ภาวะผู้สูงอายุล้น ดันธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ
สนค.วิเคราะห์ "ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ" ชี้ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เหตุโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย Zion Market Research เผยมูลค่าตลาดของธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัว 7.5% ต่อปี
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง เป็นผลให้หลายภาคส่วนธุรกิจต้องปรับตัว
แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นโอกาสให้กับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุเติบโต ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขและการคาดการณ์จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลก พบว่า ในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 1.15 พันล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1.66 พันล้านคน ในปี 25831 ขยายตัวกว่า45.2 %
สำหรับไทย ในปี 2566 ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13.06 ล้านคน คิดเป็น 20.08 % ของประชากรไทยทั้งประเทศ2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.353%
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.89 ต่อปี การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุของไทย ประกอบกับภาวะประชากรสูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และจำนวนประชากรโสดได้มีการขยายตัว อีกทั้งอัตราการสร้างครอบครัวที่ต่ำลง อัตราการมีลูกที่ลดลง การมีอายุที่ยืนยาวขึ้น การเจ็บไข้และป่วยเรื้อรังที่ต้องการคนดูแลตลอด 24 ชม.
รวมถึงความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยี ล้วนเป็นแรงสนับสนุนให้ความต้องการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองการดำรงชีพพื้นฐานของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริบาล หรือเนอร์สซิ่งโฮม ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ข้อมูลจากรายงานการวิจัยตลาดโดย Zion Market Research เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตประมาณ 7.5% ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2566-2575 โดยมูลค่าตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบรายวัน (Adult Day Care) สถานบริบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (Institutional Care) และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Care)
ในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1,025.43 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มเป็น 1,965.99 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2575 ด้วยปัจจัยของอายุขัยประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และภาวะการมีโรคประจำตัวต่าง ๆ ในวัยสูงอายุที่สูงขึ้น เช่น โรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์5
ทั้งนี้ ตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก6 เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับการที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมักเป็นจุดหมายปลายทางในการพำนักระยะยาวในวัยเกษียณของชาวต่างชาติจากทั่วโลก (Retirement Destination) เป็นอานิสงส์กระตุ้นให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินกิจการในรูปแบบนิติบุคคลอยู่จำนวน 887ราย และจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในประเทศไทย สะสม ณ เดือนมิ.ย. ปี 2566 มีจำนวน 758 แห่ง เป็นประเภทสถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือเนอร์สซิ่งโฮม จำนวน 708 แห่ง ใน 55 จังหวัด และช่วงระหว่างปี 2561–2566 จำนวนเนอร์สซิ่งโฮม มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 25.1 % ต่อโดยมากยังมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาค จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้ขยายโอกาสในการประกอบธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยง และอาศัยธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ดียังมีความท้าทาย เช่น การพัฒนามาตรฐานการให้บริการผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือสถานบริบาล ทั้งในแง่มาตรฐานวิชาชีพของแรงงาน และมาตรฐานของสถานประกอบการ การขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวในประเทศ การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศยังมีไม่เพียงพอ การขาดเทคโนโลยี จำนวนสถานที่หรือจำนวนเตียงผู้ป่วยยังมีไม่เพียงพอ ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ ดังนี้
1)ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และแรงงานในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มพยาบาล หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยทักษะ และความเชี่ยวชาญ
2)ควรใช้ประโยชน์จากเทรนด์เรื่องการดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน (Wellness) มาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
3)ควรสร้างเครือข่ายกับธุรกิจบริการสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารสุขภาพ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มโรงเรียนฝึกอาชีพ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจ ให้มีความเข้มแข็งขึ้น
4)ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และ Health Tech เช่น บริการสุขภาพดิจิทัล การใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Tech) และการใช้แอปพลิเคชัน Telemedicine สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ สู่การเป็นธุรกิจบริการมูลค่าสูง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 สิงหาคม 2567