ระดมเครื่องมือดูดลงทุน "ดาต้า เซ็นเตอร์" เข้าไทย!!
กิจการ Data Center และ Cloud Service ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของโลกยุคใหม่
“ปัจจุบันประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service เพื่อรองรับการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบริการด้านดิจิทัลต่างๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค” มุมมองจาก นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ปัจจัยที่ทำให้ เลขาฯนฤตม์ เชื่อมั่น มาจากสถิติการลงทุนโครงการ Data Center และ Cloud Service ในไทยที่เติบโตอย่างมาก
สะท้อนจากโครงการ Data Center และ Cloud Service ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออยู่ที่ 37 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง
โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทยแล้วหลายราย อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 เฟสแรกลงทุนสร้าง Data Center 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท
โครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาทSupernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท
รวมทั้ง Google และ Microsoft ผู้ให้บริการระดับโลกประกาศแผนลงทุน Data Center ในประเทศไทยแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับบีโอไอและทีมงานของนายกรัฐมนตรี
โดยธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยศักยภาพสูงหลายรายลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS
เลขาฯนฤตม์ระบุว่า นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, กิจการ Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
“การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยของผู้ให้บริการระดับ Hyperscale อย่าง AWS, Google, Microsoft รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมในการประกอบธุรกิจดิจิทัล ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อยอดให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” เลขาฯนฤตม์มั่นใจ
พร้อมระบุว่า ประเทศไทย มีข้อได้เปรียบ 5 ด้าน คือ
1)ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน
2)มีความมั่นคง ปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ Data Center เป็นธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงสูง เพราะต้องรักษาข้อมูลสำคัญของลูกค้าในปริมาณมหาศาล ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น หรือภัยพิบัติรุนแรงเหมือนหลายๆ ประเทศ
อีกทั้งไทยมีความเป็นกลาง ไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act) สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
3)โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center อีกทั้งมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงติด 1 ใน 10 ของโลก และเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน รองรับการส่งข้อมูลได้ในปริมาณสูง
4)ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรต่างๆ ไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงถึง 88% ของประชากร มีผู้ใช้งาน Social Media กว่า 70% ของประชากร และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อรับสิทธิตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา
5)สิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากบีโอไอ ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคลากรทักษะสูง การบริการข้อมูลและช่วยจัดหาสถานที่ตั้งโครงการ การช่วยประสานงานในการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากกติกาภาษีใหม่ (Global Minimum Tax) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญ
ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) โดย กีรติญา ครองแก้ว นักวิเคราะห์ ให้มุมมองว่า บริการ Data center ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในทิศทางเดียวกับเทรนด์โลก
มูลค่าตลาดให้บริการ Data center ของโลกมีแนวโน้มขยายตัวราว 22% เป็นการขยายตัวของบริการ Public cloud เป็นหลัก เช่นเดียวกับตลาด Data center ของไทย โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าตลาด Data center ของไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 24% ในปี 2024
แม้ปัจจุบันการลงทุน Data center ในไทยจะเพิ่มขึ้นมาก แต่การพิจารณานโยบายสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียน
ปัจจุบันสิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลาง Data center ของอาเซียน แต่ด้วยนโยบายจำกัดการก่อสร้างศูนย์ Data center แห่งใหม่ของภาครัฐทำให้การขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่ทันต่อความต้องการใช้งาน ผู้ให้บริการ Data center ในสิงคโปร์จึงมองหาประเทศใกล้เคียง ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เพื่อลงทุน Data center แห่งใหม่
อย่างไรก็ดี นโยบายของภาครัฐถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ให้บริการ Data center ปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยภาครัฐของหลายประเทศใช้กลยุทธ์ผลักดันสู่ความยั่งยืน ได้แก่
1)การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับศูนย์ Data center ที่ลงทุนปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงเทคโนโลยีระบบปรับอากาศ และปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้พลังงาน เช่น รัฐบาลมาเลเซียออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุด 70% ของวงเงินลงทุนในการปรับปรุงศูนย์ Data center เดิมให้ประหยัดพลังงาน และการก่อสร้าง Green data center แห่งใหม่ เป็นระยะเวลา 3 ปี
2)การสร้างความร่วมมือจากผู้ให้บริการ Data center เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานต่างๆ เป็นไปอย่างเหมาะสม เช่น สหภาพยุโรปได้กำหนดให้ในปี 2024 ศูนย์ Data center ต้องจัดส่งรายงานการใช้พลังงานให้กับหน่วยงานจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ในการกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในศูนย์ Data center และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ Data center เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงาน
3)การกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร (Building permission) และมาตรฐานการใช้พลังงาน (Energy Efficiency Standards : EES) ของศูนย์ Data center เพื่อกระตุ้นให้ผู้ให้บริการ Data center พัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น ประเทศสิงคโปร์กำหนดให้การสร้าง Data center แห่งใหม่ ต้องผ่านการอนุญาตจากภาครัฐและต้องได้รับใบรับรองด้านการประหยัดพลังงาน ขณะที่ประเทศเยอรมนีกำหนดให้ Data center ต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างน้อย 50% ตั้งแต่ปี 2024 และเพิ่มเป็น 100% ในปี 2027
จะเห็นได้ว่า แม้ Data center ของไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงในระยะข้างหน้า แต่นโยบายของภาครัฐถือว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การผลักดันสู่ความยั่งยืน
เพื่อให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 กรกฏาคม 2567