โปรเจกต์ "NEOM" ไปไม่รอด? ซาอุฯ ลดสเกลโครงการ แถมไร้การตอบรับจากนักลงทุน
"NEOM" โปรเจกต์เมืองอนาคตของ "ซาอุดีอาระเบีย" เผชิญอุปสรรคใหญ่ เมื่อผลการโรดโชว์ในจีนนั้นเงียบเหงา ไม่มีวี่แววตอบรับจากนักลงทุน อีกทั้งถังเงินของโครงการนี้ยังลดลงกว่า 70% จากปี 2565
ไม่ใช่ “ไทย” เท่านั้นที่เผชิญความท้าทายในการขายเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้านบาท ให้นักลงทุนต่างชาติ “ซาอุดีอาระเบีย” ก็เช่นกัน ด้วยโครงการ “นิอุม” (NEOM) ระดับยักษ์ที่พลิกโฉม “ทะเลทราย” ให้กลายเป็น “เมืองแห่งอนาคต” และต้องใช้งบประมาณในโครงการนี้กว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 18 ล้านล้านบาท ซาอุฯจึงเร่งโรดโชว์หานักลงทุนในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกงในจีน แต่กลับไร้สัญญาณตอบรับจากนักลงทุน โดยพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธหรือตอบตกลง
ยิ่งไปกว่านั้น “The Line” ซึ่งเป็นโครงการเมืองแนวยาว 170 กิโลเมตร อันเป็นโครงการย่อยของ NEOM ซาอุฯ ก็ได้ปรับลดเป้าหมายระยะกลางของโครงการนี้ลง จากเดิมคาดหวังว่าภายในปี 2573 จะมีประชากร 1.5 ล้านคนอาศัยอยู่ ก็ปรับเหลือเพียง 3 แสนคนแทน และความยาวเดิมที่จะสร้างให้ถึง 170 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่ง ก็ปรับลงเหลือ 2.4 กิโลเมตรแทน จนกลายเป็นคำถามของใครหลายคนว่า โปรเจกต์ NEOM จะเป็น “เมืองแห่งอนาคต” ได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียง “ภาพลวงตาอันสวยงาม”
“NEOM” เมืองนวัตกรรมระดับยักษ์บนทะเลทราย
ก่อนอื่นขอเล่าที่มาโปรเจกต์ยักษ์นี้ก่อนว่า เดิมทีซาอุดีอาระเบีย แม้ภูมิประเทศจะมีแต่ทะเลทรายและแห้งแล้งสุดขีด แต่การมี “แหล่งน้ำมัน” มหาศาล จึงทำให้ประเทศนี้พลิกขึ้นมามั่งคั่ง จนเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนตระหนักถึงภาวะโลกร้อนมากขึ้น และสหภาพยุโรปยังประกาศที่จะเลิกขายรถสันดาปภายในปี 2578 เป็นต้นไป รวมถึงยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางยอดใช้รถน้ำมันที่ลดลง
ด้วยเหตุนี้ ทางผู้นำซาอุดีอาระเบีย มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammad bin Salman) จึงหา “เครื่องยนต์ใหม่” แทนน้ำมันในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ นี่จึงกลายเป็นที่มาของโปรเจกต์ “นิอุม” (NEOM) โดย NEOM มาจากคำว่า Neo ซึ่งแปลว่า “ใหม่” ในภาษากรีก และ Mustaqbal แปลว่า “อนาคต” ในภาษาอาหรับ
พื้นที่เมืองใหม่ที่กำลังสร้างนี้ ตั้งอยู่ที่แคว้นตะบูก (Tabuk) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบียซึ่งติดกับทะเลแดง ภายในขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยต่าง ๆ และที่สำคัญ ไม่ใช้น้ำมันในเมือง แต่จะใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียน 100% แทน สะท้อนถึงความตั้งใจซาอุฯ ที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ “พลังงานสกปรก” ให้เป็น “ประเทศสีเขียว” และยั่งยืนแทน รวมถึงเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวด้วย
สำหรับหนึ่งในโครงการย่อยของ NEOM ที่ชื่อว่า “The Line” ซาอุฯ นำเสนอภาพฝันของเมืองนี้ว่า เป็นเมืองที่ผู้คนอยู่ในแนวตั้งที่กว้าง 200 เมตร สูง 500 เมตร และเรียงตัวตามแนวยาว 170 กิโลเมตร โดยใช้พื้นที่ทั้งหมด 34 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถรองรับพลเมืองได้ถึง 9 ล้านคน
ไม่เพียงเท่านั้น แม้เมืองตั้งอยู่ในทะเลทรายอันร้อนระอุ แต่ซาอุฯ จะสร้าง “เมฆเทียม” ให้ พร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เปลี่ยนน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด ส่วนในยามดึก มี “พระจันทร์เทียม” ดวงโตที่สาดส่องหาดทรายจนสว่างเรืองรอง
อีกทั้งผู้คนที่นี่ไม่ต้องใช้รถที่ปล่อยมลพิษอีก เพราะมีระบบขนส่งสาธารณะอันเพียบพร้อม ไม่ว่ารถไฟหัวกระสุนความเร็วสูง ไฮเปอร์ลูปและโดรนแท็กซี่ มีครูสอนหนังสือที่ปรากฏตัวในรูปเทคโนโลยีโฮโลแกรม หุ่นยนต์ไดโนเสาร์ดุจสวนสนุกจูราสสิค พาร์ค และหุ่นยนต์รับใช้ที่อำนวยความสะดวกในทุกบ้าน เหล่านี้คือ “สรวงสวรรค์” ที่ซาอุฯ จะเนรมิตให้ในโครงการ NEOM
เมื่อ NEOM เผชิญเส้นทางความจริงอันขรุขระ
เนื่องจากความล้ำสมัยของเมืองอันเหนือจินตนาการดังที่กล่าวมา ทางซาอุฯ จึงคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมดราว 18 ล้านล้านบาท ถ้าถามว่า เงินจำนวนนี้มากขนาดไหน หากเราดูงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 สำหรับองคาพยพภาครัฐไทย อยู่ที่ราว 3 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า งบเนรมิตเมือง NEOM ของซาอุฯ นี้สามารถใช้บริหารประเทศไทยทั้งหมดได้นานถึง 6 ปี โดยรัฐบาลไทยไม่ต้องออกแม้แต่บาทเดียว
คำถามสำคัญต่อมา คือ ซาอุฯ มีเงินมากพอที่จะปั้นโครงการนี้จนเสร็จสิ้นได้หรือไม่ จะเห็นได้ว่าฐานะการเงินล่าสุดของประเทศนี้ไม่ค่อยสู้ดีนัก และผันผวนสูง โดยปี 2565 แม้ว่าซาอุฯ จะเกินดุลงบประมาณกว่า 103,850 ล้านริยัล เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งแรง
แต่ในปี 2566 ประเทศอาหรับนี้กลับพลิกเป็นขาดดุลงบประมาณ 80,900 ล้านริยัล เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลง และรัฐบาลคาดการณ์ว่าซาอุฯ อาจเผชิญภาวะขาดดุลต่อในปี 2567 ที่ 79,000 ล้านริยัล จะเห็นได้ว่ารายได้หลักของประเทศนี้มาจาก “น้ำมัน” อันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขึ้นลงรุนแรง และมีแนวโน้มถูกบริโภคน้อยลงเรื่อย ๆ ตามเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นความท้าทายอีกขั้นของซาอุฯ ในการรักษารายได้ประเทศเพื่อโครงการ NEOM
ไม่เพียงเท่านั้น ซาอุฯ ไม่ได้คิดจะทำเพียงโครงการเดียว แต่ยังทำอีกหลายโปรเจกต์ไม่ว่าการสร้างสายการบินตัวเอง โดยซื้อฝูงเครื่องบินพาณิชย์โบอิงกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์ เตรียมลงทุนในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) 40,000 ล้านดอลลาร์ และลงทุนร่วมกับ PGA Tour เพื่อสร้างธุรกิจกอล์ฟแสวงกำไรใหม่ร่วมกัน จึงทำให้ “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุฯ” ซึ่งเป็นถังเงินของโครงการเหล่านี้สูญเสียเงินทุนไปถึง 70% จากเดิมที่มีเงินทุนอยู่ 50,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปลายปี 2565 ปัจจุบันเหลือเงินทุนเพียง 15,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญหรือไม่ที่ทำให้ทางการซาอุฯ ตัดสินใจปรับลดเป้าหมายโครงการ The Line ลง จากเดิมคาดหวังว่าภายในปี 2573 จะมีประชากร 1.5 ล้านคนอาศัยอยู่ ก็ปรับเหลือเพียง 3 แสนคน และความยาวเดิมที่จะสร้างให้ถึง 170 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่ง ก็ปรับลงเหลือ 2.4 กิโลเมตรแทน
NEOM อาจไม่ได้รักษ์โลกจริง :
ในภาพเมืองรักโลกสุดล้ำบนทะเลทราย ฟิลิปส์ โอลด์ฟิลด์ (Philip Oldfield) หัวหน้าภาคสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างของมหาวิทยาลัย New South Wales ออสเตรเลียกลับมองว่า ในระหว่างการสร้างเมือง The Line อาจปล่อยคาร์บอนมากถึง 1,800 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่าการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของสหราชอาณาจักรเป็นเวลากว่า 4 ปี โดย “คาร์บอน” ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ
อีกทั้ง เมนัล ชีฮาบี (Manal Shehabi) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของมหาวิทยาลัย Oxford ได้เกิดข้อสงสัยกับเมกะโปรเจกต์นี้ว่า NEOM จะผลิตอาหารป้อนคนภายในอย่างไร โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปหรือพึ่งพาการนำเข้าแทน ซึ่งแม้ว่าบนเว็บไซต์โครงการจะนำเสนอว่า NEOM เป็นเมืองที่มีอาหารอย่างเพียงพอด้วยการทำฟาร์มแนวตั้ง แต่ประเทศผู้สร้างเมืองนี้กลับยังต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากถึง 80%
โรดโชว์ดึงเงินลงทุน ‘จีน’ แต่เสียงตอบรับยังเงียบ
ในการโรดโชว์โครงการของซาอุฯ ในจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เลนนาร์ด ชาน (Leonard Chan) หนึ่งในผู้ร่วมงานดังกล่าวและเป็นประธานสมาคม Hong Kong Innovative Technology Development Association ได้เล่าให้สำนักข่าว AFP ว่า แม้ยังไม่มีนักลงทุนจีนคนใดปฏิเสธหรือตอบตกลง แต่อย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจโครงการนี้มากยิ่งขึ้น
ชานกล่าวติดตลกว่า “สำหรับผมคงเข้าไปเยี่ยมชมเล่น ๆ แต่ไม่ต้องการอยู่อาศัย ที่ดูเหมือนเมืองแบบเกม SimCity”
แม้ว่าในขณะนี้ การโน้มน้าวนักลงทุนจีนยังไม่สำเร็จ แต่ทางซาอุฯก็ไม่ยอมแพ้ เตรียมลุยแผนโรดโชว์ต่อในกรุงโซล กรุงโตเกียว สิงคโปร์ นครนิวยอร์ก บอสตัน วอชิงตัน ดี.ซี. ไมอามี ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก ปารีส เบอร์ลิน และลอนดอน
เห็นได้ว่า จากฐานะการเงินซาอุฯ ที่ไม่ค่อยสู้ดี พร้อมต้องแบกภาระลงทุนสูง และต้องปล่อยคาร์บอนเป็นจำนวนมากในระหว่างการก่อสร้าง “NEOM” เมืองที่วาดภาพไว้ราวกับสวรรค์บนดินนี้ จึงยังคงเป็น “คำถามคาใจ” ว่า จะสามารถแปลงภาพฝันอันยิ่งใหญ่สู่ความเป็นจริงได้หรือไม่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 เมษายน 2567