เศรษฐศาสตร์แห่ง โอลิมปิกเกมส์ ใครกำไร ใครขาดทุน
ขณะนี้หลายคนคงกำลังสนุกอยู่กับการเชียร์และลุ้นนักกีฬาที่ชื่นชอบให้ประสบชัยชนะในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
โอลิมปิกได้ชื่อว่าเป็น “มหกรรมกีฬา” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี แบ่งเป็นโอลิมปิกฤดูหนาวและโอลิมปิกฤดูร้อนสลับกันไป ในแต่ละครั้งมีผู้ชมเฝ้าติดตามครั้งละเป็นร้อยเป็นพันล้านคน
แต่ขณะที่ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วสารทิศ ประชากรส่วนใหญ่ของปารีส เมืองเจ้าภาพเองกลับไม่ได้ชื่นชอบชื่นชมกับการรับเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาครั้งนี้
ผลโพล เพื่อสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้าพิธีเปิดการแข่งขัน พบว่า 44% ของชาวปารีเซียงระบุว่า การรับเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ไม่ใช่ความคิดที่ดีเอาเลย
ที่น่าสนใจก็คือ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับกรุงปารีส แต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ หลายครั้งอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ในการทำโพลก่อนหน้าการแข่งขัน 1 เดือน ชาวญี่ปุ่นในสัดส่วนสูงถึง 83% ไม่เห็นด้วยกับการจัดโอลิมปิกเกมส์ขึ้นที่กรุงโตเกียว เมื่อ 4 ปีก่อน
เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการคัดค้านการรับเป็นเมืองเจ้าภาพ เป็นเพราะการจัดมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกนั้น ใช้เวลาเตรียมการนานหลายปี และใช้งบประมาณมหาศาล ชนิดที่เมืองที่ขอเป็นเจ้าภาพแบกรับไม่ไหว ในที่สุดก็ต้องลงเอยด้วยการใช้เงินภาษีอากรของคนทั้งชาติมาใช้จ่าย
แล้วก็ไม่เคยเห็นผลกำไร เหมือนเอาเงินที่ควรใช้ในด้านอื่น ๆ มาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ยังไงยังงั้น
ข้อบ่งชี้อีกประการก็คือ มหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกที่ครั้งหนึ่งเคยมีการแย่งกันขอเป็นเจ้าภาพโดยการประมูลแข่งกัน ในระยะหลังมานี้กลับไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว
โอลิมปิกฤดูร้อนครั้งถัดไป ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2028 นครลอสแองเจลิส ในสหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกให้เป็นเมืองเจ้าภาพ โดยที่ไม่มีใครยื่นขอแข่งขันด้วยเลย โอลิมปิกฤดูหนาว ในปี 2030 และ 2034 ก็เช่นเดียวกัน เจ้าภาพตกเป็นของฝรั่งเศส แล้วก็เมืองซอลต์เลกซิตี ในสหรัฐอเมริกา โดยไม่มีคู่แข่งแต่อย่างใด
แนวความคิดที่ว่า การเป็นเจ้าภาพถือเป็นเกียรติ ถือเป็นวาระดียิ่งที่จะได้อวดศักยภาพของเมือง ของผู้คนต่อโลกกว้าง และการลงทุนมหาศาลก็ถือว่าคุ้มค่า เมื่อการเป็นเจ้าภาพจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว สนามกีฬา สิ่งปลูกสร้างที่ได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานในอนาคต กลับเป็นแนวคิดล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับที่เกิดขึ้นจริงอีกต่อไปแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ การเป็นเมืองเจ้าภาพของนครริโอเดจาเนโรในบราซิล เมื่อปี 2016 ที่พยายามอ้างกันก่อนหน้าว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กลับลงเอยด้วยการขาดทุนมหาศาล เมื่องบประมาณในการเป็นเจ้าภาพบานปลายออกไปกว่า 51% เป็นเงินกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์
หรือในกรณีของเปียงชาง เมืองเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ที่จนกระทั่งถึงบัดนี้หลาย ๆ คนก็ยังไม่รู้จักเมืองเล็ก ๆ ในจังหวัดกังวอนของเกาหลีใต้แห่งนี้ ขณะที่งบประมาณในการเป็นเจ้าภาพบานปลายเกินงบฯที่ตั้งไว้มากถึงราว 4,000 ล้านดอลลาร์
นักสังเกตการณ์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการจัดโอลิมปิก ไม่ใช่เมืองเจ้าภาพ หรือประชากรของเมือง หากแต่เป็นบรรดานักการเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงไม่กี่ราย กับผู้ที่ได้ประโยชน์รายใหญ่ที่สุด คือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)
นักการเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางส่วนได้รับประโยชน์ในระยะสั้น ๆ จากความนิยมชมชอบที่นำโอลิมปิกมาจัดได้ แต่ที่ได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำจริง ๆ ก็คือไอโอซี ที่ทำเงินมหาศาลจากการแข่งขันในแต่ละครั้ง
ใน 2 ครั้งหลังสุด (เปียงชาง 2018 กับโตเกียวเกมส์ 2021) ทำรายได้ให้กับไอโอซีถึงกว่า 7,600 ล้านดอลลาร์
หนึ่งในจำนวนรายรับที่ชัดเจนที่สุดและเป็นกอบเป็นกำมากที่สุดก็คือลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันออกไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น โทรทัศน์เอ็นบีซีของสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายเงินกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์ ระหว่างปี 2021 จนถึงปี 2032 เป็นต้น
ที่น่าคิดก็คือ เงินก้อนนี้ควรที่จะตกเป็นของเมืองเจ้าภาพ แต่กลับตกอยู่ในมือของไอโอซี ซึ่งถือสิทธิผูกขาดมาตั้งแต่ปี 2001 ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อให้การถ่ายทอดสดได้ “มาตรฐานสูง” ตามที่ไอโอซีกำหนด
นักสังเกตการณ์บางคนคิดว่า โอลิมปิกเกมส์อาจเรียวลงและตายไปได้ในอนาคต เพราะหาเมืองเจ้าภาพไม่ได้
แต่อีกบางคนเชื่อว่า ตราบใดที่ไอโอซียังได้ประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ คงไม่ปล่อยให้มหกรรมกีฬานี้ตายไปง่าย ๆ แน่นอน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 กรกฏาคม 2567