"สงครามการค้า" 2 ยักษ์รอบล่าสุด กับผลกระทบ "เงินเฟ้อ" สหรัฐ
หลังจากเกริ่นนำร่องมาพักใหญ่ กระทุ้งไปยังจีนว่าสหรัฐอเมริการู้สึกกังวลเกี่ยวกับการผลิตสินค้าของจีนที่ผลิตออกมามากแบบ "ล้นเกิน" แล้วส่งออกไปขายต่างประเทศในราคาถูก จะสร้างผลกระทบในระดับโลก อาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องปกป้องตัวเองด้วยการสร้างกำแพงกีดกันสินค้าจีน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้านั้น ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ก็ได้ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนแบบรุนแรง
โดยจะขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน 4 เท่า จาก 25% เป็น 100% ขึ้นภาษีแผงโซลาร์เซลล์จาก 25% เป็น 50% เหล็กและอะลูมิเนียมบางชนิด ปรับขึ้นมากกว่า 3 เท่า จาก 7.5% เป็น 25% แบตเตอรี่ลิเทียมสำหรับรถยนต์อีวี แบตเตอรี่ลิเทียมสำหรับใช้งานอื่น ๆ จาก 7.5% เป็น 25% เซมิคอนดักเตอร์จาก 25% เป็น 50% เป็นต้น รวมแล้วจะกระทบต่อสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์
ไบเดนกล่าวว่า จีนอุดหนุนเงินให้กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างหนัก ผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ผลิตสินค้ามากเกินไป เกินกว่าที่ตลาดจะสามารถดูดซับได้ จากนั้นก็ดัมพ์สินค้าส่วนเกินนี้ไปยังตลาดโลกในราคาต่ำอย่างไม่เป็นธรรม “เมื่อคุณใช้แท็กติกแบบนี้ มันไม่ใช่การแข่งขัน แต่คือการโกง”
ก่อนจะนำมาสู่การประกาศขึ้นภาษีครั้งนี้ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้เดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อส่งสารโดยตรงไปยังจีนเรื่องการผลิตสินค้ามากเกินไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีครั้งนี้ นอกจากเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอเมริกันซึ่งเป็นเหตุผลอันชอบธรรมแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเมืองปะปนอยู่ด้วย เนื่องจากใกล้จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ และทางเดโมแครตกำลังรณรงค์หาเสียงเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งพลังงานสะอาด ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น การประกาศขึ้นภาษีอย่างน้อยก็ช่วยป้องกันไม่ให้สินค้าราคาถูกจากจีนไหลบ่าเข้ามาเร็วและมากเกินไปโดยที่สหรัฐยังไม่มีความพร้อม
เหล่านักวิเคราะห์เห็นว่า แม้การขึ้นภาษีสินค้าจากจีนจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของโจ ไบเดน สามารถรักษาจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภคอเมริกันอย่างไม่ตั้งใจ โดยก่อนหน้านี้โกลด์แมน แซกส์ ประเมินว่าการขึ้นภาษีทุก 1% จะทำให้จีดีพีสหรัฐลดลง 0.03% เพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค 0.1% และจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเวลา 1 ปี
เงินเฟ้อเป็นประเด็นใหญ่ของสหรัฐที่ทำให้ธนาคารกลาง (เฟด) ไม่สามารถลดดอกเบี้ยจนถึงขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐยืนยันว่าจะ “ไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ” เพราะเป็นการขึ้นภาษีสินค้าในบางเซ็กเตอร์แบบเจาะจง ดังนั้น จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐเป็นวงกว้าง ไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ต่างจากข้อเสนอของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้ชิงประธานาธิบดีจากรีพับลิกัน ที่เสนอจะขึ้นภาษีสินค้าทุกอย่างจากจีนและทุกประเทศ 10%
ด้าน “มาร์ก กิทเท็นสเตน” เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์สื่อสหรัฐว่า จีนตั้งใจบิดเบือนตลาดด้วยสินค้าราคาถูกจำนวนมาก เพื่อบ่อนทำลายเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐ เราจำเป็นต้องปกป้องเศรษฐกิจและคนงานของเราที่กำลังถูกจีนโจมตี
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่า การขึ้นภาษีจะมีผลกระทบน้อยมากต่อจีดีพีของสหรัฐ รวมทั้งเงินเฟ้อ และนโยบายการเงิน ดังนั้น จะไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแต่อย่างใด แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศจะเกิดขึ้นอย่างยาวนาน
ทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน ซึ่งจะเป็นคู่ชิงประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่จะถึง ล้วนมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีนเหมือนกัน โดยในสมัยที่แล้วรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนและคู่ค้าอื่น ๆ ไปแล้วเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2018-2019 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน และในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ทรัมป์ได้เสนอขึ้นภาษีนำเข้าทุกอย่างจากทุกประเทศ 10% ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เกรงว่าจะดันเงินเฟ้อพุ่งและทำให้คนอเมริกันตกงาน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 พฤษภาคม 2567