"เวียดนาม" จุดหมายลงทุนบริษัทชิปทั่วโลก เพราะมี "ทาเลนต์" มหาศาลแต่ราคาถูก
KEY POINTS
* บริษัทชิปจากหลายประเทศทยอยเข้าไปเปิดออฟฟิศ R&D ในเวียดนาม เพื่อการลงทุนระยะยาวในด้านเซมิคอนดักเตอร์
* หนึ่งในปัจจัยหลักที่เวียดนามดึงดูดก็คือ การมี 'ทาเลนต์' จำนวนมาก ทว่าราคาถูกกว่าในภูมิภาค ทำให้สามารถจ้างงานวิศวกรจำนวนมากได้
* เงินเดือนเฉลี่ยของวิศวกรเวียดนามอยู่ที่เดือนละ 665 ดอลลาร์ ถูกกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบมาเลเซียที่ 1,313 ดอลลาร์ และสิงคโปร์ที่ 5,627 ดอลลาร์
นอกจาก "เวียดนาม" จะขึ้นชื่อเรื่องการเป็นประเทศหนุ่มสาวที่ได้เปรียบเรื่องจำนวนแรงงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กำลังสร้างความได้เปรียบให้เวียดนามสามารถดึงดูดอุตสาหกรรมอนาคตใหม่อย่าง “เซมิคอนดักเตอร์” ให้เริ่มเข้ามาลงทุนได้อย่างหนาแน่นก็คือ การเต็มไปด้วย “ทาเลนต์” ที่มีจำนวนมาก กระตือรือร้น มีคุณภาพ ทว่าราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า ทาเลนต์หรือคนเก่งมีฝีมือที่วงการเทคโนโลยีพากันเฟ้นหา คืออีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทชิปจากสหรัฐ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ตัดสินใจมุ่งหน้าเบนเข็มการลงทุนมายังเวียดนาม
สื่อญี่ปุ่นสะท้อนภาพดังกล่าวผ่านมุมมองของ “เจิ่น ถิ หง็อก กวง” วิศวกรสาววัย 26 ปี ที่กลับมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ และถูกบรรดาศิษย์ปัจจุบันรุมล้อมถามอย่างกระตือรือร้นถึงธุรกิจ “การออกแบบชิป” ที่เจิ่นทำงานอยู่ ตั้งแต่คำถามเชิงเทคนิคอย่างคอนเซปต์การออกแบบเซอร์กิตฮาร์ดแวร์ ไปจนถึงเรื่องการเปลี่ยนสาขาเอกไปเรียนเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์
เจิ่นซึ่งเป็นวิศวกรอาวุโสของบริษัทพัฒนาชิปจากสหรัฐ Marvell กล่าวว่าไม่เคยเห็นบรรยากาศที่ตื่นตัวแบบนี้มาก่อนในยุคของตนเอง และยอมรับว่าหลายอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีหลังจากที่เธอเรียนจบ
ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวนมากที่มุ่งหน้าศึกษาด้านเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะฝึกอบรมวิศวกรและนักออกแบบชิปให้ได้อย่างน้อย 5 หมื่นคน ภายในปี 2573
ความร้อนแรงของอุตสาหกรรมชิปในเวียดนามมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในนั้นคืออุปสงค์ความต้องการ “วิศวกรชิป” ที่พุ่งสูงขึ้นมากจากกระแสการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รวมถึงปัจจัยที่ภาคธุรกิจต้องกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปประเทศอื่นๆ จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ บวกกับปัญหาที่เจ้าบ้านอุตสาหกรรมชิปหลายแห่ง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐขาดแคลนแรงงานในด้านนี้จึงต้องออกไปหาทาเลนต์จากประเทศอื่นๆ ทดแทน
Alchip Technologies ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบชิปเอไอชั้นนำจากไต้หวัน กำลังขยายทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) เข้ามายังเวียดนาม โดยคาดว่าจะเปิดสำนักงานแห่งแรกได้ภายในปีนี้และจะเพิ่มทีมวิศวกรเป็น 100 คน ภายใน 2-3 ปี
“หลังจากประเมินหาจุดหมายลงทุนหลายประะเทศในเอเชียสำหรับขยายทีม R&D เราพบว่าการจะดึงดูดทาเลนต์จากประเทศที่มีเทคโนโลยีแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น อาจเป็นความท้าทายเกินไปสำหรับบริษัทที่มีขนาดและสเกลอย่าง Alchip เราจึงเลือกขยายทีมมาที่นี่แทน” จอห์นนี เฉิน ประธานและซีอีโอ กล่าว
“การมีคนเก่งด้านวิศวกรเป็นจำนวนมากและมีจริยธรรมในการทำงานที่เข้มแข็ง ทำให้เวียดนามเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดสำหรับเรา เราประทับใจกับความทุ่มเทและความมุ่งมั่นของวิศวกรชาวเวียดนามที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และมีส่วนสนับสนุนบริษัท” เฉินกล่าว
บริษัทอื่นๆ เช่น GUC และ Faraday Technology ซึ่งเป็นผู้ออกแบบชิปให้กับบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่เช่น TSMC ละ UMC ต่างก็ให้น้ำหนักเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ในขณะที่บริษัทสัญชาติเกาหลีจำนวนหนึ่งเช่น MetisX ระบุว่าเป็นเพราะหาคนมีฝีมือในเกาหลีใต้ได้ยาก หลายคนเรียนจบในสหรัฐและได้เข้าทำงานที่บริษัทชั้นนำในซิลิคอนวัลเลย์ที่จ่ายค่าตอบแทนสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางต้องหันไปหาทาเลนต์ในประเทศอื่นแทน
BOS Semiconductors ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบชิปเอไอจากเกาหลีใต้เริ่มเข้ามาลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2565 โดยเริ่มจากทีมสนับสนุนก่อน และเมื่อต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเกาหลีใต้กับเวียดนาม บริษัทกลับเลือกที่จะขยายทีมในเวียดนามมากกว่าโดยพิจารณาจากคุณภาพองค์รวมของทีมที่ทำให้เชื่อได้ว่า เวียดนามจะสามารถพัฒนาไปเป็นศูนย์กลาง R&D หลักได้
ทางด้านบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือออกแบบชิปรายใหญ่ในสหรัฐอย่าง Synopsys ระบุว่า นักศึกษาและแรงงานในเวียดนามมีความสนใจอย่างล้นหลามที่จะเข้ารับการฝึกอบรมด้านวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบกับมีปัจจัยที่รัฐบาลสนับสนุนด้านเงินทุนและโครงการต่างๆ จึงช่วยสร้างให้ประเทศนี้ให้เป็นศูนย์กลางด้านบุคลากรมีฝีมือในอุตสาหกรรมชิปได้
นอกจากเรื่องทรัพยากรแล้ว ต้นทุนที่ต่ำกว่าในเรื่อง “เงินเดือน” ก็ยังเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนของบริษัทชิปต่างชาติเช่นกัน ไบรอัน เฉิน หุ้นส่วนของเคพีเอ็มจีไต้หวันและเคพีเอ็มจีเวียดนามกล่าวว่า โดยปกติแล้วบริษัทที่เข้ามาตั้งสำนักงานในเวียดนามจะมีพนักงานประมาณ 300 หรือ 500 คนเป็นอย่างน้อย ดังนั้นการที่เวียดนามมีค่าแรงที่ถูกกว่าจึงเป็นแรงจูงใจสำคัญด้วย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ซาลารี เอ็กซ์โพลเรอร์ระบุว่า เงินเดือนเฉลี่ยของวิศวกรเวียดนามอยู่ที่เพียงเดือนละ 665 ดอลลาร์เท่านั้น หรือน้อยกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5,627 ดอลลาร์ ไต้หวันที่ 3,782 ดอลลาร์ เกาหลีใต้ที่ 2,826 ดอลลาร์ และมาเลเซียที่ 1,313 ดอลลาร์
โฮเซ่ เฟอร์นันเดซ ปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐด้านกิจการสิ่งแวดล้อม พลังงาน และการเติบโตทางเศรฐกิจเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐกำลังร่วมมือกับพันธมิตร 7 ประเทศซึ่งรวมถึงเวียดนาม ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานชิปนอกสหรัฐ และมองว่าเวียดนามควรเริ่มต้นที่ด้านการประกอบ ทดสอบ และบรรจุภัณฑ์ชิป (ATP) เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้จากอุตสาหกรรมอื่นมาก่อนแล้ว
ทางด้านบริษัท Pegatron จากไต้หวันซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้กับแอปเปิ้ลและไมโครซอฟท์ที่มองว่า รัฐบาลเวียดนามไม่ควรทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดไปที่เซมิคอนดักเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่ควรต้องสร้างทรัพยากรบุคคลในสายอื่นๆ ไปพร้อมกันให้เป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนโดยรวม โดยเฉพาะวิศวกรในสายอื่นๆ นอกจากนี้ยังควรขยายเครือข่ายการฝึกอบรมในเวียดนามให้ครอบคลุมขึ้นด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 17 สิงหาคม 2567