นักวิทย์ฯ คาด ภายใน 11 ปี ขั้วโลกเหนือจะละลาย เนื่องจากก๊าซเรือนกระจก-เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า อาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) อาจมีช่วงฤดูร้อนโดยไม่มีน้ำแข็งในทะเลภายในทศวรรษหน้า (10 ปี) เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล
โดยการค้นพบนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Reviews Earth & Environment โดย Alexandra Jahn รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศและมหาสมุทร มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ระบุไว้ว่า วันที่น้ำแข็งละลายในอาร์กติกอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้กว่า 10 ปี และจะเกิดขึ้นภายในปี ค.ศ.2035-2067 โดยขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้น การเผาฟอสซิลจะลดลงหรือไม่

Alexandra Jahn กล่าวว่า สิ่งนี้จะเปลี่ยนอาร์กติกให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จากสีขาวที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง จะกลายเป็นสีน้ำเงินน้ำทะเลแทน ดังนั้นแม้ว่าสภาวะที่ปราศจากน้ำแข็งจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรายังคงต้องรักษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะที่ไม่มีน้ำแข็งเป็นเวลานาน
Alexandra Jahn กล่าวต่อถึงวิธีการแก้ปัญหาไว้ว่า แม้ว่าสภาวะที่ปราศจากน้ำแข็งจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ยังคงต้องรักษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะที่ปราศจากน้ำแข็งเป็นเวลานาน หากน้ำแข็งในอาร์กติกละลายหมด เราสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศเพื่อฟื้นฟูภาวะโลกร้อน และน้ำแข็งในทะเล ซึ่งน้ำแข็งก็จะกลับมาภายในหนึ่งทศวรรษ (10 ปี)

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่สัตว์ป่าในอาร์กติกเท่านั้นที่ต้องทนทุกข์ทรมาน เมื่อแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันละลายหายไป ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งก็จะประสบปัญหาเช่นกัน ซึ่งน้ำแข็งจะช่วยลดผลกระทบของคลื่นทะเลบนชายฝั่ง นั่นหมายความว่า หากสูญเสียน้ำแข็งไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้น และไม่มีตัวชะลอความรุนแรงของคลื่น
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 15 พฤษภาคม 2567