โครงสร้างประชากรเป็นเหตุ ปี 2031 เศรษฐกิจสหรัฐพลิกโตแซงมังกร
ในระยะหลายปีมานี้การพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ "จีน" จะแซง "สหรัฐอเมริกา" ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลกอย่างกว้างขวาง ก่อนหน้านี้หลายสำนักประเมินว่าจีนน่าจะแซงสหรัฐได้ภายในปี 2028 หรือไม่ก็ 2030
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้จีนพบกับอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ปัญหาด้านประชากรที่คนสูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เด็กเกิดใหม่ลดลง อันเป็นผลมาจากนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่บังคับใช้มายาวนาน จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต
ฟู เซียน อี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเจริญพันธุ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์จีน แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ระบุว่าในปี 2023 สัดส่วนของประชากรจีนที่มีอายุเกิน 65 ปีพุ่งขึ้นเป็น 15.4% จาก 7% ในปี 1998
“หากดูจากประวัติศาสตร์จะพบว่า 12 ปีหลังจากประชากรสูงวัยมีสัดส่วน 15% ของประชากรทั้งหมด ไม่มีเศรษฐกิจของประเทศใดเลยสามารถบรรลุการเติบโต 4% ประเทศที่มีรายได้สูงจะมีอัตราเติบโตเศรษฐกิจเฉลี่ยเพียง 1.8% หากอยู่ในสภาวะที่ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนดังกล่าว”
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเป็นเบอร์ 1 ของโลก แต่การเติบโตตามหลังจีน แม้ว่าจีนจะเติบโตน้อยลงมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปี 2023 จีนเติบโต 5.2% ส่วนสหรัฐโตเพียง 2% เพราะสัดส่วนประชากรสูงวัยของสหรัฐเกิน 15%
อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษหน้ามีแนวโน้มว่าจะเกิดจุดเปลี่ยน เพราะประชากรสูงวัยของจีนจะมีลักษณะคล้ายกับญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจของทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนีเติบโตน้อยลง
ฟู เซียน อี้ ระบุว่า ภายในปี 2028 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มจะเติบโตต่ำลงไปอยู่ที่ 3% และจะโตต่ำกว่าสหรัฐตั้งแต่ปี 2031-2035 อีกทั้งจีนไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศ “รายได้สูง” หากพิจารณารายได้ต่อหัวของประชากรตามเกณฑ์ของธนาคารโลก เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลงจะทำให้รายได้ต่อหัวประชากรจีนจะไม่เพิ่มขึ้นเร็วเพียงพอที่จะตามทันเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานการเติบโตของทั่วโลกที่ขยับสูงขึ้น
ที่สำคัญกว่านั้น ระดับเกินดุลการค้าของจีนที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยต่ำ และแรงกดดันจากเงินฝืด จะส่งผลเสียต่อค่าเงินหยวน ทำให้ยากยิ่งขึ้นที่จะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
“เหนือสิ่งอื่นใด จีนต้องเพิ่มรายได้ครัวเรือนและแก้วิกฤตโครงสร้างประชากร ซึ่งทั้งสองอย่างจำเป็นต้องมีการยกเครื่องเศรษฐกิจและการเมืองใหม่ แต่เมื่อดูจากจีนวันนี้ที่กลัวการปฏิรูปเศรษฐกิจมากกว่ายุคเติ้ง เสี่ยวผิง ที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 ด้วยการใช้ตลาดนำ ดังนั้น จีนยุคนี้คงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนผ่านคงใช้เวลาหลายทศวรรษ”
เอ็ด ยาร์เดนิ แห่งยาร์เดนิ รีเสิร์ช ชี้ว่า จีนอาจกลายเป็น “บ้านดูแลคนชราใหญ่ที่สุดในโลก” ขณะเดียวกัน อัตราเติบโตเศรษฐกิจที่ชะลอลง วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ คนหนุ่มสาวว่างงานสูง รวมถึงการถูกสหรัฐจำกัดการค้าในกลุ่มเทคโนโลยีสำคัญ ทำให้เป็นไปได้ที่จีนจะเผชิญกับ “ทศวรรษที่สูญหาย” เพราะเศรษฐกิจชะงักงัน
แอนน์ สตีเวนสัน-หยาง นักวิชาการแถวหน้าด้านจีนและผู้ร่วมก่อตั้ง เจ แคปิตอล รีเสิร์ช เคยระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า นโยบายที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และไม่รับผิดชอบ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาควบคุมมากเกินไป อีกทั้งไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจตามสัญญา ทำให้เศรษฐกิจจีนถึงทางตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศอ่อนแอ จีดีพีเติบโตน้อยลง
“สาเหตุรากฐานของปัญหาเศรษฐกิจจีนก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาควบคุมแน่นหนา และก็จะไม่มีทีท่าจะปล่อยมือเลย แต่กลยุทธ์ของรัฐบาลกลับต้องการมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พึ่งพาการส่งออกมากขึ้น จึงได้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับที่ต้องการ”
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนแนะนำให้จีนลดการถือครองหุ้นในภาคเอกชนและส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จำเป็นต้องปฏิรูปรัฐบาล ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนยอมรับไม่ได้
ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีจีนปี 2024 จากเดิม 4.5% เป็น 5% เนื่องจากไตรมาสแรกเติบโตแข็งแกร่งที่ 5.3% และรัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ ออกมา แต่ปี 2025 จีดีพีจะชะลอลงเป็น 4.5% และอีกหลายปีข้างหน้าก็จะชะลอลงเช่นกัน คาดว่าเมื่อถึงปี 2029 จะเหลือเพียง 3.3% เนื่องจากประชากรชราภาพและผลิตภาพขยายตัวน้อยลง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 มิถุนายน 2567