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 เมษายน 2567